ผู้ว่าฯปัตตานี เผยยังละหมาดในมัสยิดได้แต่ห้ามเกิน 50 คน มัสยิดกลางงดละหมาดตะรอเวียะห์ ขณะที่เมืองนราฯ สั่งควบคุมตลาดถนนคนเดินและงดออกดะวะห์หลังผู้ติดเชื้อพุ่ง 400 ราย ส่วนที่สงขลาติดเชื้อใหม่ 25 ราย สะสม 206 ราย ออกประกาศกำหนดห้าง-สนามกีฬาเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ด้านยะลาสั่งงดกิจกรรมเลี้ยงละศีลอดที่มัสยิด ขณะที่ผู้ป่วยใหม่โผล่อีก 2
วันที่ 18 เม.ย. 64 ที่ห้องประชุมธราดล ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในการประชุมติดตามและวางมาตรการในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในที่ประชุมได้ออกมาตรการตามคำสั่งและข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดารบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ฉบับที่ 20 มาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่
โดยทางจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งบังคับใช้อยู่ 3 ประการ คือ
ประการที่ 1 ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูงทั้ง 19 จังหวัด จะต้องเข้ามารายงานตัว เพื่อให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคคัดกรองว่ามีความเสี่ยงสูงมากน้อยแค่ไหน
ประการที่ 2 คือ สถานบันเทิง แหล่งมั่วสุมในการจำหน่ายสุราหรือสถานที่รวมกลุ่มกันดื่มสุรา ทางจังหวัดปัตตานีมีการห้ามอย่างเด็ดขาด รวมถึงร้านเกมส์ ร้านคาราโอเกะ ได้มีการคำสั่งให้ปิดทั้งหมด
ประการที่ 3 คือ ในเรื่องของการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สถาบันการศึกษา ให้ปิดการเรียนการสอนทั้งหมด และที่สำคัญทางจังหวัดปัตตานีได้กำหนดจำนวนคน ถ้ามีการจัดกิจกรรมเกิน 50 คน ก็จะถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด แต่ถ้าหากว่ามีการจัดกิจกรรมไม่เกิน 50 คน ก็จะต้องอยู่ภายใต้มาตรการของสาธารณสุขได้วางกรอบไว้ หากพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย
@@ ละหมาดมัดยิดได้แต่ห้ามเกินครึ่งร้อย - งดละหมาดตะรอเวียะห์
จากข้อกังวลในเรื่องของการจำกัดจำนวนคนในการจัดกิจกรรมไม่เกินคน 50 นั้น อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ เนื่องจากอยู่ในช่วงของการถือศีลอดและจะต้องมีการร่วมละหมาดตะรอเวียะห์ที่มัสยิดในช่วงกลางคืนด้วย
เรื่องนี้ ผู้ว่าฯปัตตานี บอกว่า ข้อกำหนดนี้เป็นไปตามมาตรการที่ทาง ศบค.กำหนด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมของศาสนาไหน เราไม่ได้มองที่การประกอบศาสนกิจ แต่เรามองจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะต้องไม่เกิน 50 คน เพื่อเป็นการวางมาตรการร่วมกันในการป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนการละหมาดขณะนี้ยังไม่มีการห้ามละหมาด ไม่ว่าจะละหมาดที่ไหนก็ตาม แต่ต้องใช้มาตรการจำนวนคนห้ามเกิน 50 คนเป็นตัวกำหนด หากพบว่ามีการฝ่าฝืน ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีบทลงโทษอยู่แล้วทั้งจำ
"สิ่งที่อยากจะฝากคือ คนปัตตานีต้องสวมหน้ากากทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน หากพบว่าไม่สวมหน้ากากอนามัย จะมีโทษปรับถึง 20,000 บาท และคนที่เดินทางมาจาก 18 จังหวัด บวก 1 ที่มีความเสี่ยงสูง จะต้องรายงานตัวกับทางจังหวัด เพื่อประเมินความเสี่ยงว่าจะต้องมีการกักตัวหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อให้ได้" ผู้ว่าฯปัตตานี กล่าว
ด้าน นายรอย๊ะ หวันโซ๊ะ อิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ได้ประกาศตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.64 เป็นต้นไป มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี งดละหมาดตะรอเวียะห์ ญะมาอะห์ ญุมอะห์ และละศีลอด หากมีการเปลี่ยนแปลงเช่นใดจะประกาศอีกครั้ง
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดปัตตานีระลอกใหม่ วันอาทิตย์ที่ 18 เม.ย.64 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 1 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งหมดจำนวน 7 ราย ซึ่งจังหวัดปัตตานีได้มีการสอบสวนผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยจากคลัวเตอร์ต่างๆ จำนวน 71 ราย พบเชื้อ 1 ราย
@@ผู้ว่านราฯ สั่งควบคุมตลาด-ถนนคนเดิน-งดออกดะวะห์
วันที่ 18 เม.ย.64 ที่ห้องประชุมพระนราภิบาล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดนราธิวาส โดยมีคณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัดนราธิวาส ปลัดจังหวัดนราธิวาส นายอำเภอ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส เพื่อพิจารณาออกมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งในวาระแรกเป็นเรื่องมาตรการของจังหวัดนราธิวาสตามข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 20 ลงวันที่ 16 เม.ย.64 ซึ่งมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่บังคับใช้ในปัจจุบัน คือ การควบคุมตลาดและถนนคนเดิน, การให้ทุกคนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และคำสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน
