นับตั้งแต่มีข่าวใหญ่ช่วงกลางเดือน ก.ย.64 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดโครงการติดตั้งเสาไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ของ ศอ.บต. ปรากฏว่า หลังจากนั้นทุกอย่างตกอยู่ในความเงียบงัน
ยกเว้นกลุ่มผู้ร้องเรียนให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบโครงการนี้ที่ออกมาโวยว่า ป.ป.ช.น่าจะชี้มูลผิดประเด็น หรือไม่ครบประเด็น และทำหนังสือสอบถามไปยังประธาน ป.ป.ช.
เพราะสาระสำคัญของมติ ป.ป.ช.ไม่ได้ชี้มูลว่า โครงการนี้มีการทุจริตฮั้วประมูล หรือสมยอมการเสนอราคา (พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ ได้รับการยกเว้นการประมูลในการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ให้ใช้วิธีสอบราคาจากเอกชนและบริษัทคู่เทียบ)
แต่ ป.ป.ช.ชี้มูลว่า มีการเรียกรับสินบน และสนับสนุนให้เจ้าพนักงานรับสินบน โดยกล่าวหา นายพิทยา รัตนพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมภรรยาและบริษัทเอกชนคู่สัญญา กับกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท
ผ่านมาครึ่งเดือน ยังไม่มีท่าทีใดๆ จาก ศอ.บต. นอกจากบอกว่าจะรอแจ้งมติอย่างเป็นทางการจาก ป.ป.ช. ขณะที่ผู้บริหารสูงสุดของ ศอ.บต.ชุดปัจจุบัน กล่าวกับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน ขอให้มองไปข้างหน้า เพื่อให้ปวงประชาอยู่ดีกินดี ส่วนปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเก่า จึงไม่มีใครให้ข่าวใดๆ กับสังคม
ส่วน ผอ.พิทยา ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล ก็เก็บตัวเงียบ ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่า เขาตกเป็น “แพะ” และคดีถูกตัดตอน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่โครงการระดับพันล้าน ทุกอย่างจบที่ผู้อำนวยการ ระดับ 7
“ทีมข่าวอิศรา” เดินทางไปที่ ศอ.บต. และได้พบกับ ผอ.พิทยา ซึ่งวันนี้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายอาคารสถานที่และยานพาหนะ ศอ.บต.
ผอ.พิทยา ออกตัวว่า ไม่อยากพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ยอมรับว่าถูกย้ายจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีฯ ตั้งแต่มีข่าวความไม่โปร่งใสของโครงการโซลาร์เซลล์พันล้าน
ส่วนประเด็นที่ตนเองและภรรยาถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ผอ.พิทยา ขอไม่แสดงความเห็นใดๆ แม้ทีมข่าวจะยืนยันว่า พร้อมเปิดพื้นที่ให้อธิบาย
“ผมขอไม่พูดในเรื่องนี้ ขอรอคำวินิจฉัยของ ป.ช.ช.ส่งมาก่อน มีอะไรอีกมากที่พูดออกมาไม่ได้”
ผอ.พิทยา บอกว่า ช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยสำนักเทคโนโลยีฯ ได้รับผิดชอบโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ รวมแล้ว 6 โครงการ
“โครงการที่เกี่ยวกับพลังงานที่ผมรับผิดชอบสมัยนั้นมีด้วยกัน 6 โครงการ เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์และเครื่องกรองน้ำโซลาร์เซลล์ก็รวมอยู่ในนี้ด้วย ทุกโครงการยอมรับว่าเซ็นรับรองให้ทาง ศอ.บต.อนุมัติ แต่เรื่องจัดจ้างไม่ใช่เรื่องของผมและผมจะไม่ขอพูดในเรื่องนี้ออกสื่อก่อนที่จะได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช.ว่า ผมมีความผิดตรงจุดไหน การพูดไปก่อนกลัวว่าจะกระทบกับรูปคดี” ผอ.พิทยา กล่าว
เขายังเผยความรู้สึกว่า “รู้สึกท้อในการทำงานมาก เพราะรู้ดีว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนทำงานตรงไปตรงมา แต่พอมีปัญหาเกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ กลับกลายเป็นว่าผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้นที่มีชื่อออกมาเป็นข่าว”
ด้านแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับ ผอ.พิทยา เล่าให้ฟังว่า โครงการเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ ศอ.บต.ดำเนินการที่ผ่านมา 6 โครงการ มีเงื่อนงำมาก แต่ ผอ.พิทยา ไม่ได้กังวลใดๆ เพราะทุกคนรู้ดีว่า ใครเป็นตัวการที่ทำให้เกิดปัญหา แต่ ผอ.พิทยา ยังไม่ขอพูดกับสื่อ โดยจะรอเอกสารชี้มูลจาก ป.ป.ช.ก่อน จากนั้นจะเปิดความจริงทั้งหมดกับสื่อมวลชน
แหล่งข่าวที่รู้จักกับ ผอ.พิทยา เล่าเสริมว่า ตั้งแต่เกิดเรื่อง ยังไม่มีผู้ใหญ่หรืออดีตผู้บริหารหน่วยงานติดต่อมา ทำให้ ผอ.เสียความรู้สึก แต่ก็มั่นใจว่า จะต่อสู้คดีได้ เนื่องจากไม่ได้ทำอะไรผิด ที่สำคัญ ผอ.พิทยา ไม่ได้เป็นกรรมการจัดจ้างและไม่ได้เป็นกรรมการตรวจการจ้าง จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการทำสัญญา
อนึ่ง โครงการโซลาร์เซลล์พันล้าน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โครงการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์" อยู่ในความรับผิดชอบของ ศอ.บต. จากการตรวจสอบพบว่า มีการทำสัญญาว่า จ้างบริษัทผู้รับเหมาติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์อย่างน้อย 6 สัญญา มากกว่า 14,000 จุดในพื้นที่ ใช้งบประมาณรวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท แต่หลังจากติดตั้งได้ไม่นานก็มีปัญหาทั้งเรื่องชำรุดเสียหาย อุปกรณ์ถูกขโมย และมีการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่มีมาตรฐานราคากลาง ทำให้ส่อทุจริต
กลางเดือน ก.ย.64 คณะกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์และภรรยา กรณีมีพยานหลักฐานการเรียกรับสินบนจากบริษัทผู้รับเหมาในโครงการ ขณะที่เสาไฟโซลาร์เซลล์ก็ยังใช้งานไม่ได้จำนวนมาก
คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 7 ราย แต่ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิด 4 ราย ประกอบด้วย
1. นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต.
2. นางศลิษา รัตนพันธ์ ภรรยาของนายพิทยา
3. บริษัท แสงมิตร อีเลคตริค จำกัด
4. นางอุรุวัลย์ ฤดีพิพัฒนพงศ์ กรรมการ บริษัท แสงมิตร อิเลคตริค จำกัด
ข้อหาของ ผอ.พิทยา คือ เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 157
นางศลิษา รัตนพันธ์ ภรรยาของนายพิทยา มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
บริษัทแสงมิตรฯ และนางอุรุวัลย์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 คือ ให้สินบนเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86