"อย่าส่งคนที่ถูกสอบ มีเรื่องมีราวจากที่อื่นมาเติมเชื้อความชั่วร้ายให้ที่นี่เลย...เวลาส่งคนเลวๆ ลงมาในพื้นที่ เขาเอาความเลวมาด้วย แล้วเอามาใช้กับพี่น้องเราที่นี่... นี่คือเรื่องอันตรายที่สุดของพ่อแม่พี่น้องที่ปัตตานี ยืนยันว่าปัญหาจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่ส่งคนเลวลงมา"
เป็นประโยคดุเดือดจากปากของ นายณรงค์พล หมึกทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี ที่ต้องออกหน้าตั้งกรรมการสอบสวนกรณีอดีตลูกจ้างทีโออาร์ของสำนักงาน กล่าวหาผู้อำนวยการส่วนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ฯ เรียกเงินจากลูกจ้างคนละ 1,000-3,000 บาทต่อเดือน ในลักษณะ "เก็บส่วย-หักหัวคิวเข้ากระเป๋า" แลกกับสถานะการเป็นลูกจ้างต่อไป หากใครขัดขืนก็จะถูกเลิกจ้าง (อ่านประกอบ : เหยื่อรีดเงินร้องศูนย์ดำรงธรรมฯ - ตั้งกรรมการสอบ ผอ.ลั่นผิดจริงไม่เอาไว้, เด้ง ผอ.เปิดทางสอบคดีรีดเงินลูกจ้าง)
ท่าทีแบบนี้นับว่าถูกใจชาวบ้าน หลายคนสงสัยว่านายณรงค์พลเป็นคนในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วยหรือไม่ เพราะดูจะเข้าอกเข้าใจปัญหาในดินแดนแห่งนี้เป็นอย่างดี
"ทีมข่าวอิศรา" สอบถามจากคนใกล้ชิดจนทราบว่า ผอ.ณรงค์พล เป็นคนปัตตานีโดยกำเนิด เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ปัตตานี รับราชาการอยู่ในสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี มานานถึง 12 ปี จะเกษียณอายุราชการในปีหน้า
การเป็นคนในพื้นที่ ทำให้รู้ภาษา รู้จักคน จึงเข้าใจความละเอียดอ่อนหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะศาสนาและวัฒนธรรม
"ถ้าลงพื้นที่ไปแบบไม่รู้ภาษา มวนใบจากไม่เป็น ก็คุยกับชาวบ้านรู้เรื่อง หลายคนทำงานเป็นแต่พูดไม่เป็น บางคนพูดถอยหลัง แต่เราต้องเข้าใจชาวบ้าน ต้องรู้จักอัตลักษณ์ ต้องรู้บริบทของคนในพื้นที่ ต้องปล่อยให้ชาวบ้านมวนใบจากต่อหน้าได้ เขาจะได้ไว้ใจและพูดกับเรา ถ้าไม่ให้เขาพูด บอกแต่ว่าหมดเวลาแล้ว ชาวบ้านก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม ปัญหาของชาวบ้านก็จะไม่ได้รับการแก้ไข" ผอ.ณรงค์พล เล่าถึงประสบการณ์จริงในการทำงาน
เรื่องการพูดถอยหลัง หรือการเรียงลำดับประธาน-กิริยา-กรรม ในประโยคไม่ถูกต้องนั้น ผอ.ณรงค์พล มีเรื่องขำๆ มาเล่าแทรกให้ฟัง
"ลูกน้องผมเองมาคุยกับผม ช่วยหน่อยนะ เราก็ถาม...ช่วยเรื่องอะไร ลูกน้องบอกรถจับตำรวจที่ป้อม เราก็บอกว่ารถเอ็งจับตำรวจ เราไปยุ่งไม่ได้ สักพักมันหายไปเป็นชั่วโมง แล้วกลับมาบอกใหม่ว่าตำรวจจับรถมันไว้ที่ป้อม ให้ผมไปเอากลับมาให้หน่อย นี่คือความที่เราเป็นเด็กปัตตานี เราฟังแล้วรู้เรื่อง แต่ต้องไปหัดพูดมาใหม่ แล้วมาบอกให้ถูก"
ผอ.ณรงค์พล บอกว่า จริงๆ แล้วคนในพื้นที่ทำงานเก่ง ทำงานดี เพียงแต่พูดไทยไม่คล่อง พูดผิดพูดถูก แต่ถ้านับเรื่องงาน ต้องให้คนในท้องถิ่นได้ทำงาน แล้วป้องกันการถูกย้ายไปไกลๆ จะได้ไม่เดือดร้อนมาก
