คดีตากใบและเหตุการณ์ตากใบที่ถูกหยิบมาเล่าใหม่ในห้วงที่คดีสำคัญใกล้จะขาดอายุความ และปัจจุบันขาดอายุความไปแล้ว สารัตถะเกือบทั้งหมดเป็นการสะท้อนมุมมองของพี่น้องประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมในวันนั้น ในฐานะ “ผู้ถูกกระทำ”
และมีการสรุปการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในมุมของความโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และละเมิดสิทธิมนุษยชน
โดยการวิพากษ์วิจารณ์และพูดถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หนักหน่วงรุนแรงขึ้นเมื่อจำเลยและผู้ต้องหาที่ถูกฟ้องคดีในปีสุดท้ายก่อนขาดอายุความ รวม 14 คน พากันหลบหนี เพื่อให้คดีขาดอายุและสิ้นสุดลง จึงไม่สามารถพิสูจน์ความถูกผิดของการกระทำในชั้นศาลได้
อย่างไรก็ดี ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในวันนั้นมี 2 ฝ่าย คือฝ่ายประชาชนที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็น “ผู้ถูกกระทำ” กับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปปฏิบัติการควบคุมและสลายการชุมนุม ตลอดจนเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปดำเนินคดี ซึ่งถูกตีตราว่าเป็น “ผู้กระทำทารุณโหดร้าย”
แต่เสียงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐแทบไม่ค่อยปรากฏในพื้นที่สื่อสาธารณะเลยแม้แต่น้อย
โดยเฉพาะจากผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียงโดยตรง อย่างเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ซึ่งไม่ได้ถูกฟ้องตกเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหา แต่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ และมองเห็นทุกอย่างผ่านสายตาของตน
หนึ่งในนั้นคือ พ.ต.อ.ศุภชัช ณ พัทลุง ผู้กำกับการ สภ.ตากใบ ในปัจจุบัน ซึ่งในเหตุการณ์วันที่ 25 ตุลาคม 2547 เขาดำรงตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวน ตำรวจภูธรภาค 9 และอยู่ในเหตุการณ์ที่หน้า สภ.ตากใบ ตลอดเวลา
ทีมข่าว “สืบสวนความจริง” ซึ่งเป็นรายการของสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี สัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.อ.ศุภชัช และได้นำเสนอในรายการ ออกอากาศเมื่อคืนวันที่ 26 ตุลาคม 2567 หลังคดีตากใบขาดอายุความ
“ทีมข่าวอิศรา” เห็นว่าเป็นบทสัมภาษณ์ที่มีเนื้อหาน่าสนใจ และข้อมูลข้อเท็จจริงหลายอย่างไม่เคยปรากฏผ่านสื่อสาธารณะ ตลอดจนผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในเวทีการเมืองปัจจุบัน ก็ไม่เคยหยิบมุมมองของฝั่งเจ้าหน้าที่มาพูดหรืออภิปรายบ้างเลย
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา จึงเปิดพื้นที่ส่วนนี้ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งไม่มีใครเห็นด้วยกับการหลบหนีคดีของจำเลยและผู้ต้องหาจนคดีขาดอายุความ แต่จุดประสงค์ของการสัมภาษณ์และการสื่อสาร คือ การบอกเล่าสาเหตุที่ทำให้เหตุการณ์ตากใบบานปลาย ซึ่งหลายเรื่องไม่เคยถูกเอ่ยถึงจากหลายๆ ฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้เลย
โดยเฉพาะสถานการณ์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ เวลานั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับห้วงเวลาปัจจุบันนี้ อารมณ์ความรู้สึก และแรงกดดันของเจ้าหน้าที่จึงมีมากกว่าปกติ และเรื่องเหล่านี้แทบไม่เคยมีพื้นที่ให้พวกเขาได้ถ่ายทอดออกมา...
