จากข้อห่วงใยที่บานปลายกลายเป็นเสียงวิจารณ์ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ JCPP ของโต๊ะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังทำให้กระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลไทยดำเนินการร่วมกับกลุ่มบีอาร์เอ็น อยู่ในจุดเปราะบางอยางยิ่ง
มีคำชี้แจงอีกครั้งจากคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายรัฐบาล ที่นำโดย นายฉัตรชัย บางชวด และเสียงขานรับที่เป็นดั่ง “ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก” จากคณะกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ ที่มองว่า “เสียงค้าน” จึงสัญญาณดี และรัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจเดินหน้าต่อไป
@@ “ฉัตรชัย” พร้อมรับทุกคำวิจารณ์ไปพิจารณา
สถานการณ์ล่าสุด ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง เผยแพร่บทความอีก 1 ชุด วิจารณ์และเสนอแนะกระบวนการพูดคุยเจรจาดับใต้ ในแบบ “ตรง” และ “แรง” ยิ่งขึ้น
มีรายงานจาก “เนชั่นทีวี” ว่า ได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยฯ และรองเลขาธิการ สมช. แต่ นายฉัตรชัย ขอไม่ให้สัมภาษณ์ โดยบอกเพียงว่า พร้อมน้อมรับข้อสังเกตและข้อวิจารณ์ทุกอย่างจากทุกฝ่ายไปพิจารณา
@@ แง้มแผนถก “ปลดอาวุธ-สลายกองกำลัง”
ขณะที่แหล่งข่าวในคณะพูดคุยฯ เผยว่า แผน JCPP ในระยะนี้ ยึดหลักการที่ว่า “ไม่มีประเด็นใดที่ตกลงกันแล้ว จนกว่าทุกประเด็นจะเห็นชอบร่วมกัน” และในรายละเอียดของแผน ยังมีกรอบการหารือที่จะให้ “กลุ่มนักรบติดอาวุธ” กลับคืนสู่สังคม แต่จะต้องปลดอาวุธก่อนด้วย กระทั่งสุดท้ายจะนำไปสู่ “การสลายกองกำลัง”
เป็นที่น่าสังเกตว่า แหล่งข่าวในคณะพูดคุยฯ เน้นย้ำเหมือนกับนายฉัตรชัย ที่ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า แผน JCPP ยังไม่ใช่ “ข้อตกลงสันติภาพ” แต่เป็นเพียง “แนวทางที่เห็นชอบร่วมกันว่าจะดำเนินการ เพื่อนำไปสู่สันติภาพ” ฉะนั้นจึงยังไม่มีอะไรที่ฝ่ายไทยเสียเปรียบ
@@ มุ่งรักษาบรรยากาศให้เอื้อต่อการพูดคุยฯ
แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตเช่นกันว่า แกนนำบีอาร์เอ็นได้ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์สาธารณะของไทย และมีการนำเอกสาร JCPP ที่เป็นภาษาอังกฤษมาเผยแพร่ จนกลายเป็นประเด็นขึ้นมา แต่ทางคณะพูดคุยฯ ยังไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ในเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการตักเตือนหรือตำหนิบีอาร์เอ็นที่ชิงให้สัมภาษณ์ก่อนฝ่ายไทย จนเกิดปัญหาขึ้น
แหล่งข่าวในคณะพูดคุยฯ อ้างว่า ไม่ต้องการทำลายกระบวนการพูดคุย แต่ต้องการรักษาบรรยากาศให้การพูดคุยดำเนินต่อไป
@@ JCPP อยู่ใต้ “วาระแห่งชาติ - ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้”
วันเดียวกัน เพจคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ The Peace Dialogue Panel ได้เผยแพร่อินโฟกราฟฟิกชุดใหม่ เกี่ยวกับ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ JCPP ในหัวข้อ เปิดแนวคิดแผน JCPP เส้นทางสู่สันติสุขที่ยั่งยืน EP.2 มีเนื้อหาเกี่ยวกับ หลักการของการพูดคุยเพื่อลดความรุนแรงภายใต้ แผน JCPP
โดยอธิบายว่า หลักการของการพูดคุยเพื่อลดความรุนแรงภายใต้แผน JCPP กับกลุ่มขบวนการ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นใหม่หรือกระทำโดยปราศจากนโยบายรองรับ แต่เป็นเรื่องที่ถูกกำหนดให้เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยอยู่ในยุทธศาสตร์ นโยบาย และคำสั่งที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ อาทิ
1.นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
-การพูดคุยสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย
-การพูดคุยสันติสุขจะต้องมีความต่อเนื่องและมีการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุย
-การพูดคุยเป็นการเปิดพื้นที่เปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงมาเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี
2.นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (2566-2570)
-ให้ขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขบนพื้นฐานของความจริงใจ สมัครใจและให้เกียรติ
-เพื่อเป็นทางออกของความขัดแย้งตามแนวทางสันติวิธี
นอกจากนั้น ยังมีอินโฟกราฟฟิกเกี่ยวกับ “หลักการของการพูดคุยในประเด็นเรื่องการลดความรุนแรง”
-การถกแถลงเพื่อให้หยุดใช้ความรุนแรงเพื่อเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา
-รัฐบาลจะดูแลความปลอดภัยตามหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยแก่พี่น้องประชาชนและจะสร้างบรรยากาศเพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว อาทิ การปรับลดพื้นที่ การใช้กฎหมายพิเศษ การปลดป้ายหมายจับ และการลดตั้งด่านตรวจในจุดที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ในระยะยาวด้วย
@@ ไทยไม่ได้อ่อนแอ - โต้ยกเอกราชให้บีอาร์เอ็น
ขณะเดียวกันก็มีประเด็นที่เป็นการตอบคำถาม อย่างคำถามสำคัญที่ว่า การพูดคุยเพื่อลดความรุนแรงคือการพูดคุยที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอหรือเสียเปรียบของประเทศไทยจริงหรือไม่?
