มีความคืบหน้าเหตุระเบิดชุด รปภ.ครู 2 จุด ใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ส.ค.63 ทำให้ทหารพรานเสียชีวิตจุดละ 1 นาย
โดยเหตุระเบิดที่ อ.ระแงะ บริเวณคอสะพานใกล้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กาลิซา มีรายงานกำลังพลได้รับบาดเจ็บรวมแล้วถึง 6 นาย จากเดิมที่ระบุว่ามีแค่ 3 นาย ส่วนผู้เสียชีวิตยังคงมี 1 นายเท่าเดิม
รายชื่อผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ประกอบด้วย
1) ส.ต.บึงกาฬ หารสาร (เสียชีวิต)
2) อส.ทพ.ฐิติพงศ์ ยอดทอง บาดเจ็บ
3) อส.ทพ.รุสมาน นาเดวี บาดเจ็บ
4) อส.ทพ.มามะ สาอุดรมืองาลี บาดเจ็บ
5) อส.ทพ.อาดัม บินมะ บาดเจ็บ
6) อส.ทพ.สมมาตร จินเฮือน บาดเจ็บ
7) อส.ทพ.ยงยุทธ์ พิมธ์พาผล
ทั้งหมดสังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4508 และผู้บาดเจ็บทั้ง 6 นายถูกส่งไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส
ส่วนพื้นที่บ้านปะกาลือสง ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นจุดที่คนร้ายวางระเบิดโจมตีชุด รปภ.ครู อีก 1 จุดนั้น ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 เม.ย.63 ได้เกิดเหตุยิงปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัย ทำให้สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิตถึง 3 ราย เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 1 นาย (อ่านประกอบ : คาดทีมปล้นร้านทองนาทวี! ปะทะที่หนองจิก ปัตตานี ดับ 3) โดยบ้านปะกาลือสงนี้ เมื่อ 13 ปีที่แล้วเคยเป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มก่อความไมสงบและขบวนการแบ่งแยกดินแดน ถึงขนาดจัดชุมนุมขับไล่ทหารออกจากพื้นที่และข่มขู่ไม่ให้นักเรียนไปโรงเรียน จนทางการต้องย้ายเด็กนักเรียนออกจากพื้นที่นานถึง 1 ปีการศึกษา (อ่านประกอบ : ย้อนอดีตอิทธิพลมืดบ้านปะกาลือสง ปลุกม็อบถอนทหาร-ห้ามเด็กไปโรงเรียน)
"บิ๊กเดฟ" พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงสาเหตุที่คนร้ายเลือกก่อเหตุโจมตีชุด รปภ.ครู ถึง 2 จุดว่า นายเป็นเพราะเป็นวันเปิดภาคเรียนเต็มรูปแบบวันแรก ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะช่วงที่ผ่านมาเหตุการณ์รุนแรงรูปแบบต่างๆ เงียบไปพอสมควร จึงก็ได้สั่งการให้ทุกฝ่ายดูแลเฝ้าระวัง โดยชุดคุ้มครองครูถือเป็นชุดตั้งรับที่ทำหน้าที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางค่อนข้างยาก และจุดที่คนร้ายก่อเกิดเหตุเป็นจุดบังคับเส้นทาง เช่น ทางโค้ง หรือคอสะพานต่างๆ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามมักคอยอาศัยจังหวะก่อเหตุเสมอ
จากนี้ไปได้สั่งให้หน่วยกำลังเร่งปฏิบัติการเชิงรุก จรยุทธ์เต็มรูปแบบ เพื่อกดดันคนร้ายไม่ให้หลบซ่อนตามพื้นที่ป่าเขาหรือบ้านของผู้ให้การสนับสนุนได้อีก ยืนยันว่าจะต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ทำร้ายประชาชน และกระทำผิดกฎหมายอย่างเข้มแข็งและเด็ดขาด ในส่วนของผู้ที่พร้อมจะเข้ามาพูดคุยเพื่อสร้างความสันติสุข ทางฝ่ายความมั่นคงก็พร้อมจะดูแลอยู่แล้ว จึงขอให้มั่นใจแนวทางที่ทุกฝ่ายกำลังเร่งดำเนินการ
สำหรับสาเหตุที่คนร้ายเปิดปฏิบัติการลอบวางระเบิดชุด รปภ.ครู ถึง 2 จุดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ฝ่ายความมั่นคงยังวิเคราะห์ว่า นอกจากเป็นการถือโอกาสวันเปิดเรียนแบบเต็มรูปแบบวันแรก หลังเจอกับวิกฤติโควิด-19 จนต้องเลื่อนเปิดภาคการศึกษามานานหลายเดือนแล้ว วันที่ 13 ส.ค. ยังตรงกับวันสำคัญของพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะปัตตานี เพราะเป็นวันที่ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำทางจิตวิญญาณของคนปัตตานี หายสาปสูญไปเมื่อปี 2497 หรือ 66 ปีมาแล้ว
"การเลือกวันก่อเหตุที่ตรงกับวันที่หะยีสุหลงหายตัวไป มีนัยสะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสอดรับกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในส่วนกลาง และอาจจะมีนัยเพื่อส่งสัญญาณว่ากองกำลังของขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังมีขีดความสามารถในการก่อเหตุรุนแรงได้อยู่ เพื่อหยุดยั้งการไหลออกของสมาชิกขบวนการส่วนหนึ่งที่ต้องการยุติความเคลื่อนไหว เพราะต่อสู้มานานแต่ยังไม่เข้าใกล้ความสำเร็จ" แหล่งข่าวระดับสูงจากฝ่ายความมั่นคงชายแดนใต้ระบุ
สำหรับ หะยีสุหลง หรือ "ฮัจยีสุหลง" เป็นอดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการเรียนการสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ชายแดนใต้ และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนปัตตานีในยุคนั้น
หะยีสุหลง เคยยื่นขอเรียกร้อง 7 ข้อให้กับรัฐบาลในส่วนกลาง เพื่อให้ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมสามารถปกครองตนเอง มีผู้นำของตนเองที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถกำหนดนโยบาย จัดเก็บภาษี และบรรจุคนมุสลิมเข้ารับราชการได้ 80% และใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
ข้อเสนอ 7 ข้อนี้ถูกรัฐบาลในสมัยนั้น ภายใต้การนำของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มองว่ามีแนวคิดกบฏ จึงสั่งจับกุมดำเนินคดี และต้องถูกตัดสินโทษจำคุกถึง 4 ปี 8 เดือน เมื่อพ้นโทษ หะยีสุหลง กลับไปสอนหนังสือที่ปัตตานี และได้รับความเคารพศรัทธาจากคนในพื้นที่อย่างมาก สุดท้ายเขาถูกตำรวจสันติบาลเรียกตัวไปที่ จ.สงขลา และหายตัวไปเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2497 โดยภายหลังมีการเปิดเผยว่า หะยีสุหลง ถูกสังหาร และถูกจับถ่วงนำที่ทะเลสาบสงขลา (อ่านประกอบ : เด่น โต๊ะมีนา : 7ข้อฮัจยีสุหลง–5ข้อ BRN รัฐให้ได้ภาคใต้สงบ)