สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้ ต้องบอกว่าน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะ...
- เกิดเหตุระเบิดต่อเนื่อง 3 วันติด
- เป้าหมายของการลอบวางระเบิดเป็นพาหนะของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้ง 3 วัน 3 เหตุการณ์
- เกิดเหตุ 3 ท้องที่ 2 จังหวัด คือ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี, อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี (เรียงตามเวลาเกิดเหตุ)
- อำเภอเทพา เป็น 1 ใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือเป็นเขตติดต่อกับ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเกิดระเบิดเช่นกัน
ส่วนอำเภอยะรัง กับ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็น 2 อำเภอจาก 5 อำเภอที่ยังไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
โดยจังหวัดปัตตานี มีทั้งหมด 12 อำเภอ ยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้วถึง 7 อำเภอ แต่ 2 อำเภอที่เกิดระเบิด ยังไม่ยกเลิก
เมื่อลองไล่เรียงไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ เริ่มจากช่วงบ่ายของวันพุธที่ 24 ก.ค.67 ก่อน แล้วย้อนหลังไปอีก 2 วัน
เกิดเหตุระเบิดโจมตีรถเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาของ สภ.โสร่ง ซึ่งเป็นโรงพักระดับตำบล อยู่ในท้องที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี รถคันนี้ถูกคนร้ายลอบวางระเบิด ขณะกำลังพาผู้ต้องหาเดินทางจากศาลจังหวัดปัตตานีกลับโรงพัก ทำให้ตำรวจยศ “จ่า” ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย เหตุเกิดบริเวณสามแยกต้นสน ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง
จากสภาพรถ อนุมานได้ว่าอานุภาพของระเบิดไม่ได้ร้ายแรงนัก ทำให้ตัวถังรถพังเสียหาย และตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บก็อาการไม่สาหัส
เช้าก่อนหน้านั้น 1 วัน เกิดเหตุลอบวางระเบิดโจมตีรถกระบะของตำรวจ สภ.เทพา จังหวัดสงขลา ขณะกำลังขับผ่านเส้นทางบ่อขยะขนาดใหญ่ บนถนนสายท่าฤดี-เกาะสะบ้า ท้องที่หมู่ 4 ตำบลเทพา โดยจุดเกิดเหตุอยู่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ในอำเภอเทพา
แรงระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 4 นาย แต่อาการไม่สาหัส โดยหนึ่งในนั้นเป็นหัวหน้าชุด เป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร ยศร้อยตำรวจเอก
โดยตำรวจทั้งหมดในนาม “ชุดปฏิบัติการสายฟ้า” ก่อนเกิดระเบิดได้ออกตรวจพื้นที่ และรักษาความปลอดภัยโรงไฟฟ้าชีวมวล ตามปกติ
จากภาพถ่ายที่เผยแพร่หลังเกิดเหตุ ปรากฏว่ารถกระบะที่เจ้าหน้าที่ใช้เป็นพาหนะไม่ได้พังเสียหายอย่างยับเยิน แสดงให้เห็นว่าอานุภาพของวัตถุระเบิดไม่ได้รุนแรงมากนักเช่นกัน
แต่เหตุระเบิดที่อำเภอเทพา มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประการ คือ
1.มีข่าวกระพือทันทีว่า คนร้ายต้องการก่อวินาศกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวลหรือไม่ เพราะจุดเกิดเหตุระเบิดอยู่ใกล้ๆ บ่อขยะ และไม่ไกลจากโรงไฟฟ้า คือห่างกันแค่ไม่กี่ร้อยเมตร
ที่สำคัญ เมื่อปลายเดือนเมษายน เพิ่งเกิดเหตุคนร้ายแต่งกายชุดไอ้โม่งนับสิบคนเข้าไปวางระเบิดเพลิง จนเกิดระเบิดครั้งใหญ่ในโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 แห่ง ในอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี กับ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา แต่ไม่มีที่อำเภอเทพา
