ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “ฮามาส” ใช้วิธีจับตัวประกันในการเพิ่มอำนาจต่อรอง
อาจารย์กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระ จากแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา มีข้อมูลเรื่องพฤติการณ์จับตัวประกันของ “กลุ่มฮามาส” อย่างน่าตื่นเต้น
“ฮามาส” มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการจับตัวประกันจากอิสราเอล
ปี 2549 ฮามาสจับกุมทหารอิสราเอล กิลาด ชาลิต (Gilad Shalit) ขณะที่เขากำลังลาดตระเวนบริเวณชายแดนกาซา-อิสราเอล Shalit ถูกจับเป็นเชลยเป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่เขาจะได้รับการปล่อยตัวเพื่อแลกกับนักโทษชาวปาเลสไตน์กว่า 1,000 คน
ปี 2557 ฮามาสจับกุมทหารอิสราเอล 2 คน ได้แก่ โอรอน ชาอูล และ ฮาดาร์ โกลดิน (Oron Shaul and Hadar Goldin) ระหว่างสงครามฉนวนกาซา ศพของชาอูลและโกลดินถูกส่งไปยังอิสราเอล เพื่อแลกกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ 78 คนในปี 2559
นอกจากการจับทหารแล้ว กลุ่มฮามาสยังจับพลเรือนอิสราเอลเป็นตัวประกันอีกด้วย
ในปี 2558 ฮามาสจับกุมพลเรือนอิสราเอล 2 คน คือ อาเวรา เมนกิสตู และ ฮิชาม อัล-ซาอิด (Avera Mengistu and Hisham al-Sayed) ซึ่งข้ามเข้าไปในฉนวนกาซา ทั้งสองยังไม่ได้รับการปลดปล่อยจนถึงทุกวันนี้
“กลุ่มฮามาส” ให้เหตุผลกับการจับตัวประกันโดยอ้างว่า “เป็นวิธีที่ชอบธรรม เพื่อการกดดันอิสราเอลให้ปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์”
แต่ประชาคมระหว่างประเทศประณามกลุ่มฮามาสที่จับกุมตัวประกัน ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (ต้องขึ้นศาลโลก)
มองมุมฮามาสจับตัวประกันฝ่ายเดียวก็ไม่ค่อยเป็นธรรมนัก...
อาจารย์กฤษฎา พาไปดูข้อมูลอีกด้านของ สมาคมนักโทษปาเลสไตน์ หรือ Palestinian Prisoner's Society (PPS) พบว่า ปัจจุบันมีชาวปาเลสไตน์มากกว่า 4,650 คนที่ถูกอิสราเอลคุมขัง
ในจำนวนนี้มี 450 คนเป็นผู้ต้องขังโดยไม่มีข้อกล่าวหาหรือการพิจารณาคดี
มีเด็กชาวปาเลสไตน์มากกว่า 180 คนถูกคุมขังในเรือนจำอิสราเอล
มีข้อมูลที่น่าสนใจของการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ ซึ่งบันทึกไว้ในเวทีระหว่างประเทศ
สหรัฐอเมริกาและอิหร่านแลกเปลี่ยนนักโทษ :
ในปี 2559 สหรัฐ ปล่อยตัวนักโทษชาวอิหร่าน 5 คน เพื่อแลกกับนักโทษชาวอเมริกัน 4 คน (รวมถึงเจสัน เรไซอัน นักข่าววอชิงตันโพสต์ และอามีร์ เฮกมาติ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ)
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2566 อเมริกาเพิ่งปล่อยตัวพลเมืองอิหร่าน 5 คนที่ถูกควบคุมตัวในสหรัฐ แลกเปลี่ยนกับการยกเลิกการยึดเงินของอิหร่านมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดในเกาหลีใต้
อาจารย์กฤษฎา ยังนำเสนอข้อมูลอีกด้านจากการสืบค้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการจับตัวประกันในครั้งนี้ นั่นก็คือ
อัตราการว่างงานในฉนวนกาซา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความกดดันและมีข้อเปรียบเทียบระหว่างคนงานต่างชาติที่ชาวอิสราเอลนำมาทำงานเกษตรกรรม กับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา
มองจากฝั่งฉนวนกาซา มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อมองข้ามรั้วกำแพงซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตกับอิสราเอล อาจทำให้เกิดความโกรธแค้น จึงมีการจับตัวไปเพื่อสร้างความสะพรึงกลัวและไม่กล้ามาทำงานในบริเวณนั้นอีก
อาจหวังว่าจะทำให้มีงานเหลือให้ชาวปาเลสไตน์ทำมากขึ้น