@@ ตากใบคือเหตุต่อเนื่อง
พ.ต.อ.ศุภชัช ณ พัทลุง ให้สัมภาษณ์เนื้อหาทั้งหมดนี้เอาไว้ ก่อนที่คดีตากใบจะขาดอายุความ โดยเจ้าตัวอยู่ร่วมในเหตุการณ์ ในฐานะรองสารวัตรสืบสวน ตำรวจภูธรภาค 9 และยังเกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์อื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับตากใบ
“ก่อนที่จะเกิดความสูญเสียในเหตุการณ์ตากใบวันที่ 25 ตุลาคม 2547 นั้น เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ได้มีการจับกุมแจ้งข้อกล่าวหา ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) จำนวน 6 คน ในฐานความผิดเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จ แล้วก็ยักยอกอาวุธปืนของทางราชการ อันเนื่องมาจากการที่ ชรบ.ทั้ง 6 นายได้นำเอาอาวุธปืนไปมอบให้กับสมาชิกผู้ก่อเหตุรุนแรง หลังจากนั้นจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ว่าถูกปล้นเอาปืนไป แต่ข้อเท็จจริงเป็นการนำอาวุธปืนไปให้ด้วยตนเอง
ต่อมามีการชุมนุมกันที่บริเวณ สภ.ตากใบ เรื่อยมา แต่ว่ายังไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง (มีการชุมนุมมาก่อนวันที่ 25 ตุลาคม อยู่แล้ว) จนกระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม มีมวลชนจำนวนมากจากหลายพื้นที่ หลายอำเภอ เดินทางเข้ามาสมทบที่บริเวณหน้าโรงพัก
จากการสอบถามของเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า กลุ่มมวลชนที่มา มาด้วยหลายเหตุผล บางส่วนที่มาตะโกนอยู่หน้า สภ. ก็มาด้วยเหตุผลคือให้ปล่อยตัว ชรบ. แต่มีมวลชนอีกจำนวนมากที่มาเนื่องจากได้รับการบอกเล่าว่าจะมีการแจกของในเดือนรอมฎอน และจะมีการละหมาดฮายัต (ช่วงนั้นเป็นช่วงเดือนถือศีลอด)
@@ จุดเปลี่ยนคือยิงขู่คนบุกโรงพัก-ถือขวดน้ำมัน
ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ได้มีชายฉกรรจ์ปิดหน้าปิดตา ปืนรั้วกำแพงเข้าไปใน สภ. และขึ้นไปยืนบนรถของตำรวจภายใน สภ.ตากใบ มีบางคนถือขวดน้ำมันเข้าไปด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่บางส่วนใน สภ.มีการยิงปืนขึ้นฟ้า เพื่อขู่ให้กลุ่มที่บุกเข้ามาได้ถอยออกไป จนได้เกิดเหตุการณ์ตามที่เราได้เห็นกัน ซึ่งมีการพัฒนามาจากเหตุการณ์ตามที่กล่าวเอาไว้นี้
จุดมุ่งหมายของผู้ที่วางแผนอยู่เบื้องหลัง คือต้องการให้มีมวลชนจำนวนมากมายังพื้นที่เป้าหมาย ก็คือ สภ.ตากใบ มีการจัดตั้งกลุ่มที่มีความคิดเห็นรุนแรงเป็นแกนนำ และมีมวลชนที่เป็นผู้บริสุทธิ์จากหลายพื้นที่ หลายอำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเมื่อมาถึงก็มีการพูดปราศรัยหน้า สภ. เพื่อจะใช้มวลชนในการกดดัน สภ.ตากใบ
ในระหว่างที่มวลชนรวมตัวกันที่หน้า สภ. มีบางส่วนบุกเข้าไปในพื้นที่ สภ. เจ้าหน้าที่ใช้คำสั่งให้ออกไปแต่ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง กลับบุกขึ้นไปยังบริเวณ สภ. กำลังพลบ้างส่วนจึงต้องใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า เมื่อสถานการณ์พัฒนาไป จนมาถึงเหตุการณ์ที่เริ่มบานปลาย อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของทั้ง 2 ฝ่าย ถูกปลุกปั่นจนสุกงอมได้ที่”
@@ ความเครียดสะสม เหมือนรบกับผี
พ.ต.อ.ศุภชัช อธิบายว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนั้น ไม่ได้มีสภาพเหมือนปัจจุบันนี้ กล่าวคือฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องเจอการก่อเหตุร้ายในลักษณะ “สงครามกองโจร” โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วย ทุกสี โดยเฉพาะตำรวจ กับป่าไม้ ตกเป็นเป้าหมายจำนวนมาก
สิ่งที่ พ.ต.อ.ศุภชัช เล่าในส่วนนี้ สอดคล้องกับยุทธวิธี “ใบไม้ร่วง” ที่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบซึ่งถูกจับกุม เคยสารภาพเอาไว้ว่าเป็นแนวทางที่นำมาใช้ในช่วงต้นๆ ของเหตุการณ์ไฟใต้ทั้งก่อนและหลังปล้นปืนครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547
“ฝ่ายเจ้าหน้าที่เมื่อย้อนเวลากลับไปตั้งแต่ปี 2545-2547 ความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ แม้แต่ตัวผมเองซึ่งตอนนั้นเป็นเพียงร้อยตำรวจเอก มีความรู้สึกว่าเราสู้อยู่กับผี กับวิญญาณที่ไม่มีตัวตน ในความหมายที่ว่าเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร
@@ จนท.เสียขวัญ ถูกกระทำนับครั้งไม่ถ้วน
ผมในตอนนั้นเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย ก็มีความรู้สึกในตอนนั้นว่าเราต้องเสียดินแดนแน่ๆ มีความรู้สึกว่าเหตุการณ์มันน่ากลัวมาก ไปทานอาหารที่ไหนต้องเหลียวซ้ายแลขวาไม่รู้ว่าจะมีใครมาประกบยิงเราหรือเปล่า ตำรวจจราจร ตำรวจที่ออกสายตรวจเดี่ยวๆ หรือคนเดียว ก็ตกเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุประกบยิง หลายต่อหลายเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ฐานทหารพรานถูก ผกร. (ผู้ก่อเหตุรุนแรง) โจมตี เสียชีวิตยกฐาน หรือแม้แต่เกิดเหตุการณ์ครูจูหลิง (บ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิววาส) เหตุการณ์ 2 นาวิกโยธินที่ถูกรุมทำร้ายจนเสียชีวิต (บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส) เหล่านี้เป็นผลที่ทำให้ความรู้สึกของเจ้าหน้าที่เสียขวัญมานับครั้งไม่ถ้วน
จนเมื่อเกิดเหตุการณ์วุ่นวายที่เกินกว่าจะควบคุมได้ที่หน้า สภ.ตากใบ อารมณ์ความรู้สึกเมื่อประกอบกับการที่มีบุคคลบุกเข้าไปใน สภ.ซึ่งอาจจะเป็นแกนนำจัดตั้งที่เตรียมการมาแล้ว ประกอบกับคนที่ถูกปลุกระดมขึ้นมาในวันที่มีการชุมนุม เมื่อมีการกระทบกระทั่งกัน ทำให้เกิดการพัฒนาทางอารมณ์ ทั้งความสูญเสียในอดีต ประกอบกับการปะทะทางอารมณ์ในวันเกิดเหตุ จึงนำไปสู่การบานปลายของเหตุการณ์”
@@ สงครามอสมมาตร ฆ่ากระทั่งพระเพื่อยั่วยุ
พ.ต.อ.ศุภชัช อธิบายถึง “สงครามอสมมาตร” ที่ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงนำมาใช้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ผสมกับการใช้มวลชนกดดัน คือรูปแบบของเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดภาพเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายประชาชน (โดยนัยหมายถึงพี่น้องมุสลิม)
“เทคนิควิธีการในการต่อสู้ เป็นรูปแบบหนึ่งของความขัดแย้งที่เราเรียกว่า ‘สงครามอสมมาตร’ เป็นการต่อสู้ของฝ่ายที่ไม่สามารถสู้ได้ด้วยกำลังอาวุธ จึงใช้วิธีการอื่นมาทดแทนอำนาจกำลังรบที่ตนเองไม่มี โดยการใช้มวลชนเข้ามากดดัน ซึ่งจุดมุ่งหมายในเหตุการณ์ตากใบก็คือ กลุ่มผู้ที่วางแผนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งมีการจัดตั้งบางส่วน และก็มีบางส่วนที่ถูกอำพรางข้อเท็จจริงให้หลงเชื่อเข้ามายังพื้นที่เป้าหมาย ก็คือพื้นที่ สภ.ตากใบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้ความรุนแรง
วันนี้สถานการณ์ก็พัฒนาการมา 20 ปีเศษ ถ้าจำได้เมื่อย้อนกลับไปในช่วงปี 2545–2547 การก่อเหตุของฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงจะกระทำต่อเป้าหมายตำรวจเป็นหลัก รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้
ในอดีตมีการประกบยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณสี่แยก หรือตามจุดที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามลำพัง และไม่มีการระวังป้องกัน รวมถึงมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสูญเสียครั้งละมากๆ มีการโจมตีฐานทหาร ตำรวจ อส. มีการกระทำต่อเป้าหมายอ่อนแอ มีการบุกเข้าไปฆ่าพระ เผาวัดที่ อ.ปะนาเระ (จ.ปัตตานี อำเภอเดียวกับที่เพิ่งเกิดคาร์บอมบ์ ก่อนคดีตากใบขาดอายุความ)”
@@ ความผิดพลาดและความสูญเสีย..คือบทเรียน
พ.ต.อ.ศุภชัช บอกทิ้งท้ายว่า วันนี้เจ้าหน้าที่เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฉะนั้นเหตุการณ์แบบตากใบจะไม่เกิดซ้ำอีก
“ปัจจุบันเมื่อรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่มีองค์ความรู้ มีความเข้าอกเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดมากขึ้น ทั้งจากการสูญเสียของฝ่ายตนเอง หรือการกระทำผิดพลาดในอดีต สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนที่สำคัญมาก ทำให้ปัจจุบันมีการบูรณาการจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี และเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างตากใบขึ้นอีกในอนาคต“
-------------------
ขอบคุณ : โชฏิมา จันทร์คง รายการสืบสวนความจริง เนชั่นทีวี เจ้าของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
หมายเหตุ : ติดตามบทสัมภาษณ์บางส่วนทางรายการสืบสวนความจริง เนชั่นทีวี
คดีตากใบ สู่ประวัติศาสตร์ที่ไม่ขาดอายุความ