สถานการณ์โควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อนักศึกษามุสลิมที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างประเทศ ทำให้ต้องเดินทางกลับประเทศไทยอย่างเร่งด่วนและไม่มีหลักประกันว่า สถานการณ์จะคลี่คลายจนสามารถเดินทางกลับไปศึกษาต่อได้อีกเมื่อไหร่
จากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักศึกษากลุ่มนี้ คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐที่เปิดสอนหลักสูตรและสาขาด้านวิทยาการอิสลามและมีความพร้อมทุกด้าน จัดโครงการปฐมนิเทศนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) เข้าศึกษาประเภทเทียบโอนและรับโอนรายวิชาเช้าศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะวิทยการอิสลามศึกษาประจำปี 2563 เพื่อเทียบโอนและรับโอนรายวิชาของนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ เป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักศึกษาและสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด19
โดยคณะวิทยาการอิสลามได้เปิดรับสมัครเพื่อเทียบโอนและรับโอนรายวิชาเข้าศึกษาในคณะวิทยาการอิสลามไปจำนวน 2 รอบ มีนักศึกษาแจ้งความจำนง จำนวน 120 ราย รอบแรกเข้าศึกษาในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา ปี 2563 จำนวน 33 ราย สาขาอิสลามศึกษาหลักสูตรนานาชาติ 19 ราย สาขากฎหมายอิสลาม 9 ราย อิสลามศึกษา 3 ราย และ เศรษฐศาสตร์และการจัดการในอิสลาม 2 ราย ส่วนรอบที่สอง เข้าศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 87 ราย สาขาอิสลามศึกษาหลักสูตรนานาชาติ 54 ราย สาขากฏหมายอิสลาม 20 ราย สาขาอิสลามศึกษา 11 ราย และเศรษฐศาสตร์และการจัดการในอิสลาม 2 ราย
นางสาวฮุสนา มะดีลาเต๊ะ ชาว จ.ยะลา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยนานาชาติแอฟริกา ประเทศซูดาน ซึ่งได้เทียบโอนมาเรียนเมื่อเทอม 1 เล่าว่า เรียนกฏหมายอิสลาม มีเพื่อนคนไทยที่เรียนเยอะประมาณ 300 คน ส่วนมากได้ทุนกันไป ที่โน่นการศึกษาไม่ได้ทันสมัยเหมือนที่นี่ ซูดานเป็นประเทศที่ต้องใช้ความอดทนและลำบากมาก เป็นรัฐอิสลาม ไม่มีความหลากหลายของต่างศาสนิก สองปีที่ไปเรียนไม่ได้กลับเลย ครั้งนี้กลับมาครั้งแรกด้วยสถานการณ์โควิด
"ที่เลือกไปเรียนต่างประเทศเพราะได้ทุน ลดค่าใช้จ่ายทางบ้าน เมื่อกลับมาเรียนต่อที่นี่ อยากขอความอนุเคราะห์เรื่องทุนการศึกษา เราว่าเราวางแผนชีวิตไว้ดีที่สุดแล้ว แต่การวางแผนของอัลลอฮฺย่อมดีกว่าเสมอ”
นางสาวฮุสนา บอกอีกว่า ขอบคุณ ม.อ.ปัตตานี ที่เปิดโอกาสให้พวกเราได้มาเรียนต่อ พ่อแม่สบายใจขึ้นเมื่อได้มาเรียนที่นี่ มาเรียนมาอยู่หอพัก ได้ประสบการณ์ใหม่ ต้องปรับตัวหลายอย่าง ได้มาเรียนรู้เทคโนโลยีและสังคมพหุวัฒนธรรมในความหลากหลาย มีรุ่นพี่ อาจารย์ช่วยเหลือ แนะนำดีมาก เราเป็นรุ่นแรกที่มาเรียน เราต้องมีจุดยืนทางสายกลาง ต้องเปิดใจและยอมรับ เข้าใจการอยู่ร่วมกัน เคารพสิทธิเสรีภาพกันและกัน
นายเฟาซัน มะ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนานาชาติแอฟริกา ที่ย้ายเทียบโอนมาเช่นกัน บอกว่า สามปีที่ผ่านมาได้รับทุนไปเรียนที่ซูดาน เรียนภาษา 1 ปีและใน ม. อีก 1 ปี จนเกิดโควิด 19 จึงต้องกลับเมืองไทยพร้อมเพื่อนๆ มากักตัวที่พัทยา เมื่อเห็นโพสต์ในเฟสบุ๊ครับนักศึกษาเทียบโอนเข้าเรียน ดีใจมากที่มีโอกาสมาเรียนที่นี่
“ช่วงแรกกังวลกับระบบการเรียนของที่นี่ ต้องคีย์ข้อมูลเองทุกอย่าง เพราะที่ซูดานเราใช้ระบบปกติ ที่นี่ทำให้เราได้เรียนรู้ระบบ พัฒนาตัวเองขึ้นในการใช้เทคโนโลยี แต่เราผ่านไปได้ ประทับใจในการเรียนคณะนี้ มีรุ่นพี่สโมสร อาจารย์ นักศึกษาทุกคนคอยช่วยเหลือและแนะนำ ขออนุเคราะห์ทุนเฉพาะนักศึกษาเทียบโอน เพราะเรียนที่ซูดานได้ทุนร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกอย่าง ขอขอบคุณคณะและม.อ.ปัตตานีที่ให้โอกาสพวกเราได้เรียน ณ ที่นี่”
ผศ.ดร.มูฮัมมัดรอฟลี แวหะมะ คณบดีคณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า เป็นโครงการที่ไม่เคยทำมาก่อน เห็นวิกฤตของโควิดที่ทำให้นักศึกษาไม่สามารถกลับไปเรียนต่อได้ จึงเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องทำ
"เรามีความพร้อม มีสาขาที่เกี่ยวกับวิทยาการอิสลาม เช่นเดียวมหาวิทยาลัยต่างประเทศ มีความพร้อมในภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ เรามีหลักสูตรนานาชาติที่ใช้สองภาษานี้เช่นกัน มีอาจารย์ชาวต่างชาติโดยตรง เชื่อว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน เชื่อว่า ม.อ.มีคุณภาพที่ไม่ต่างกัน ช่วงแรกไม่คิดว่า มีนักศึกษาจำนวนมาก สาขาอื่น คณะอื่น ม.อื่นควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้กลับมาเรียนในไทยได้เช่นกัน"