คำตอบคือ “ไม่จริง” การพูดคุยเพื่อลดความรุนแรงเป็นการหาทางออกในเชิงสันติวิธี โดยมีหลักคิดในการพูดคุยว่า ให้กลุ่มเห็นต่างใช้การต่อสู้ในเชิงสันติวิธีภายใต้รัฐธรรมนูญไทยแทนการใช้ความรุนแรง โดยรัฐบาลไทยมีหน้าที่ที่จะต้องรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชนทุกเชื้อชาติและศาสนา และจะต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการต่อสู้ในเชิงสันติวิธี ซึ่งเกิดขึ้นได้ภายใต้หลักการประชาธิปไตยในกรอบรัฐธรรมนูญไทย
นอกจากนั้นยังมีคำถาม รัฐบาลจะมีการแลกเปลี่ยนเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มขบวนการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการลดความรุนแรง เช่น การให้เอกราชกับกลุ่มขบวนการเพื่อให้หยุดการก่อเหตุ?
คำตอบคือ “ไม่จริง” เอกราชอยู่นอกเหนือไปจากกรอบของการพูดคุยสันติสุข ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การพูดคุยจะต้องดำเนินไปภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
และย้ำว่า การหยุดความรุนแรงไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เป็นชัยชนะของประเทศไทย
-การพูดคุยเพื่อยุติความรุนแรงไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย
-โครงการรอมฎอนสันติเมื่อปี พ.ศ.2565 เป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า การเดินทางไปสู่การหยุดใช้ความรุนแรงอย่างถาวรสามารถเกิดขึ้นได้
@@ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ เชิญ “ฉัตรชัย” ให้ข้อมูล
ด้านความเห็นของฝ่ายนิติบัญญัติ นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) กล่าวว่า หลังจากคณะพูดคุยฯ ได้เริ่มไปพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นต่าง โดยมีผู้แทนของรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ถือเป็นเพียงการเริ่มต้น เพราะยังชะงักอยู่ และน่าจะเอาเรื่องเก่ามาปัดฝุ่น เช่น ข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแผนการปฏิบัติงาน ซึ่งในส่วนนี้ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ยังไม่ทราบรายละเอียด จึงจะเชิญหัวหน้าคณะพูดคุยฯมาชี้แจงให้ข้อมูลในชั้น กมธ.
