10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันธรรมนูญ แต่ปีนี้ถือว่ามีความพิเศษ เพราะเป็นปีที่รัฐธรรมนูญถูกหยิบมาเป็นประเด็นทางการเมือง ถึงขั้นมีม็อบผุดขึ้นทั่วประเทศ
ตลอดปี 63 แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ยังมีกระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในลักษณะ "ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ" ทำให้บางฝ่ายตั้งความหวังว่า อีกไม่นานเกินรอจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เชื่อกันว่าเป็น "ฉบับประชาชน" ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่กล่าวกันว่า "สืบทอดอำนาจจาก คสช."
ก่อนอื่นเราไปย้อนดูไทม์ไลน์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันก่อน ว่าจะรวดเร็วทันใจฝ่ายที่อยากได้รัฐธรรมนูญใหม่จริงหรือไม่
เริ่มจากสถานะปัจจุบัน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 อยู่ระหว่างพิจารณาวาระ 2 หรือ "ขั้นแปรญัตติ" โดยคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฯ ได้ประชุมนัดแรกกันไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. มีกรอบเวลาพิจารณา 45 วัน แต่ขอขยายเวลาได้ไม่มีกำหนด
นับเวลา 45 วัน จากวันที่ 24 พ.ย. จะไปตกที่วันที่ 1 ม.ค.64 ซึ่งหากไม่มีการขอขยายเวลา จะมีการส่งร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการฯแล้ว เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่ออภิปรายและลงมติวาระ 2 แบบรายมาตรา ในวันที่ 18-19 ม.ค.64
เมื่อลงมติรายมาตราเสร็จเรียบร้อย จะต้องทิ้งไว้ 15 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก่อนนัดลงมติวาระ 3 ในวันที่ 4 ก.พ.64 หากที่ประชุมให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 369 เสียงขึ้นไป (จากเสียงสมาชิก 2 สภาเท่าที่มีอยู่ 737 เสียง แยกเป็น ส.ส. 487 เสียง และ ส.ว. 250 เสียง) โดยในจำนวน 369 เสียง จะต้องมี ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คนด้วย และต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลและไม่ได้เป็นประธานกับรองประธานสภาอีก 20%
***เงื่อนไขการผ่านวาระ 3 คะแนนเสียงเห็นชอบจะไม่ใช่ 367 เสียงขึ้นไป และต้องมี ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 82 เสียงตามที่โหวตผ่านวาระ 1 มา เพราะขณะนี้ ส.ว.มีสมาชิกครบ 250 คนแล้ว จากที่เพิ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส.ว.โดยตำแหน่ง จากผู้นำเหล่าทัพจำนวน 5 คน ทำให้สมาชิก 2 สภา มีทั้งสิ้น 737 เสียง (จากเดิมวาระ 1 มี 732 เสียง) แยกเป็น ส.ส. 487 เสียง และ ส.ว. 250 เสียง เหตุนี้เสียงให้ความเห็นชอบจึงขยับขึ้นเป็น 369 เสียงขึ้นไป และจะต้องมี ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คนด้วย
ถ้าผ่านด้วยเสียงตามนี้ ก็จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 นำไปสู่การลงประชามติ ภายใน 120 วัน ซึ่งก็คือภายในวันที่ 5 มิ.ย.64 นั่นเอง
หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อให้มีผลบังคับใช้ จากนั้นจะเริ่มกระบวนการสรรหา ส.ส.ร. ตั้งแต่รับสมัคร ไปจนถึงการลงคะแนนเลือกตั้ง (บางส่วนหรือทั้งหมด) ใช้เวลาอีกอย่างน้อยๆ 3 เดือน
เมื่อได้ ส.ส.ร.แล้ว จะใช้เวลาสูงสุดอีก 240 วันในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรอบเวลาก็จะไปตกที่ประมาณกลางปี 65 เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น อาจต้องทำประชามติอีก 1 ครั้ง ภายใน 120 วัน ก็คือ 4 เดือน กว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้หลังผ่านประชามติ ก็ราวๆ ไตรมาสสุดท้ายของปี 65 หลังจากนั้นจึงยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ได้ราวๆ ปี 66 ซึ่งก็ใกล้เคียงกับวาระของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะหมดวาระช่วงกลางปี 66 พอดี
ถ้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกรอบเวลานี้ ก็จะกลายเป็นว่ารัฐบาลไม่ได้เสียหายอะไรเลย เพราะวาระของรัฐบาลก็จะหมดช่วงกลางปี 66 อยู่แล้ว สวนทางกับกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการให้รีบพ้นจากตำแหน่งไปเร็วๆ
แต่แนวโน้มของการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังจะเป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลกำหนด ทั้งเนื้อหาและกรอบเวลา เนื่องจากรัฐบาลกุมเสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการฯ ที่พิจารณาวาระ 2 อยู่ในปัจจุบัน
โดยกรรมาธิการมีทั้งสิ้น 45 คน แบ่งเป็น ส.ว. 15 คน ที่เหลือเป็น ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ขณะที่สัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐมีอยู่ 8 คน เมื่อนำไปรวมกับ ส.ว. 15 คน ก็จะกลายเป็น 23 เสียง เกินกึ่งหนึ่งพอดี โดยการโหวตในแต่ละมาตราในวาระ 2 รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากเท่านั้น ไม่มีเงื่อนไขอื่น ฉะนั้นทุกประเด็นที่มีการแก้ไข หาก ส.ส.พลังประชารัฐจับมือกับ ส.ว. ก็จะโหวตชนะทุกประเด็น
หนำซ้ำเมื่อเจาะดูเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็น "ร่างของรัฐบาล" จะพบว่า มีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยากขึ้นกว่าปัจจุบัน (ซึ่งยากอยู่แล้ว) เสียอีก โดยกำหนดให้เสียงเห็นชอบในวาระ 1 กับวาระ 3 ต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ 2 สภา ซึ่งก็คือ 442 เสียง มากกว่าปัจจุบันที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องการเสียงสนับสนุน 369 เสียง เพียงแต่ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียงด้วย
เมื่อย้อนดูเสียง ส.ส.ฝ่ายค้านปัจจุบัน มีอยู่เพียง 212 เสียง ขาดอีกถึง 230 เสียง จึงสรุปได้ว่าถ้าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ด้านหนึ่งก็จะนำไปสู่การมี ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับที่ผ่านการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องใช้อีกอย่างน้อยๆ 2 ปี เพื่อรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่สามารถริเริ่มแก้ไขโดยฝ่ายค้านได้เลย เรียกได้ว่าเป็นการ "ปิดประตูแก้รัฐธรรมนูญ" เลยก็ว่าได้
เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ หากผ่านวาระ 3 และต้องทำประชามติ แล้วฝ่ายค้านหรือม็อบนอกสภาไม่พอใจ พากันไปรณรงค์ให้คว่ำประชามติ ก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้น ก็จะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ยังไม่แก้ไขต่อไป แต่ถ้าประชามติผ่าน เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะโครงสร้างของ ส.ส.ร. และกรอบเวลาการยกร่าง ก็จะเป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการทั้งสิ้น
ฉะนั้นรัฐบาลจึงมีแต่ "ได้กับได้" ในเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญหนนี้...
คำถามก็คือ พรรคร่วมฝ่ายค้านกับม็อบนอกสภาจะยอมให้เป็นแบบนั้นหรือไม่ ถ้าไม่...ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมกลายเป็นชนวนการเมืองร้อนในปี 64 ที่กำลังจะมาถึงอย่างแน่นอน!
-----------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : เกม เนชั่นทีวี เอื้อเฟื้อภาพกราฟฟิกพานรัฐธรรมนูญ