การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กินเวลายาวนานหลายเดือน ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงานผ่านสื่อทุกแขนงเป็นประจำทุกวัน มีหมายเหตุบางอย่างถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะ 2 จังหวัดจาก 3 จังหวัด คือ ยะลา กับ ปัตตานี มีจำนวนผู้ติดเชื้อหรือที่เรียกว่า "ผู้ป่วยยืนยัน" สูงติดอันดับ Top 10 ของประเทศ
ข้อมูล ณ วันที่ 29 เม.ย.63 อัตราการป่วยต่อประชากรแสนคนของยะลา อยู่อันดับที่ 3 ของประเทศ เป็นรองแค่ภูเก็ตกับกรุงเทพฯเท่านั้น ขณะที่ปัตตานีอยู่อันดับ 5
และหากพิจาณาตัวเลขอัตราการป่วยจำเพาะตามช่วงอายุสูงสุด ต่อประชากรช่วงอายุเดียวกัน 100,000 คน ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย. ปรากฏว่า จ.ยะลา อยู่อันดับ 1 และปัตตานีอยู่อันดับ 3
กล่าวเฉพาะยะลา มีผู้ป่วยยืนยันมากถึง 121 ราย เป็นหนึ่งในไม่กี่จังหวัดของประเทศที่มียอดผู้ป่วยทะลุ 100 คน จากตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งหมดของประเทศนับจนถึงขณะนี้ (29 เม.ย.) ยังไม่ถึง 3,000 คน
ทำไม จ.ยะลา ถึงวิกฤติขนาดนี้?
"ทีมข่าวอิศรา" สอบถาม นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ได้รับคำตอบว่า สาเหตุที่ยะลามีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ นอกจากปัจจัยเรื่องการมีกลุ่มเสี่ยงเดินทางกลับจากต่างประเทศจำนวนมากแล้ว ยังสืบเนื่องมาจากความต้องการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาตัดสินใจทำโครงการ active case finding ด้วยการลงพื้นที่ X-ray ปูพรมตรวจเชื้อกับเป้าหมายเสี่ยง
"ยอดผู้ติดเชื้อที่สูง เพราะ เราทำ active case finding ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและเจ้าหน้าที่ทีมสาธารณสุขได้ลงพื้นที่ไปสอบสวนโรคในกลุ่มผู้ป่วย 100 คนจากผู้ป่วยยืนยันในระบบปกติ จากระบบการรักษาปกติ เราไปสอบสวนโรคแล้วปรากฏว่ามีผู้เชื่อมโยงจากผู้สัมผัสในชุมชน และสงสัยว่าจะมีผู้สัมผัสในชุมชน เมื่อนำมาดูปรากฏว่าเราได้เป้าหมายจากผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูงกว่า 3,500 กว่าคน เราจึงลงพื้นที่ไล่ตรวจเชิงรุก"
"นอกจากนั้นยังมีเรื่องความพร้อมของห้องแล็บในโรงพยาบาลจังหวัดยะลาที่มีการพัฒนาการตรวจได้ 400-500 คนต่อวัน ประกอบกับช่วงที่เริ่มทำโครงการ เป็นช่วงใกล้เข้าสู่เดือนรอมฎอน ผู้ว่าฯจึงมีนโยบายให้เร่งเข้าไปหากลุ่มเสี่ยง และทำการตรวจเชิงรุกในพื้นที่โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ป่วยมาหาเรา ทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว" หมอสงกรานต์ อธิบาย
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา บอกอีกว่า จากต้น มี.ค.ที่เจอเคสแรกๆ ของจังหวัด มาถึงกลางเดือน เม.ย.ที่มีเคสสูงสุด นำมาสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการตรวจหาเชื้อกับบุคคลกลุ่มเสี่ยง ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แม้ตัวเลขจะสูงจริง แต่เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว และขณะนี้ตัวเลขก็นิ่งมาหลายวันแล้ว อยู่ที่ 121 ราย
"active case finding เราไม่ได้ตรวจประชากรทั้งหมด แต่เราตรวจตามเป้าหมาย และจากการทำ active case finding จำนวน 3,500 กว่ารายใน 1 สัปดาห์ เราเจอผู้ป่วย 20 คนที่ไม่แสดงอาการ ทำให้ยอดผู้ป่วยรวมอยู่ที่ 121 คนในตอนนี้ และจาก 20 คนนี้เราก็เช็ค timeline ของเขา พบว่าเราจะต้องตรวจเคสเป้าหมายเพิ่มอีก 2,000 คน เพราะผู้ป่วย 20 คนที่พบใหม่นี้เป็นผู้ที่ไม่แสดงอาการ แต่เราเข้าไปตรวจพบ ทำให้สามารถระงับการแพร่เชื้อต่อได้โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ" หมอสงกรานต์ กล่าว
เหตุนี้เองในแง่ตัวเลขที่ถูกมองว่าสูง แต่ในฐานะผู้ปฏิบัติงานจริงมองว่าเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว และนับจากนี้สถานการณ์โดยรวมน่าจะดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับ "ผู้ป่วยไม่แสดงอาการ" ที่พบจากการทำ active case finding ของยะลา ก็สะท้อนให้เห็นถึงความน่ากลัวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
หมอสงกรานต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากมาตรการที่ได้ทำมาทั้งหมด ทำให้ยะลามีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องแล็บจำนวนมาก ฉะนั้นก็จะยินดีอย่างยิ่งหากมีผู้บริจาคเข้ามา ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อเดินหน้าสู้โควิด-19 และดูแลสุขภาพ สุขอนามัยของคนยะลาต่อไป