ร้อนถึงฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องรีบออกมาปฏิเสธว่า เหตุลอบวางระเบิดรถตำรวจที่อำเภอเทพา ไม่ได้มีเป้าหมายโรงไฟฟ้า แต่พุ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมย้ำว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลในอำเภอเทพา ไม่ได้มีกระแสต้านในพื้นที่
2.แม้เหตุระเบิดโจมตีรถตำรวจจะไม่ร้าย แต่ระเบิดจุดนี้มี “ระเบิดลูกสอง” ที่เรียกว่า second bomb โดยคนร้ายวางดักเอาไว้ แต่เจ้าหน้าที่อีโอดี “หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย” ตาไว มองเห็นก่อน จึงใช้อุปกรณ์เกี่ยวสายไฟออกมา / ปรากฏว่าเป็นระเบิดจริงๆ และเกิดระเบิดขึ้น แต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย
ภาพเหตุการณ์ที่บันทึกได้ช่วงเกิดระเบิดลูกสอง ปรากฏกลุ่มควันเนืองแน่น เป็นระเบิดลูกใหญ่ ยังดีที่เจ้าหน้าที่ไม่ประมาท มิฉะนั้นจะมีความสูญเสียเกิดขึ้นแน่
เหตุระเบิดที่อำเภอเทพา เกิดขึ้นหลังจากมีระเบิดที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพียงแค่ 10 ชั่วโมง
เหตุการณ์นี้ก็น่าสนใจ เพราะเป็นการลอบวางระเบิดตอนกลางคืน ระเบิดลูกใหญ่ เสียงดังสนั่น ทำให้รถกระบะของตำรวจที่แล่นผ่านมา เสียหลักตกถนน และตกลงไปลึกด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บถึง 6 นาย
ภาพเหตุการณ์น่ากลัวขึ้นไปอีก เมื่อเกิดเพลิงไหม้ป่าหญ้าในบริเวณนั้นอย่างหนักหน่วง และภาพเหล่านี้ถูกแชร์ออกไปในวงกว้าง
คำถามที่ถามกันอย่างกว้างขวางในพื้นที่ก็คือ ทำไมสถานการณ์ที่ชายแดนใต้จึงมา “ทะลักจุดเดือด” ในช่วงนี้ เกิดระเบิดถึง 3 วันซ้อน แม้อานุภาพของระเบิดจะไม่ร้ายแรงมากก็ตาม
หากมองแยกเป็นรายเหตุการณ์
1.เหตุระเบิดที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี - รถตำรวจที่โดนโจมตี เป็นชุดสายตรวจที่กำลังเดินทางกลับจากการตั้งจุดตรวจในพื้นที่บ้านใหม่ทุ่งนเรนทร์
สาเหตุที่ฝ่ายความมั่นคงสันนิษฐานก็คือ เป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เพื่อตอบโต้กรณีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว นายอับดุลรอมัน (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นสมาชิกระดับปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา
พูดง่ายๆ คือระเบิดเจ้าหน้าที่ เพื่อตอบโต้ที่จับเพื่อน พรรคพวกของตนเอง และเป็นการวางระเบิดแบบเร่งด่วน บริเวณริมถนน ไม่ได้ขุดถนน หรือลงไปวางในท่อลอดใต้ถนน ซึ่งจะใช้ระเบิดอานุภาพสูงกว่า แปลว่าไม่ได้วางแผนให้เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่
2.เหตุระเบิดที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา - ทีแรกมีข่าวลือเกี่ยวโยงกับโรงไฟฟ้า แต่ภายหลังฝ่ายความมั่นคงออกมาปฏิเสธ และให้ข้อมูลใหม่ว่า เป็นการก่อเหตุตามปกติเมื่อสบโอกาส โดยเป้าหมายที่แท้จริงน่าจะเป็น “เจ้าหน้าที่ อส.” แต่เมื่อพบรถตำรวจก่อน ก็โจมตีรถตำรวจทันที
3.เหตุระเบิดรถเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาของ สภ.โสร่ง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี - คาดว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ให้เกิดต่อเนื่องกับ 2 เหตุแรก หวังผลเพื่อให้เป็นข่าวผสมโรง ไม่ได้พุ่งเป้าสร้างความเสียหายขนาดใหญ่
@@ ถอดรหัส “ลับ ลวง พราง” บึ้มใต้ 3 วันติด
ถ้าเราไม่มองแยกรายเหตุการณ์ แต่มองเป็น “อีเวนท์” ต้องถอดรหัสว่า ห้วงเวลานี้มีเหตุการณ์อะไรที่ชายแดนใต้ จึงทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบระดมกำลังออกมาก่อเหตุ 3 วันติด
พันเอก เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บอกว่า เหตุจูงใจของกลุ่มที่ก่อเหตุครั้งนี้คือ “เป้าหมายชัด - โอกาสมี - ทางหนีพร้อม” ไม่มีปัจจัยอื่นๆ หนุนเสริมจากเดิมเลย
