เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย (ทหาร ตำรวจ ปกครอง) สนธิกำลังเข้าพิสูจน์ทราบในพื้นที่บ้านปะกาลือสง ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังได้รับแจ้งข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลต้องสงสัยก่อความไม่สงบ จนนำไปสู่การปิดล้อมยิงปะทะกัน กระทั่งกลุ่มติดอาวุธถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม 3 รายนั้น
จากการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล พบว่าทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาที่มีหมายจับในคดีความมั่นคงสำคัญๆ หลายคดี ทั้งปล้นร้านทองนาทวี จ.สงขลา เดือน ส.ค.ปี 62 (กวาดทองมูลค่า 85 ล้านบาท) โจมตีจุดตรวจ ชรบ.กอแลปิเละ อ.เมืองปัตตานี เดือน ก.ค.ปีเดียวกัน และคาร์บอมบ์บิ๊กซี ปัตตานี เดือน พ.ค.ปี 60
จุดเกิดเหตุปะทะเป็นบ้านของชายชราคนหนึ่งในหมู่บ้านปะกาลือสง ทำให้น่าสงสัยว่าการเข้าไปซ่อนตัวพักแรมในหมู่บ้านแห่งนี้ สะท้อนนัยอะไรหรือไม่?
ชื่อของหมู่บ้านปะกาลือสงอาจไม่ค่อยคุ้นหูคนทั่วไปมากนัก แต่สำหรับคนที่เกาะติดสถานการณ์ในพื้นที่มาตั้งแต่ต้นจะทราบว่า ช่วงแรกๆ ของเหตุการณ์ความไม่สงบที่ปะทุขึ้นเมื่อต้นปี 47 บ้านปะกาลือสงและบริเวณใกล้เคียงถือเป็นพื้นที่ที่กลุ่มก่อความไม่สงบมีอิทธิพลต่อชาวบ้านอย่างมาก
พื้นที่แห่งนี้เคยเกิดกรณีชาวบ้านรวมตัวประท้วงกดดันให้ทหารพรานถอนกำลังออกจากหมู่บ้าน และกลุ่มก่อความไม่สงบข่มขู่ชาวบ้านไม่ให้ส่งบุตรหลานไปโรงเรียน จนทำให้โรงเรียนบ้านปะกาลือสงไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ ต้องใช้เวลาทั้งปีกว่าจะคลี่คลายสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ และโรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนสำหรับเด็กๆ อีกครั้ง
ย้อนกลับไปถึงรายละเอียดของเรื่องราวในครั้งนั้น เมื่อเดือน พ.ค.ปี 50 หรือ 13 ปีมาแล้ว จุดเริ่มต้นของความตึงเครียดมาจากกรณีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 1 คนจากเหตุฆ่าตัดคอ เผา และวางระเบิด ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านปะกาลือสง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไปรวมตัวที่ สภ.หนองจิก (โรงพักเก่าอยู่ในตัวอำเภอ ปัจจุบันย้ายออกไปอยู่นอกเมือง ริมถนนสายปัตตานี-หาดใหญ่) เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว แต่ปรากฏว่าตัวผู้ต้องสงสัยไม่ได้ถูกคุมไว้ที่โรงพัก ทว่าส่งไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แล้ว มวลชนจึงกลับไปชุมนุมรวมตัวกันที่โรงเรียนบ้านปะกาลือสงแทน มีทั้งเด็ก ผู้หญิง และผู้ชาย รวมกว่า 300 คน
ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 4305 (ร้อย ทพ.4305) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่นี้ ได้ส่งกำลังเข้าไปควบคุมสถานการณ์ และส่งตัวแทนเข้าไปเจรจากับผู้ชุมนุม แต่กลับถูกผู้ชุมนุมจับเป็นตัวประกัน โดยผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ถอนกำลังทหารพรานออกจากพื้นที่ด้วย มีการเจรจากันยืดเยื้อนานกว่า 5 ชั่วโมง จนมีการยื้อแย่งตัวประกัน หวุดหวิดเกิดความรุนแรง แต่สุดท้ายผู้ชุมนุมก็ยอมสลายตัว
