พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร.5) และผู้บัญชาการกองกำลังเทพสตรี ซึ่งรับผิดชอบชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.ระนอง และชุมพร ให้สัมภาษณ์ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงการเตรียมความพร้อมสถานที่ เพื่อรองรับชาวเมียนมาอพยพหนีภัยความรุนแรง จากปัญหาการเมืองภายในประเทศ
เป็นการดำเนินนโยบายของฝ่ายความมั่นคงท่ามกลางความกังวลจากหลายฝ่ายว่า "พื้นที่พักรอชั่วคราว" ที่เตรียมไว้นี้ สุดท้ายจะบานปลายกลายเป็น "ศูนย์อพยพ" ซ้ำรอยชายแดนทางภาคเหนือ และเป็นภาระระยะยาวที่ไทยต้องแบกรับ
"เป็นการเตรียมความพร้อมเท่านั้นเอง ด้านชุมพร ระนอง ยังไม่มีเหตุการณ์ถึงขนาดนั้น แต่ถ้าเกิดว่ามีเหตุการณ์การสู้รบกัน และมีการประท้วงกัน มีการใช้กำลังกันในเมียนมา ถ้ามีประชาชนคนไทยหรือประชาชนพม่า หรือใครก็ตามที่หนีภัยความเดือดร้อนจากการสู้รบอะไร เราก็ต้องเตรียมการ เพราะเขาหนีเขาก็ต้องหนีมาทางไทย เราต้องเตรียมการในการสกัดกั้น เตรียมการที่จะดูแลตามหลักมนุษยธรรม"
การจัด "พื้นที่พักรอชั่วคราว" สำหรับชาวเมียนมา ไม่ได้มีแค่ระนองและชุมพรเท่านั้น
"เราเตรียมการมาตั้งแต่เชียงราย คือ อ.แม่สาย และ จ.ตาก ที่ อ.แม่สอด กองทัพบกเตรียมการมาตั้งแต่โน่นเลย เราเตรียมการมาหมด เพราะสถานการณ์ในพื้นที่เมียนมา เราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาบ้าง เราก็ทำได้แค่ติดตามดู ตามข่าว ถ้าเกิดมีการสู้รบ มีการประท้วงกัน หรือมีการสลายการชุมนุม ประชาชนหรือคนไทยในเมียนมาหนีมา เราก็ต้องรับ แต่ถ้าไม่ใช่คนไทย เราก็ต้องสกัดกั้นก่อน เมื่อเป็นการหนีภัยความรุนแรงทางการเมือง ตามหลักมนุษยธรรมเราต้องดูแลและรับเข้ามาให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย หลังจากนั้นเมื่อเหตุการณ์เงียบเราก็ถึงจะผลักดันกลับไป"
ย้ำว่าสถานการณ์ ณ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นเตรียมการ ยังไม่ได้รับผู้ลี้ภัย หรือคนที่หลบหนีข้ามแดนจากสถานการณ์การเมืองในเมียนมา
"เป็นการเตรียมการเฉยๆ ถ้าเกิดเราไม่มีการเตรียมการ อยู่ๆ เขาเข้ามา เราไม่พร้อม เราก็ไม่รู้ว่าควรจะทำอะไร ใครอยู่ตรงไหน ใครจะดูแลเรื่องสาธารณสุข เพราะถึงอย่างไรก็ต้องตรวจโควิด แล้วเราจะเตรียมพร้อมอย่างไร ถ้าเราไม่เตรียมการ เกิดเขาเข้ามาแล้วใครจะปฏิบัติตรงไหน จะสอบถามใครตรงไหน อย่างไร อาหารการกินจะอย่างไร พวกนี้เราต้องมีการเตรียมการ ส่วนเหตุการณ์จริงอาจจะมีหรืออาจจะไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีเราก็เตรียมพร้อมแล้วว่าใครทำอะไรอย่างไร เมื่อเกิดเหตุเราสามารถรับมือได้ทัน"
การเตรียมการครั้งนี้ เพื่อรองรับคนถึง 5 กลุ่มด้วยกัน
"สำหรับพื้นที่ของเราคือ ระนอง ชุมพร เราแบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง คือ คนไทย กลุ่มที่ 2 ประชาชนชาวเมียนมา กลุ่มที่ 3 ชนกลุ่มน้อย กลุ่มที่ 4 เป็นนักการเมืองของเมียนมา กลุ่มที่ 5 เป็นชาวต่างชาติที่ไม่ใช่เมียนมา และไม่ใช่คนไทย เรารับหมด เราแบ่งเป็น 5 กลุ่ม เรามีแผน แต่ละกลุ่มเราแยกการอยู่การพำนักหมด โดยได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทยด้วย"
"เราแยกทั้งหมดออกเป็นกลุ่มๆ เราจะดูแลด้วยหลักมนุษยธรรม ดูแลความเป็นอยู่ ดูแลสิ่งต่างๆ ที่เราทำได้ แต่เมื่อเหตุการณ์สงบลง เราก็ต้องผลักดันให้กลับสู่ประเทศต้นทางให้เร็วที่สุด"
สำหรับชาวต่างชาติต้องมีวิธีการที่แตกต่างเพิ่มเติมขึ้นมาอีก
"ชาวต่างชาติเราก็ต้องดูว่าอยู่ประเทศไหน เราก็ติดต่อทางสถานทูต ถ้าเป็นคนทางการเมืองก็ส่งกลับไป ถ้าชนกลุ่มน้อยเราก็ต้องผลักดันออก กลุ่มติดอาวุธเราก็ต้องผลักดันออก ถ้าคนไทยก็ต้องรับเข้า ถ้าเมียนมาเหมือนกันก็ต้องส่งกลับศูนย์ประสานงานชายแดนไทยเมียนมา"
"แต่ถ้าจู่ๆ จะมาเลย โดยที่สถานการณ์ยังปกติ มีการสลายการชุมนุมเล็กๆ น้อยๆ เขาจะเข้ามา เราก็ไม่ให้เข้า ตอนนี้ยังไม่มีใครเข้ามาได้เลย ก็อยากบอกว่าตอนนี้เราแค่เป็นการเตรียมการ ยังไม่มีการรับเข้ามา ไม่ต้องตื่นตระหนก ถึงแม้จะมีการเข้ามาเราก็มีสถานที่ เราไม่ปะปนกับคนไทย เราไม่ต้องกลัวโควิดจะเข้ามา เรามีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีการสกัดกั้น มีการสกรีน มีการคัดกรอง"
ย้ำว่าเป็นแค่การเตรียมการ ยังไม่มีภาวะทะลัก ขออย่าตื่นตระหนก
"แม้ในที่สุดชาวเมียนมาจะเข้ามา ประชาชนคนไทยก็ไม่ต้องเป็นห่วง เราทำในฐานะเขาเป็นมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าชาติศาสนาไหน เราช่วยในฐานะที่เขาเดือดร้อน เราดูแลตามหลักมนุษยธรรม"