พันเอก เอกวริทธิ์ อธิบายว่า เหตุระเบิดที่หนองจิก เป็นการวางแบบเร่งด่วน ส่วนที่อำเภอเทพา มีการวางแผนล่วงหน้าก็จริง แต่เปลี่ยนเป้าหมายไปตามสถานการณ์ ไม่ได้ล็อกเป้าว่าเป็นเจ้าหน้าที่ชุดไหน แสดงว่าถ้ามีจังหวะ ก็ตัดสินใจทำ
ด้าน พันตำรวจเอก ดร.จารุวิทย์ วงศ์ชัยกิตติพร รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มองต่างจากโฆษกฯ โดยบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การต่อสู้ มีเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเหมือนกันก็จริง แต่มีปัจจัยเสริมเป็นบริบทในพื้นที่ในห้วงเวลานี้
เช่น วันพฤหัสบดีที่ 25 ก.ค.67 นักกิจกรรม 9 คนที่ถูกดำเนินคดีกรณีชุมนุมแต่งชุดมลายู จะไปพบอัยการจังหวัดปัตตานี เนื่องจากพนักงานสอบสวนนัดนำตัวผู้ต้องหาไปส่งอัยการ พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้อง มีการระดมคนไปให้กำลังใจ และสร้างกระแสเรื่องนี้
ประเด็นนี้ “ทีมข่าว” ขยายความเพิ่มว่า ฝั่งนักกิจกรรมทั้ง 9 คน อ้างว่า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีเพียงเพราะรวมตัวนัดชุมนุมแต่งชุดมลายู ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายแสดงอัตลักษณ์ ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนหรืออันตราย
แต่ฝ่ายความมั่นคงชี้แจงว่า การจัดชุมนุมดังกล่าว มีการโบกธงบีอาร์เอ็น และมีการปราศรัยเชิงปลุกระดมเรื่องแยกดินแดน ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ฝ่ายเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีได้
ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่มีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ช่วงนี้ ก็เช่น การรื้อฟื้นคดีตากใบ ก่อนขาดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม หรืออีกราวๆ 3 เดือนข้างหน้า จึงมีการสร้างกระแส “ตาย 85 ศพเพราะขาดอากาศหายใจ” กันอีกรอบ
ทั้งยังมีความไม่คืบหน้าเกี่ยวกับโต๊ะพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลมาเลเซียเพิ่งเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่
ส่วนรัฐบาลไทย ก็มีข่าวจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.ว่า ไม่ค่อยปลื้มกับผลงาน “คณะพูดคุยฯ” ชุดนี้ และอาจมีการเปลี่ยนตัวบุคคลบางส่วน โดยก่อนหน้านี้ มีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจ้ังหวัดชายแดนภาคใต้ มาคณะหนึ่งแล้ว
พันตำรวจเอก ดร.จารุวิทย์ สรุปว่า เรื่องนี้เป็นเกม “ลับ ลวง พราง” ปีกการเมืองและปีกการทหารของขบวนการแบ่งแยกดินแดนแบ่งกันเดินเกม และแบ่งงานกันทำ
ที่น่าสนใจคือ ต้นเดือนสิงหาคม นายกฯมาเลเซีย นายอันวาร์ อิบราฮิม จะเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ ที่จังหวัดยะลาด้วย
อีกรายเป็นนักวิชาการ ผศ.ดร.อันวาร์ กอมะ จากคณะรัฐศาตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เสนอแนวคิดอย่างกว้างๆ ว่า การก่อเหตุรุนแรงหลักๆ เป็นการปฏิบัติการเพื่อต้องการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐว่าผู้ปฏิบัติการไม่เห็นด้วยกับเรื่องอะไร รัฐต้องไปย้อนดูว่าทำอะไรไปก่อนหน้านี้ ก็จะพบคำตอบ
เมื่อถามว่า ทำไมฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบถึงต้องสื่อสารด้วยระเบิด หรือการก่อเหตุรุนแรง อาจารย์อันวาร์ ตอบว่า ในพื้นที่ขัดแย้งที่มีการต่อสู้ มักจะมีการสื่อสารในลักษณะนี้เกิดขึ้น เพราะไม่มีพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยพอในการแสดงความคิดเห็น
แม้จะไม่มีการฟันธงชัดเจน แต่อีเวนท์ระเบิด 3 วันติด ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญแบบธรรมดาแน่นอน!