ควันหลงส่งท้ายปี 2567 มีเหตุรุนแรงที่กระทำต่อทหารพราน ทั้งลอบยิงและเผารถ ทำให้หลายฝ่ายสนใจว่าปีเก่าที่ผ่านพ้นไป สถานการณ์ไฟใต้ร้ายแรงกว่าเดิมหรือเปล่า
ย้อนดู “สถิติไฟใต้” ช่วงส่งท้ายปี เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.67 มีแถลงร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายทหาร ตำรวจ และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
ข้อมูลจากฝ่ายทหาร กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สรุปว่าห้วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2567 คือ ตุลาคม ถึง 26 ธันวาคม มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนทั้งสิ้น 33 เหตุการณ์ ประกอบด้วย
- เหตุยิงด้วยอาวุธปืน จำนวน 13 เหตุการณ์
- เหตุระเบิด จำนวน 16 เหตุ
- เหตุวางเพลิง จำนวน 4 เหตุ
** มีผู้เสียชีวิต 9 ราย
สถิตินี้ยังไม่รวมเหตุยิง “จ่าทหารพราน” ล่าสุดเมื่อวันส่งท้ายปีเก่า ซึ่งหากนับรวม จะต้องเพิ่มเหตุยิง เหตุเผา อีกอย่างละ 1 เพราะมีทั้งยิงและวางเพลิงรถกระบะ รวมทั้งต้องเพิ่มจำนวนผู้เสียชีวิต รวมเป็น 10 ราย
ข้อมูลจาก ศอ.บต. ระบุว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงวันที่ 26 ธันวาคม มีจำนวนเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านการรับรอง 3 ฝ่ายว่าเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบ เพื่อจ่ายเยียวยา จำนวนทั้งสิ้น 52 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 8 ราย เป็นประชาชน 4 ราย และเจ้าหน้าที่รัฐ 4 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บ 103 ราย เป็นประชาชน 30 ราย และเจ้าหน้าที่รัฐ 73 ราย
หากนับรวมเหตุรุนแรงตลอดทั้งปี 2567 มีเหตุการณ์ที่ผ่านการรับรอง 3 ฝ่าย จำนวน 170 ครั้ง แยกเป็นผู้เสียชีวิต 42 ราย มีทั้งประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าทีรัฐ
ส่วนผู้บาดเจ็บ 369 ราย เป็นประชาชน 102 ราย และเจ้าหน้าที่รัฐ 267 ราย โดยมีผู้ทุพพลภาพ 8 ราย เป็นประชาชน 1 ราย และเจ้าหน้าที่ 7 ราย เป็นความเสียหายทั้งด้านร่างกาย 419 ราย และที่ทรัพย์สินเสียหาย 149 ราย
เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังจะครบวาระ 21 ปี ก้าวสู่ปีที่ 22 นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่จากค่ายทหารในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ในอีก 3 วันข้างหน้า คือวันที่ 4 มกราคม โดยนับจากวันที่ 4 มกราคม เมื่อ 21 ปีก่อน ซึ่งหลังจากนั้นได้เกิดเหตุรุนแรงรายวันขึ้นในพื้นที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนับหมื่นรายตลอด 21 ปีที่ผ่านมา
ในห้วง 21 ปีมานี้ ไม่ได้เกิดแค่ไฟใต้และความรุนแรงรูปแบบต่างๆ เท่านั้น แต่ประชาชนในพื้นที่ยังต้องอยู่ภายใต้ “กฎอัยการศึก” มาตลอด 21 ปี และอยู่ภายใต้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพด้านต่างๆ มานานเกือบ 20 ปี โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศครั้งแรกในพื้นที่นี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2548
สำหรับปี 2568 เป็นปีที่หลายฝ่ายจับตาว่า สถานการณ์ชายแดนใต้จะดีขึ้นหรือเลวร้ายลงไปอีก โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือ
- การบริหารงานของรัฐบาลชินวัตร นำโดย นางสาวแพทองธาร เพราะรัฐบาลของคนตระกูลชินวัตร มักมีปัญหาเกี่ยวกับไฟใต้ ทั้งปะทุรุนแรงขึ้น และเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาที่อาจผิดฝาผิดตัว
- การหวนกลับมามีบทบาทของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของผู้นำมาเลเซีย นายอันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งต้องรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2568 โดยทั้งคู่เพิ่งพบปะกันในภาคใต้ของไทยช่วงก่อนปีใหม่ มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะเป็นที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ท่ามกลางกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง
- นายกฯอันวาร์ ของมาเลเซีย ถูกมองจากฝ่ายความมั่นคงไทยว่า ค่อนข้างเอนเอียงในลักษณะเห็นอกเห็นใจกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และต่อสู้กับรัฐไทย
ทั้งหมดจึงทำให้การแก้ไขปัญหาไฟใต้ในปี 2568 ถูกจับตาอย่างมาก และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการตั้ง “คณะพูดคุยดับไฟใต้” ชุดใหม่ ทั้งๆ ที่กลุ่มบีอาร์เอ็น ออกมาเรียกร้อง
จนถึงขณะนี้ข้อมูลยังไม่ชัดเจนว่า ทางการไทยกำลังรอดูท่าทีจากผู้นำมาเลเซียอยู่หรือไม่
หรือว่ามีเหตุผลอื่นใดในการยื้อเวลาการตั้งคณะพูดคุยฯชุดใหม่ เพราะมีข่าวอีกกระแสหนึ่งว่า ยังหาบุคคลที่เหมาะสมไม่ได้ และมีเสียงเตือนจากผู้รู้ว่า หากรีบตั้งคณะพูดคุยฯ อาจเสียเปรียบฝ่ายบีอาร์เอ็น