ส่วนที่มีหลายฝ่ายมองว่ากระบวนการพูดคุยฯ ยังไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นนั้น นายจาตุรนต์ มองว่า ความเห็นของการพูดคุยเจรจาก็ต้องมีความแตกต่างกันไป เพราะการพูดคุยแบบเป็นกิจจะลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2556 แต่การพูดคุยแบบไม่เป็นทางการก็เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ซึ่งฝ่ายที่เห็นว่าการพูดคุยเป็นประโยชน์ก็มีไม่น้อย
“ผมมองว่าการพูดคุยมีประโยชน์ เกิดช่องทางการพูดคุยกันระหว่างผู้เห็นต่าง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการลดหรือยุติความไม่สงบ และเกี่ยวกับการสร้างกระบวนการสันติภาพ หรือการทำให้เกิดความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การพูดคุยไม่ใช่หนทางเดียวที่ทำแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น หลายเรื่องก็ต้องทำไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีการพูดคุย ทั้งรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม และประชาชน จะต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ” ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ระบุ
@@ เสียงค้าน JCPP ไม่แปลก - ติง สว.กังวลเกินจริง
นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคกล้าวไกล และ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ กล่าวว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ และอยู่ระหว่างการแปลงข้อตกลงมาสู่แผน JCPP ไม่แปลกที่จะมีเสียงที่เห็นต่าง หรือมีการตั้งแง่สงสัย เพราะกำลังก้าวไปสู่การปฏิบัติ และเป็นเรื่องใหม่ที่สังคมไทยไม่เคยเจอ ไม่แปลกที่จะเห็นความกังวลจากหลายฝ่าย ซึ่งตนคิดว่าทุกความเห็นมีความสำคัญ และเป็นประโยชน์กับรัฐบาลไทย
ส่วนที่มีคำถามตามมาว่า จะเป็นการยอมบีอาร์เอ็นมากไปหรือไม่นั้น นายรอมฎอน ตอบว่า เป็นเรื่องปกติของการเจรจา แต่เรื่องใหญ่คือความเห็นต่างในสังคมไทย สถาบันทางการเมืองต่างๆ เช่น วุฒิสภาที่มีความกังวลเกินจริงไปหน่อย แต่ก็ต้องฟังเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ เท่าที่ตนทราบข้อเสนอของคณะพูดคุยฝ่ายไทย และข้อเสนอของทางฝั่งบีอาร์เอ็นก็ยังต่างกันอยู่ แต่ท้ายที่สุดต้องพูดคุยกัน
“เราจะจัดการความแตกต่างแบบนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่นั่งคุยกัน” นายรอมฎอน กล่าว และว่านี่เป็นจังหวะที่ดีที่นายกรัฐมนตรีลงไปภาคใต้ในช่วงปลายเดือน ก.พ. เป็นโอกาสที่จะพูดส่งสัญญาณสนับสนุนการแสวงหาทางออกโดยไม่ใช้กำลัง และเปิดใจเปิดพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนต่างๆโดยเฉพาะคู่สนทนากับรัฐบาลไทย
@@ แนะนายกฯถือโอกาสประกาศให้ชัด “หนุนพูดคุย-รับฟัง”
ต่อข้อถามถึงกรณีที่หลายคนมองว่าควรหยุดพูดคุยเจรจานั้น นายรอมฎอน กล่าวว่า ตนยังมองว่าการพูดคุยมีประโยชน์มาตลอด แต่ประเด็นอยู่ที่รัฐบาลไทยซึ่งมีความรับผิดชอบทางการเมืองจะเอาอย่างไร ผลักดันเดินหน้าต่อไปหรือไม่
ตนทราบดีว่ารัฐบาลชุดนี้และนายกรัฐมนตรี อยากพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับมาเลเซีย แต่เราจะก้าวไปจุดนั้นไม่ได้ หากไม่แก้ปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง และมีวิธีคิดใหม่
ฉะนั้นการพูดคุยหาข้อตกลง หาความเห็นพ้องต้องกันของคนในพื้นที่ และยอมรับได้ในสังคมไทย จึงต้องใช้ความกล้าหาญของผู้รับผิดชอบทางการเมือง ก็คือนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องอาศัยความมุ่งมั่นเจตจำนงที่ชัดเจนของรัฐบาลด้วย
@@ 3 ข้อเสนอสู่โต๊ะเจรจา - การพูดคุยต้องถูกจุดและถูกคน
ขณะที่ นายกัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า การพูดคุยสันติสุขเป็นเรื่องดี แต่การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้นั้น ตนขอเสนอ 3 ข้อที่น่าจะให้คณะพูดคุยฯ นำไปหารือกับบีอาร์เอ็น คือ
1.การยกระดับปัญหาชายแดนภายใต้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ควรเชิญฝ่ายเห็นต่างมาเจรจาที่ฝั่งไทย โดยมีกฎหมายคุ้มครองและรองรับ
2.ยกเลิกกฎหมายต่างๆ ที่เป็นกฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่เป็นการปิดกั้นการแสดงออก ต้นเหตุของปัญหา
3.ปฏิรูปโครงสร้างราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายกัณวีร์ เสนอด้วยว่า คณะพูดคุยฯที่ผ่านมาเป็นทหาร มีเพียงข้อตกลงการหยุดยิงเท่านั้น ไม่ได้มีการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน ฉะนั้นกระบวนการนับจากนี้ต้องมีพลเรือนผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ไปร่วมพูดคุยด้วย
“ดังนั้นการพูดคุยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ต้องพูดคุยให้ตรงจุด และต้องถูกคนด้วย ฉะนั้นถ้าจะต้องมีการพูดคุยครั้งใหม่ จำเป็นที่จะต้องเอาคนที่ถูกต้องและตรงประเด็น” สส.พรรคเป็นธรรม กล่าว
-----------------
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ นายจาตุรนต์, นายรอมฎอน และนายกัณวีร์ โดยผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี