ที่ประชุมคณะรัฐมนนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 15 ก.ย.63 ให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก (รองผบ.ทบ.) เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คนใหม่ตามคาด
เป็นการนั่งเก้าอี้เลขาธิการ สมช. ต่อจาก พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.ที่จะถึงนี้
ประวัติ พล.อ.ณัฐพล หรือ "บิ๊กเล็ก" เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 20 (ตท.20) และนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 31 (จปร.31) รุ่นเดียวกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. แถมยังมีโปรไฟล์เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก และวิทยาลัยการทัพบกด้วย
เส้นทางชีวิตราชการเติบโตมาในสายยุทธการ ในกรมยุทธการทหารบก ตั้งแต่ประจำกรม, รอง ผอ.กอง, หัวหน้ากอง, ฝ่ายเสนาธิการ, รองเจ้ากรมฯ, เจ้ากรมฯ ก่อนจะขยับขึ้นเป็นรองเสนาธิการทหารบก, เสนาธิการทหารบก สมัยที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เป็น ผบ.ทบ. และตำแหน่งสุดท้าย รอง ผบ.ทบ. รวมถึง ผู้ช่วย ผอ.รมน. หรือผู้ช่วยผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดย ผอ.รมน. ก็คือนายกรัฐมนตรี
"บิ๊กเล็ก" ยังเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 59 ถึงวันที่ 21 พ.ค. 62 ด้วย
พล.อ.ณัฐพล ถือเป็นนายทหารที่ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา โดย พล.อ.ณัฐพล ได้รับแต่งตั้งให้ช่วยงานใน ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ประธาน ศบค.ชุดเล็ก และยังเป็นรองหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลาง ศบค.ด้วย
ผลงานสำคัญที่หลายคนจำได้ คือตั้งโต๊ะเจรจากับกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการสกัดโควิดของรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มสถานบันเทิง พร้อมเสนอแนวทางการผ่อนคลาย ปลดล็อก จนได้รับการยอมรับจากทั้งกลุ่มอาชีพที่เดือดร้อนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังมีข่าวว่า "บิ๊กเล็ก" คือผู้ที่เสนอแผนงานและมาตรการหลายๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาโควิด และเป็นคนที่รับคำสั่งสายตรงจากนายกรัฐมนตรีมากที่สุดคนหนึ่ง
บทบาทอันโดดเด่นของ พล.อ.ณัฐพล ในช่วงหลังๆ ทำให้มีข่าวลือหนาหูว่า เขาอาจเบียดแซงแคนดิเดตคนอื่นๆ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. หรือย้ายข้ามห้วยไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในอายุราชการ 1 ปีที่เหลืออยู่ แต่ดูเหมือนจะติดปัญหาเจอแคนดิเดตสายแข็งยิ่งกว่า ฉะนั้นเมื่อมีมติ ครม.แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แบบนี้แล้ว ข่าวลือทุกข่าวคงต้องเงียบเสียงลง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้กับคำถามจากบางฝ่ายที่ว่า ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. กำลังถูกใช้เสมือนหนึ่งเป็น "เก้าอี้อะไหล่ของกองทัพ" ในยามที่จัดโผไม่ลงตัวหรือไม่ นอกเหนือจากข้อสังเกตที่ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เป็นทหารอีกแล้วหรือ หนำซ้ำยังเป็นบุคคลจากนอกหน่วยที่ไม่ได้เติบโตหรือเป็น "ลูกหม้อ สมช." ด้วย
เพราะ พล.อ.ณัฐพล เป็นนายทหารระดับสูงคนที่ 4 ต่อเนื่องกันที่โยกจากกองทัพมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช.เป็นต้นมา เริ่มจาก พล.อ.ทวีป เนตรนิยม ในปี 58 ตามด้วย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ และ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา โดยที่ทั้งหมดไม่เคยรับราชการใน สมช.มาก่อน แต่เป็นนายทหารจากฝั่งกองทัพทั้งสิ้น (ก่อนหน้า พล.อ.ทวีป เป็นพลเรือน คือ นายอนุสิษฐ คุณากร)
เมื่อครั้งที่มีการประชุม สมช.ครั้งล่าสุดที่นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานเมื่อวันที่ 27 ส.ค.63 มีวาระพิจารณาแต่งตั้งเลขาธิการ สมช.คนใหม่ และมีข่าวว่าจะโอน พล.อ.ณัฐพล จากรองผบ.ทบ. มาเป็นเลขาธิการ สมช. คนใหม่ ปรากฏว่ามีผู้สื่อข่าวสอบถามนายกฯในประเด็นนี้ ซึ่งนายกฯก็ให้คำตอบเอาไว้แบบมีนัย
"เป็นเรื่องของการพิจารณาร่วมกันถึงความเหมาะสมและความเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งจะมีองค์ประกอบหลายอย่าง จะมีทั้งความอาวุโส และความเหมาะสมด้วย หากเข้าเกณฑ์ก็ตั้งได้ ข้อสำคัญ ผมไม่ได้ตั้งญาติผมมาเป็นนะ คุยกัน เข้าใจกันหมดแล้ว พูดคุยกับรองเลขาฯ แล้ว ท่านก็แฮปปี้ดีไม่มีปัญหาอะไร" ประโยคนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่าไม่มีปัญหาภายในหน่วยงาน แม้ไม่ได้ตั้งคนที่เป็นลูกหม้อขึ้นมาทำหน้าที่ก็ตาม
เมื่อถามต่อว่า ตกลงเลขาฯสมช.คนใหม่จะเป็นทหารอีกใช่หรือไม่ นายกฯ ย้อนถามกลับว่า "แล้วมันเป็นยังไง ทำไมรังเกียจทหารกันนักหนา ซึ่งคนในที่เป็นรองเขาก็ขึ้นมาคนหนึ่ง"
เมื่อซักอีกว่า ใช่คนที่เป็นข่าวหรือไม่ (หมายถึง พล.อ.ณัฐพล) พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า "ก็เขาทำงานดีหรือเปล่าล่ะ และเขาควรทำต่อมั้ยล่ะ เราต้องมองในแง่นี้สิ สถานการณ์มันเป็นอย่างนี้อยู่ เรื่องโควิด เรื่องอะไรต่ออะไรด้วย ความเหมาะสม"
เป็นที่น่าสังเกตว่า สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า สมช.นั้น เป็นส่วนราชการซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากรม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2502 โดยอยู่ในกลุ่มงานด้านนโยบายในสำนักนายกรัฐมนตรี มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหัวหน้าส่วนราชการ ในฐานะ "ข้าราชการพลเรือนระดับปลัดกระทรวง (ระดับ 11)" เหตุนี้เองการนำนายทหารจากฝั่งกองทัพมานั่งเก้าอี้นี้ จึงต้องโอนย้ายมา เพราะไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนตามที่ระบุในกฎหมาย
แม้ที่ผ่านมาจะมีเลขาธิการ สมช.มาแล้วถึง 22 คน และส่วนใหญ่จะมียศทหารนำหน้า แต่ก็มีหลายๆ ช่วงเวลาอยู่เหมือนกันที่ผู้บริหาร สมช.ในยุคนั้นๆ พยายามสร้างระบบให้ "คนใน" ได้สั่งสมความรู้ความสามารถ และก้าวขึ้นเป็นผู้นำหน่วยได้อย่างสมศักดิ์ศรีในฐานะ "ลูกหม้อ" ของงานความมั่นคง แต่แล้วก็ถูกฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง ไม่เว้นแม้กระทั่งฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐบาลทหาร
อย่างในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีการสั่งย้ายเลขาธิการ สมช.ที่เป็น "ลูกหม้อ" ชื่อ นายถวิล เปลี่ยนศรี แล้วสร้างประวัติศาสตร์ตั้งผู้นำตำรวจขึ้นมาทำหน้าที่เลขาฯสมช. เพื่อแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลักดันญาติของตนเองขึ้นเป็น ผบ.ตร.
คำถามคือ วิธีคิดลักษณะนี้ของฝ่ายการเมืองสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ สมช.ที่ว่า "เป็นองค์กรที่มีความสามารถพร้อม เป็นผู้นำด้านการจัดการความมั่นคงของชาติให้มีความสมดุลระหว่างความมั่นคงและการพัฒนา" หรือไม่
รวมไปถึงพันธกิจสำคัญในด้านการเสนอนโยบายยุทธศาสตร์ และแผนด้านความมั่นคงแห่งชาติให้สอดคล้องกับสถานกาณ์และการเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคง การเตรียมความพร้อมแห่งชาติ และบริหารวิกฤติความมั่นคงในการรับมือภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ
เพราะ "ภัยคุกคาม" ทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่ภัยคุกคามทางการทหาร แต่ยังมีภัยธรรมชาติ โรคระบาด หรือแม้แต่สงครามเศรษฐกิจ ในขณะที่สมรภูมิการสู้รบได้ขยายไปสู่โลกเสมือนจริงอย่าง "โลกไซเบอร์" อย่างสมบูรณ์แล้ว!
-----------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
รู้จัก "พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา" ว่าที่ เลขาฯสมช.ต่อคิวคนที่ 3 ข้ามห้วยจากกองทัพ