สถิติของทางการปาเลสไตน์ระบุว่า ปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ.2565)
อัตราการว่างงานในบริเวณฉนวนกาซา 45.3%
เทียบกับเวสแบงค์ 13.1%
และชาวปาเลสไตน์ทั้งภูมิภาค 24.4%
หมายเหตุ : ข้อมูลจากเว็บไซต์ PCBS ; Palestinian Central Bureau of Statistics
@@ แนะ 3 ช่องทาง “เปิด-ลับ” เจรจาปล่อยตัวประกัน
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือคนไทยของรัฐบาลไทยในวิกฤตตัวประกัน
OO อาจารย์ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า สิ่งที่ทางการไทยพยายามทำอยู่ คือ เจรจาหากลุ่มสายสัมพันธ์ที่มีความเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มฮามาส เพื่อพูดคุยเรื่องความปลอดภัยของตัวประกันชาวไทย
“ตัวแสดง” หรือ actor ที่สามารถช่วยไทยได้ อาจารย์มองว่ามี 3 ประเทศ หรือ 3 ฝ่าย คือ
1.อียิปต์ หรือ กาตาร์ เพราะสองประเทศนี้ไม่เกิดวิกฤตจากสงครามฮามาสกับอิสราเอล จึงแสดงบทบาทเป็น “คนกลาง” ในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง และประสานได้ทั้งสองฝ่าย (อิสราเอล และฮามาส)
2.ตัวแทนของรัฐบาลปาเลสไตน์ -แต่ไม่มีตัวแทนปาเลสไตน์อยู่ในประเทศไทย ทว่ามีสำนักงานอยู่ในมาเลเซีย การพูดคุยผ่านนักการทูตปาเลสไตน์ที่อยู่ในกัวลาลัมเปอร์ เป็นอีกช่องทางในการสื่อสาร ขอให้ปล่อยตัวประกันชาวไทย
3.อิหร่าน ควรเป็นการพูดคุยทางอ้อม เพราะไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน และอิหร่านค่อนข้างเกรงใจไทย อิหร่านจึงเป็นทางเลือกในทางลับ เพราะอิหร่านกับอิสราเอลมีปัญหากัน มีความขัดแย้งกันสูงมาก
ฉะนั้นถ้าจะดีลกับอิหร่าน ก็ควรจะเป็นไปในทางลับ และอิหร่านเป็นพันธ์มิตรกับฮามาสอย่างชัดเจนมาก ให้ความช่วยเหมือลฮามาส และเชื่อว่าอิหร่านมีความใกล้ชิดและสามารถติดต่อกับฮามาสได้ดีกว่ารัฐบาลปาเลสไตน์ด้วยซ้ำ เพราะรัฐบาลปาเลสไตน์ก็มีความขัดแย้งกับฮามาสอยู่
@@ เตือน 3 ปมอ่อนไหว รัฐบาลไทยพึงระวัง
OO ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ตัวประกันไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ล้วนอยู่ในฝั่งของอิสราเอล คือถูกจับไปจากปฏิบัติการของฮามาสที่โจมตีอิสราเอล รวมถึงแรงงานไทยด้วย ดังนั้นการประสานความช่วยเหลือต้องร่วมมือกับอิสราเอล
แต่ข้อควรระวังคือ
1.อิสราเอลไม่ได้เจรจากับฮามาสโดยตรง แต่จะไปเจรจากับประเทศที่สาม
2.หากไทยนำประเด็นตัวประกันที่เป็นแรงงานไทยไปอยู่ในเงื่อนไขเดียวกับทหารอิสราเอล และชาวอิสราเอล การต่อรองเจรจาจะยิ่งยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะฮามาสต้องการใช้ตัวประกันกลุ่มที่เป็นทหารและชาวอิสราเอลเพื่อต่อรองให้อิสราเอลปล่อยนักรบของตน และชาวปาเลสไตน์
ฉะนั้นไทยต้องแยกคนของเราออกมาและไทยอาจต้องดำเนินการทางลับบางอย่างไปพร้อมกัน
3.การเจรจาผ่านช่องทางทางการทูตกับปาเลสไตน์ มีความเป็นไปได้ เพราะไทยเป็นหนึ่งประเทศประเทศที่รับรองสถานะของรัฐบาลปาเลสไตน์ การติดต่อเจรจาจึงไม่อยาก แต่อิสราเอลอาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ ซึ่งอิสราเอลก็เป็นมิตรกับไทย
ทางออกที่เป็นไปได้คือ สถานทูตไทยในกัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย) ไปคุยกับสถานทูตปาเลสไตน์ในกัวลาลัมเปอร์ที่ดูแลความสัมพันธ์กับไทยด้วย
หรืออีกช่องทางคือ สถานทูตไทยในกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน ที่ดูแลปาเลสไตน์
“ผมสนับสนุนให้ใช้ช่างทางทางการทูตกับปาเลสไตน์ และเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ จะใช้ช่องทางไหนก็ได้ตามที่เสนอ” ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าว