สำหรับมาตรการที่จะต้องมีการปรับปรุงคำสั่ง คือ มาตรการควบคุมแต่ละพื้นที่ โดยกำหนดมาตรการพื้นที่ควบคุมให้ตรงกับข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 20 รวมทั้งจะมีการกำหนดมาตรการในเรื่องการห้ามการดำเนินการ หรือจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งยังไม่ได้กำหนดมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้จะมีการกำหนดมาตรการในเรื่องการงดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางให้ครอบคลุมทั้ง 18 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมทั้งการกำหนดมาตรการจัดกิจกรรมทางสังคม การดำเนินรูปแบบปฏิบัติงานที่เหมาะสม และในด้านมาตรการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ ที่จะต้องมีข้อสั่งการเพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนราธิวาสเตรียมการ
นอกจากนี้ ในด้านมาตรการตามประกาศของจุฬาราชมนตรี ฉบับที่ 4/2564 ลงวันที่ 12 เม.ย.64 และมาตรการที่ออกตามข้อกำหนด ฉบับที่ 20 ลงวันที่ 16 เม.ย.64 ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือและนำเสนอร่วมกัน โดยจะยึดตามประกาศจุฬาราชมนตรี และให้งดการออก "ดะวะห์" และ "โยร์" ซึ่งจะมีการออกคำสั่งจังหวัดและแจ้งมาตรการในพื้นที่ให้ถือปฏิบัติต่อไป
ในด้านการกักตัวสังเกตอาการแบบ Home Quarantine จะใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น โดยให้ทุกอำเภอควบคุมดูแลตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสยังได้เน้นย้ำให้หัวหน้าส่วนราชการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้น และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ส่วนข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ( 1-18 เม.ย.64 ) ของจังหวัดนราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ วันอาทิตย์ที่ 18 เม.ย.จำนวน 18 ราย ในพื้นที่ อ.เมืองนราธิวาส โดยผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 371 ราย (เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำ จำนวน 249 ราย) รักษาหาย 36 ราย เสียชีวิต 1 ราย
@@ สงขลาติดเชื้อใหม่ 25 ราย - ห้าง สนามกีฬาเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา (สสจ.สงขลา) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ (18 เม.ย.64) จำนวน 25 ราย โดยข้อมูลจากผังเชื่อมโยงการระบาดระลอกใหม่ของจังหวัด ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25 ราย แยกเป็น ผู้สัมผัสที่ติดเชื้อมาจากกลุ่มสถานบันเทิง จำนวน 17 ราย ส่วนที่เหลืออีก 8 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่และผู้สัมผัสที่ติดเชื้อจากผู้ที่มาจากนอกพื้นที่
ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันสะสม (ตั้งแต่ 1 เม.ย.- 18 เม.ย.) 206 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อในประเทศ จำนวน 204 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา จำนวน 206 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงที่ได้รับการตรวจหาเชื้อในวันนี้ 251 ราย
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา ได้มีคำสั่งที่ 19/2564 ลงวันที่ 17 เม.ย.64 เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จังหวัดสงขลา ดังต่อไปนี้
1. ห้ามใช้อาคาร หรือสถานที่ ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท เพื่อการสอน การสอบ การฝึกอบรม
2. ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีบุคคลรวมกลุ่มเกิน 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอท้องที่
3. ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต สวนสนุก สวนน้ำ โต๊ะสนุ๊กเกอร์ โต๊ะบิลเลียด
4. ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ให้นั่งทานในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และจำหน่ายได้ไม่เกิน 23.00 น. โดย ห้ามบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้าน
5. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สนามกีฬา ยิม ฟิตเนส ให้เปิดได้ถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และให้งดบริการตู้เกมส์ เครื่องเล่น สวนสนุก
6. ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดได้ตั้งแต่ 04.00 น. - 23.00 น.
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มีความผิดตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคคิดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท มีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคคิดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 18 เม.ย.64 - 1 พ.ค.64
@@ยะลาติดเชื้อใหม่ 2 ราย สั่งงดกิจกรรมเลี้ยงละศีลอดที่มัสยิด
ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยะลา ซึ่งมี นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้มีการลงนามออกประกาศร่วมกับ นายหะยีอิสมาแอ ฮารี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอนปีฮิจเราะห์ศักราช 1442 ลงวันที่ 15 เม.ย.64
เนื้อหาสรุปว่า เพื่อเป็นการควบคุมจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 (7) และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับประกาศสำนักจุฬาราชมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่าด้วยเรื่องการงดปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอนประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1442 ดังนี้
1.งดการจัดกิจกรรมเลี้ยงละศีลอดที่มัสยิด
2.สำหรับการปฏิบัติศาสนกิจละหมาดฟัรฎูทั้ง 5 เวลา ละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะห์) และละหมาดตะรอเวียะห์ ขอความร่วมมือคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดหรือผู้รับผิดชอบในการจัดละหมาดควบคุมดูแลสัปบุรุษหรือผู้ร่วมละหมาดให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฯ โดยการตรวจวัดอุณหภูมิล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาการปฏิบัติศาสนกิจเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร และสำหรับการละหมาดวันศุกร์ให้กระชับเวลาในการปฏิบัติศาสนกิจไม่เกิน 45 นาที
3.การเอี๊ยะติก๊าฟที่มัสยิด ขอความร่วมมือคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติเอี๊ยะติก๊าฟให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฯ โดยการตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาการปฏิบัติศาสนกิจและเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร
ทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวข้างต้นอย่างเคร่งครัดจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ส่วนข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ (1-18 เม.ย.64 ) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ วันที่ 18 เม.ย. จำนวน 2 ราย เป็นผู้หญิงอายุ 42 ปี และ 25 ปี รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเบตง ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวน 7 ราย
@@ เกาะพะงันเตรียม รพ.สนาม หลังพบผู้ป่วยยืนยัน 8 ราย
สถานการณ์ที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้จะเป็นเกาะที่ตั้งอยู่กลางทะเล ก็ยังมีความเสี่ยง ล่าสุดมีประกาศจากโรงพยาบาลเกาะพะงัน สรุปตัวเลขผู้ป่วยโควิดยืนยันที่รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล จำนวน 8 ราย เกือบครึ่งติดเชื้อเชื่อมโยงมาจากทองหล่อ และที่เหลืออีกหลายคนติดเชื้อมาจากแหล่งท่องเที่ยวและสถานบันเทิง
ทางโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ดำเนินการตรวจเชิงรุก โดยเฉพาะกลุ่มใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน อีกราวๆ 40 ราย กำลังรอผล
ล่าสุดเพื่อความไม่ประมาท ทางเกาะพะงันได้เตรียมโรงพยาบาลสนามเอาไว้แล้ว ที่ศาลาประชาคมอำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี