ช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.-พ.ค.64) สังคมไทยพุ่งเป้าความสนใจและวิตกกังวลไปที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และข่าวคราวไม่ค่อยดีเกี่ยวกับวัคซีนที่เกิดขึ้นแทบไม่เว้นแต่ละวัน
วิกฤตการณ์โควิด ทำให้ทุกคนลืมเหลียวไปดูสถานการณ์ไฟใต้ ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน ซึ่งความรุนแรงได้หวนกลับมาปะทุก่อตัวขึ้นอีกครั้ง จนกลายเป็นภาวะ "ซ้ำเติมโรคระบาด" ทั้งๆ ที่ปัจจุบันไฟใต้ยืดเยื้อมายาวนานกว่า 17 ปีแล้ว ละลายงบประมาณไปหลายแสนล้านบาท
ขณะที่ปีที่แล้ว ช่วงต้นๆ ของการระบาดโควิด "ขบวนการบีอาร์เอ็น" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกองกำลังหลักที่ปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประกาศยุติการก่อเหตุชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน กลายเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้สถิติเหตุรุนแรงลดลง
แต่ปีนี้ "บีอาร์เอ็น" ไม่ได้ออกประกาศอะไร ปรากฏว่าความรุนแรงปะทุขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.ในวาระครบรอบสถาปนา 61 ปีของขบวนการ จากนั้นเหตุร้ายรายวันก็เพิ่มจำนวนขึ้นไม่ต่างจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด
สถิติเหตุรุนแรงทุกประเภทพุ่งสูงที่สุดในเดือนเมษายน จำนวน 33 ครั้ง เฉลี่ยมากกว่าวันละ 1 ครั้ง ก่อนจะลดระดับลงบ้างในเดือน พ.ค.
ในจำนวนเหตุรุนแรงที่เป็น "เหตุความมั่นคง" มากกว่า 20 เหตุการณ์ในห้วง 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นเหตุปา "ไปป์บอมบ์" มากกว่า 6 ครั้ง เหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่องอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินไปไม่น้อย
นอกจากนั้น ยังมีเหตุรุนแรงในลักษณะโหดร้ายป่าเถื่อน คือเหตุยิงถล่มรถปิคอัพขนส่งสินค้า ก่อนฆ่าเผา 3 ศพ "ครอบครัวกิตติประภานันท์" ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี, เหตุการณ์ฆ่าครูที่เป็นผู้นำศาสนา ที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี รวมไปถึงเหตุยิงถล่มรถไฟใน อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่ห่างหายไปหลายปีด้วย
เมื่อกลุ่มก่อความไม่สงบไม่ยอมหยุดสร้างสถานการณ์ ฝ่ายความมั่นคงนำโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ต้องกำหนดแผนยุทธการเพื่อรับมือ
โดยในยุคของ แม่ทัพฯ เกรียงไกร ศรีรักษ์ ใช้กำลังของ "ชุดคุ้มครองตำบล" หรือ ชคต. 164 แห่ง ทำหน้าที่เป็นกองกำลังประจำถิ่น ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เน้นภารกิจเฝ้าระวังพื้นที่ ขณะเดียวกันก็มี "ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์" หรือ ชป.จรยุทธ์ 336 ชุด เป็นดั่งชุดเคลื่อนที่เร็ว ออกลาดตระเวนกดดันตามหมู่บ้านและป่าเขาที่เป็น "ฐานพัก" และ "แหล่งพักพิงหลบซ่อน" นอกจากนั้นยังมี "ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน" หรือ ชป.กร.อีก 256 ชุด เดินงานขยายฐานมวลชนและสร้างความเข้าใจกับประชาชนทุกตำบลหมู่บ้าน
จากยุทธการ 3 ประสาน ทำให้สามารถจำกัดเสรีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และกดสถานการณ์ร้ายให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติได้ในระดับหนึ่ง
แต่สมรภูมิที่ชายแดนใต้ยังไม่เลิกรา เห็นได้จากไฟความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่มีสถานการณ์โควิด ช่องทางตามธรรมชาติตามแนวชายแดนถูกปิดสนิท แต่กลุ่มขบวนการก็ยังสามารถก่อเหตุได้
น่าสนใจว่าสถานการณ์ไฟใต้จะเป็นอย่างไรต่อไป?
พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าวว่า ความพยายามของผู้ก่อเหตุรุนแรงมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าฝ่ายเจ้าหน้าที่เปิดช่อง หรือมีข้อบกพร่องจากการที่ต้องรับผิดชอบหลายภารกิจ ก็จะลงมือก่อเหตุทันที โดยเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ
"เป็นความพยายามของผู้ก่อเหตุรุนแรง เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม ครบองค์ประกอบเมื่อไหร่เขาก็ทำ จะเห็นว่ารูปแบบมีการเปลี่ยนแปลงไป อาจจะมีไปป์บอมบ์มากขึ้น ไปป์บอมบ์ก็เอาคนใหม่ๆ เข้ามาปฏิบัติการ ขับรถผ่านไปแล้วก็โยนเข้า โจมตีฐานปฏิบัติการบ้าง จุดตรวจบ้าง ไม่ได้หวังผลอะไรมาก เพียงแต่ให้สถานการณ์มันดำรงคงอยู่แค่นั้นเอง แต่หลังจากที่เราแก้ปัญหาเรื่องไปป์บอมบ์ เราสามารถที่จะดำเนินการจับกุมในส่วนหนึ่ง วิสามัญฯกองกำลังส่วนหนึ่งได้ ทางฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงก็เปลี่ยนยุทธวิธีกันอีก ซึ่งเราเองก็ต้องการ์ดไม่ตก เหมือนกับการสู้โควิดที่ต้องการ์ดไม่ตกเหมือนกัน"
แม่ทัพภาคที่ 4 ยอมรับว่า สถิติการก่อเหตุรุนแรงในเดือน เม.ย.64 มีจำนวนสูงขึ้นจริงจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะเป็นเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด ซึ่งตามความเชื่อของผู้ก่อเหตุแล้ว เชื่อว่าก่อเหตุในเดือนนี้จะได้บุญ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ และวันเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ครบรอบเหตุการณ์กรือเซะ (28 เม.ย.) ก็เป็นตัวกระตุ้นอย่างหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็ต้องการ์ดไม่ตก ต้องจรยุทธ์ พลิกแพลง กดดัน จำกัดเสรีด้วยการบังคับใช้กฎหมาย
"จะเห็นว่าเราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เมื่อโอกาสมี เราสามารถที่จะบังคับใช้กฎหมายได้ เราก็ไม่รีรอ เราก็สามารถวิสามัญฯได้ถึง 5 รายด้วยกัน จริงๆ แล้วการวิสามัญฯไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนา เราอยากให้เขาเหล่านั้นออกมาแสดงตน เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติปัญหา ให้หันมาพูดคุยกันมากกว่า แต่เมื่อมีการใช้อาวุธ มีการใช้กำลัง เจ้าหน้าที่ก็ต้องป้องกันตัว แต่ก็ได้ปฏิบัติตามกฎการปะทะ และขั้นตอนการเข้าปิดล้อมจากเบาไปหาหนักตลอด" พล.ท.เกรียงไกร กล่าว
การมุ่งปฏิบัติการในช่วงที่สถานการณ์โควิดกำลังแพร่ระบาด แตกต่างจากปีที่แล้วที่ประกาศหยุดก่อเหตุ ประเด็นนี้หน่วยข่าวความมั่นคงประเมินว่าเป็นเพราะปีที่แล้วกลุ่มขบวนกาารที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนพยายามสร้างภาพบวกในเวทีโลก เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการพูดคุยเจรจา ซึ่งมีการเปิดเวทีการพูดคุยค้างเอาไว้ช่วงก่อนโควิดระบาด