14 พ.ย.67 มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจเกี่ยวกับทิศทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แม้จะเป็นความเห็นเล็กๆ จากนายทหารคนหนึ่ง แต่นายทหารคนนี้กำลังมีบทบาทอย่างสูงต่อการกำหนดแนวทางดับไฟใต้ในระดับหนึ่ง
และเป็นการ “คิดนอกกรอบ” ที่น่าสนใจ แนวๆ “ไปต่อไม่รอแล้วนะ...” แน่งานนี้คือ “ไปต่อ...ไม่ต้องรอสงบ”
เขาคือ พล.ท.สุรเทพ หนูแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ศปป.5 กอ.รมน. ซึ่งรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ ในมิติของหน่วยงานผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร
14 พ.ย.พล.ท.สุรเทพ หรือ “บิ๊กจ้อย” ได้พาคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกของปีงบประมาณ 2568 และครั้งแรกหลังคดีตากใบขาดอายุความ
บรรยากาศจึงอึมครึมพอสมควร...
โดยในวันเดียวกันนั้นมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ นายวิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม นายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ ที่ถูกยิงเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมเมื่อ 7 วันก่อนหน้า
และยังมีระเบิด “มอเตอร์ไซค์บอมบ์” ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี
ความน่าสนใจของ พล.ท.สุรเทพ หรือ “บิ๊กจ้อย” คือ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 26 หรือ ตท.26 รุ่นเดียวกับ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นรอง ผอ.รนม.โดยตำแหน่ง และ “บิ๊กจ้อย” เพิ่งรับตำแหน่ง ผอ.ศปป.5 เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา
ด้วยความที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน การสื่อสารทางความคิดจึงต่อกันติดง่ายกว่าบุคคลอื่น
ฉะนั้นแนวคิดแนวทางของ พล.ท.สุรเทพ จึงต้องให้น้ำหนัก และอนุมานได้ว่าไม่ขัดกับนโยบายของ ผบ.ทบ.แน่นอน
พล.ท.สุรเทพ กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้นับจากนี้ ต้องก้าวข้ามความรุนแรง เพราะเหตุรุนแรงไม่มีทางหมดไป ไม่ว่าจะแก้อย่างไรก็ไม่มีทางหมด
“ทุกพื้นที่ของประเทศไทยล้วนมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น เพียงแต่ที่ชายแดนใต้มีสาเหตุแตกต่างจากพื้นที่อื่น เพราะไม่ใช่ความรุนแรงที่เกิดจากการปล้นชิงทรัพย์ หรือชู้สาว แต่เกิดจากความไม่เข้าใจ ซึ่งมาจากการบ่มเพาะ จนนำมาสู่ความขัดแย้ง” บิ๊กจ้อย ขมวดปมความคิด
ก่อนจะสรุปว่า ฉะนั้นแนวทางแก้ไขจึงต้องเดินใน 3 มิติพร้อมกัน คือ
1. ลดเงื่อนไขขัดแย้งให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐทุกหน่วยก็พยายามทำอย่างเต็มที่
2. แก้ที่การสื่อสาร จึงตัดสินใจสานต่อโครงการพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ ให้ลงมาเห็นความจริงกับตาตัวเอง
“การสื่อสารต้องใช้มืออาชีพ ไม่ใช่ทหารไปทำเอง เพราะทำอย่างไรก็สู้นักข่าวอาชีพไม่ได้ ฉะนั้นหน้าที่ของผมคือ พาให้สื่อได้ลงไปเห็นของจริง เพราะทหารไม่มีอะไรปิดบัง เมื่อเห็นของจริงแล้ว จะได้สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคม” บิ๊กจ้อย บอก
และว่า 3. แก้ที่การศึกษา เพราะการศึกษาจะทำให้คนมีความรู้ ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการให้ข้อมูลผิดๆ ซึ่งไม่ใช่ความจริงได้
ที่สำคัญ การศึกษายังนำมาซึ่งอาชีพ รายได้ และความมั่นคงในชีวิต
“เมื่อชีวิตมั่นคง ปัญหาความไม่มั่นคงของพื้นที่ก็จะหมดไปเอง” พล.ท.สุรเทพ กล่าว
พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า สันติภาพ สันติสุขไม่ใช่เรื่องที่อยู่ไกลเกินเอื้อม แต่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้แน่นอน
@@ ตัวอย่างน่าทึ่ง! มนร.เปิดหลักสูตรเอไอ- รถอีวี