เหมือนทุกอย่างจะจบลงด้วยดี แต่ในวันที่ 18 พ.ค.50 ได้มีกลุ่มก่อความไม่สงบเคลื่อนไหวข่มขู่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ให้ส่งลูกหลานไปเรียนที่โรงเรียนบ้านปะกาลือสง เพื่อเป็นการสร้างเงือนไขต่อรองให้ถอนกำลังทหารพรานออกจากพื้นที่ จนทำให้ไม่มีเด็กกล้าไปโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่กล้าส่งลูกไป เพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย มีเพียงครูที่ยังไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ แม้ไม่มีเด็กนักเรียนเลยก็ตาม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทางจังหวัดแก้ปัญหาด้วยการให้ย้ายเด็กนักเรียนไปเรียนที่โรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงแทน แต่ก็มีผู้ปกครองเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ยอมส่งบุตรหลานไป เพราะส่วนใหญ่ยังไม่ยอมส่งเด็กในความดูแลของตนไปเรียนหนังสือ โดยให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยที่ถูกข่มขู่เอาไว้ ฉะนั้นหากยังไม่มีการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ก็จะยังไม่กล้าส่งลูกไปเรียน
เมื่อพยายามเจรจากับชาวบ้านให้ส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือไม่ได้ ทางจังหวัดจึงสั่งปิดโรงเรียน และให้ครูโรงเรียนบ้านปะกาลือสงกระจายไปช่วยราชการในโรงเรียนใกล้เคียงเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะแก้ปัญหาได้จบ
นับจากนั้นทางจังหวัดปัตตานีได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าไปแก้ปัญหา โดยการลงพื้นที่พบปะทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มสตรี ผู้ปกครอง และชาวบ้านทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
จุดเปลี่ยนสำคัญอีกประการหนึ่งอยู่ที่ปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงที่สามารถวิสามัญฆาตกรรมแกนนำสำคัญได้ 2 ราย คือ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.50 นายมูฮำหมัดฮามิง หะยีดือราแม ครูตาดีกาใน ต.ตุยง พื้นที่ปะกาลือสง ถูกวิสามัญฯในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และอีกรายคือ นายฮาเล็ง แวสุหลง อดีตครูสอนศาสนา แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบคนสำคัญที่มีอิทธิพลในพื้นที่ ถูกวิสามัญฯใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี รวมไปถึงมีการปราบปรามและกดดันอย่างหนัก ทำให้สามารถจับกุมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้จำนวนมาก และมีบางส่วนหลบหนีออกไปนอกพื้นที่
ผลจากการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ ทำให้ชาวบ้านคลายความหวาดกลัวอิทธิพลของกลุ่มก่อความไม่สงบ และในวันที่ 23 พ.ค.51 โรงเรียนบ้านปะกาลือสงก็ได้กลับมาเปิดการเรียนการสอน และพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถส่งลูกหลานกลับมาเรียนได้อีกครั้ง สถานการณ์ที่บ้านปะกาลือสงก็ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติ และเงียบสงบเรื่อยมานานนับสิบปี กระทั่งเกิดเหตุยิงปะทะและวิสามัญฆาตกรรม 3 ศพเมื่อวันที่ 30 เม.ย.63
ต้องรอดูว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะก่อผลข้างเคียงอะไรหรือไม่ ณ หมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์ในสถานการณ์ความไม่สงบ...แห่งนี้
---------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพป้ายเก่าของโรงเรียนบ้านปะกาลือสง จากเฟซบุ๊กโรงเรียนบ้านปะกาลือสง ส่วนภาพตั้งด่านในเวลากลางคืน ถ่ายไว้หลังเหตุการณ์วิสามัญฯ 3 ศพ 30 เม.ย.
อ่านประกอบ :