แต่การแสดงท่าทีของฝ่ายขบวนการฯ ไม่ปรากฏผลบวกใดๆ ในเวทีโลก หนำซ้ำการพูดคุยเจรจาก็ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แม้กระทั่งการนัดพูดคุยผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ก็ยังดำเนินการได้ยาก เนื่องจากมาเลเซียเผชิญวิกฤติโควิดรุนแรงมาก ส่งผลให้ปีนี้ ฝ่ายขบวนการจึงหันมาใช้วิธีเร่งก่อเหตุผสมโรงกับการแพร่ระบาดของโควิดแทน
ข้อมูลนี้มาจากการประเมินของหน่วยข่าวความมั่นคง ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ก็เห็นพ้องด้วย
"มีความเป็นไปได้ในเรื่องการผสมโรง ขณะเดียวกันก็มีความพยายามแสดงให้เห็นว่ายังคงมีศักยภาพในการก่อเหตุอยู่"
ส่วนการโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ อย่างเช่น 3 ศพตระกูลกิตติประภานันท์นั้น แม่ทัพภาคที่ 4 มองว่าเป้นการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีเพื่อดำรงสถานการณ์ความรุนแรงเอาไว้
"ที่น่าสังเกตคือความพยายามในการก่อเหตุขั้นต้น เป้าหมายอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งกำลังทหาร ตำรวจ อาสารักษาดินแดน ฐานปฏิบัติการ รวมทั้ง ชป.จรยุทธ์ แต่ก็ถูกตอบโต้ ทางฝ่ายผู้ก่อเหตุบางส่วนที่ฝ่ายขบวนการคุมไม่ได้ จึงหันมาก่อเหตุต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์และเผาทำลายทรัพย์สิน เน้นก่อกวนมากขึ้น"
"ที่ผ่านมา ผมได้ลงไปตรวจเยี่ยม กำกับดูแลฐานปฏิบัติการ เยี่ยมหน่วยทุกระดับแบบไม่เป็นทางการ ทุกหน่วยระวังมากขึ้น ช่องว่างน้อยลง ทำให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงปรับเป้าหมาย ซึ่งเราก็เพิ่มการปฏิบัติการเชิงรุกมากขึ้นไปอีก และสกัดเรื่องไปป์บอมบ์ ทำให้ควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติได้" แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
จากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าไฟใต้ยังไม่ได้ดับมอดลง และยังมองไม่เห็นจุดเปลี่ยนที่จะพลิกสถานการณ์ นอกเหนือจากปฏิบัติการทางทหารที่ได้ทุ่มเทอย่างเต็มกำลังแล้ว
ในขณะที่ฝ่ายขบวนการเริ่มรุกทางการเมืองมากขึ้น พื้นที่การสื่อสารมีมากกว่าตามร้านน้ำชา หรือข่าวลือบอกต่อแบบดั้งเดิม แต่กลายเป็นโลกออนไลน์ที่เคลื่อนไหวได้อย่างไม่จำกัด และมีกลุ่มองค์กรใหม่ๆ ผุดขึ้นอยางต่อเนื่อง และเดินงานในยุทธศาสตร์การเมืองอย่างคึกคัก ในขณะที่อีกด้านก็ธำรงความรุนแรงเอาไว้ เสมือนหนึ่งเป็นหลุมพรางให้รัฐไทยติดหล่ม หลงอยู่ในกับดักความรุนแรง
สถิติตัวเลขที่ควบคุมได้จะเป็นบทจบของสถานการณ์ หรือคือการเริ่มต้นของสงครามระลอกใหม่ในสมรภูมิที่แตกต่าง...โปรดติดตามตอนต่อไป
----------------------------------------------
ขอบคุณ : เนื้อหาเฉพาะส่วนที่เป็นบทสัมภาษณ์ โดย อัญชลี อริยกิจเจริญ ผู้สื่อข่าวสายทหารและผู้ประกาศ เนชั่นทีวี