ผอ.ศปป.5 ได้พาคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ มนร. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์อย่างเต็มรูปแบบ
มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีทั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงคณะทางสังคมอย่างศิลปศาสตร์ วิทยาการจัดการ และเกษตร
ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดที่เคยได้ชื่อว่ายากจนและการศึกษาล้าหลังรั้งท้ายประเทศ
ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดี มนร. กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยคือผลิตบัณฑิตและบุคลากรเพื่อให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาบลัยได้เปิดหลักสูตรเทคนิเชียล มาตรฐานสูง เทียบเท่า “เอียซ่า” ของยุโรป ระยะเวลา 2 ปี รองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย
- หลักสูตรช่างเทคนิคขนส่งทางราง เพื่อผลิตบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ขนส่งทางราง
- หลักสูตรช่างเทคนิคอากาศยาน มีสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมากำกับ
- หลักสูตรระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะ หรือ เอไอ
และกำลังเตรียมเปิดหลักสูตรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยทุกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น การบินไทย สายการบินแห่งชาติ หรือแม้แต่ผู้ผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากจีน เปิดโอกาสให้นักศึกษาไปฝึกงาน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แลกเปลี่ยนคณาจารย์ และรับผู้ที่จบการศึกษาเข้าทำงานจนครบทุกคน
@@ ตอบสนองเทรนด์โลก “เศรษฐกิจ BCG” มีโซลาร์ฟาร์มใหญ่สุด
นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังวิสัยทัศน์ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจใหม่ BCG ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
ปัจจุบัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มนร.มีโซลาร์ฟาร์มใหญ่ที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีศูนย์เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
@@ ผลิตบัณฑิตเพื่อสังคมพหุวัฒนธรรม
ผศ.ดร.จงรัก พลาศัย นายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า ตนเป็นคนนราธิวาสเช่นเดียวกับอธิการบดี สมัยยังเป็นเด็ก ระบบการศึกษามีปัญหาจริงๆ เด็กในพื้นที่ไม่รู้จะเรียนอะไร ไม่รู้จะไปทางไหน วันนี้ตนได้มีโอกาสกลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง จึงคำนึงถึงคุณค่าของคนสามจังหวัด คนนราธิวาส ต้องได้เรียนสาขาที่ตนต้องการ ตลาดงานต้องการ และพื้นที่ต้องการ
“หลักคิดของผมคือ กรุงเทพฯมีอะไร ที่นี่ต้องมี เช่น ห้องเรียนอัจฉริยะ และเรียนจบจากเราต้องมีงานทำ ตลาดงานต้องการ เราจึงผลิตหลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพช่วยกำกับดูแล นี่คือหัวใจของการทำงานของมหาวิทยาลัย“ ผศ.ดร.จงรัก กล่าว
และว่า ความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยคือ บัณฑิตของเรา อยู่ในพื้นที่ได้ ทำงานได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม
ยกตัวอย่าง คณะแพทยศาสตร์ของ มนร. จะมีคำขวัญว่า คณะแพทยศาสตร์แห่งสังคมพหุวัฒนธรรม หรือ A medical school in a multicultural society
เริ่มรับนักศึกษาปี 2550 มีบัณฑิตจบไปแล้ว 290 คน ทำงานในพื้นที่ถึง 69.4% ไม่นับที่ศึกษาต่อโดยมีต้นสังกัดในพื้นที่อีกกว่า 20%
ที่สำคัญนักศึกษาทุกคนต้องเรียนวิชาสันติศึกษา พร้อมทั้งเรียนรู้และเข้าใจบริบทความแตกต่างหลากหลายในพื้นที่อย่างแท้จริง
เป็นที่แน่ชัดว่าวิสัยทัศน์เช่นนี้ จะนำพาพื้นที่ชายแดนใต้สู่ความทันสมัย และสันติสุขอย่างยั่งยืน!