"เมื่อก่อนการสอบพนักงานราชการ (สอบบรรจุลูกจ้างเป็นพนักงานราชการ) ต้องไปสอบที่สงขลา ปัญหาอยู่ที่การสอบสัมภาษณ์ เพราะลูกน้องพูดยาวีเป็นประจำ พูดไทยน้อย ก็จะพูดถอยหน้าถอยหลัง ทั้งที่ทำงานดี เดินป่าดี พอมานั่งสอบ อ่านคำถาม มือไม้สั่น พูดไม่ถูก แต่โชคดีที่อธิบดีกรมอุทยานฯท่านนี้ให้ความสำคัญกับการใช้คนในท้องถิ่น ปีนี้เราสอบรับคนเดินป่าล้วนๆ 22 ตำแหน่ง ท่านอธิบดีให้เราจัดสอบเอง ผมประกาศกับลูกน้องว่า มีข้าวอยู่ในกะละมังของสามจังหวัดวางอยู่แล้ว จะแย่งกินอย่างไรเพื่อให้ชนะก็ทำเอาเอง เพราะไม่มีคนข้างนอกแล้ว กรรมการสอบก็เป็นคนในพื้นที่ จะพูดถอยหน้าถอยหลังก็เข้าใจ"
ผอ.ณรงค์พล ย้ำว่า ไม่อยากให้ส่งข้าราชการที่กระทำผิดมาที่สามจังหวัด ในลักษณะเป็นการลงโทษ เพราะคนเหล่านั้นจะสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา
"อย่าส่งคนที่ถูกสอบ หรือมีเรื่องมีราวจากที่อื่นมาเติมเชื้อความชั่วร้ายที่นี่เลย เรารับรู้ทุกเรื่องราว เวลาส่งคนเลวๆ ลงมาในพื้นที่ เขาเอาความเลวมาด้วย แล้วเอามาใช้กับพี่น้องเรา การขึ้นตำแหน่งต่างๆ อย่าส่งคนที่ไม่เคยรู้จักพื้นที่มาอยู่เพื่อเอาตำแหน่งแล้วก็กลับไป ทิ้งให้คนพื้นที่ว้าเหว่ คนที่อยู่ในพื้นที่โตไม่ได้ ขวัญกำลังใจก็จะลดลง ท้ายสุดจากเป็นคนดีก็กลายเป็นคนเฉยๆ เมื่อเขาโตไม่ได้เขาก็จะไม่ทำงาน นี่คืออันตรายที่สุดของพ่อแม่พี่น้องที่ปัตตานี ทุกคนก็จะอยู่ลำบาก ถ้าไม่ส่งคนเลวลงมา ปัญหาก็ไม่เกิดขึ้น มันจะสามารถแก้ไขได้ทุกอย่าง"
ผอ.ณรงค์พล บอกอีกว่า ภารกิจรักษาผืนป่าและแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านในพื้นที่มีมากเกินกว่าจำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่
"เราต้องแก้ไขที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน เรามีพื้นที่ 3 อุทยาน 2 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และ 1 เขตป่าพรุ คนเราไม่พอ เรารับผิดชอบเนื้อที่ล้านกว่าไร่ ที่ดินที่ต้องแก้ อีก 3 แสนไร่ มีข้าราชการ 50 คน ในตึกนี้ (สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ฯ) ก็ไม่พอแล้ว ผมจะกลับจากสำนักงานเป็นคนสุดท้าย ตอน 6 โมงเย็น จะลงพื้นที่โดยส่วนใหญ่ ต้องลงตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ เพราะคนเราน้อยจริงๆ อีกด้านหนึ่งที่ต้องลงไปก็เหมือนไปจับผิดกลายๆ เพราะเราต้องเช็ค เรารับฟังรายงานอย่างเดียวไม่ได้"
การทำงานในพื้นที่ป่าเขาท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ เป็นเรื่องไม่ง่าย และไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในระยะหลังที่กลุ่มติดอาวุธในราวป่ามีหลายฝ่าย ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร
"ที่มีการบอกว่ากลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบค้าไม้ด้วยนั้น ผมคิดว่าตัวเขาไม่ได้ทำ แต่เขาเอื้อให้ทำ เราอยู่ในพื้นที่มานาน สมัยพูโล บีอาร์เอ็น คนที่ส่งเสบียงให้คนเหล่านี้เป็นชาวบ้านธรรมดา แต่ชาวบ้านที่ทำหน้าที่นี้จะได้รับการคุ้มครอง เขาขึ้นไปเก็บทุเรียนได้ ทำสวนได้ ไม่มีใครทำอะไรเขา เหมือนสมัย จคม. (โจรจีนคอมมิวนิสต์) ก็เหมือนกัน ไม่ต่างกันเลย ค่ายโจรอยู่ตรงนี้ เขาก็ทำงานไป แต่เราทำงานยาก"
"เรื่องการเข้าพื้นที่ให้ปลอดภัยเป็นเรื่องยากมาก เพราะโจรมองอยู่ตลอด ถ้าเราเข้าพื้นที่กับทหาร โจรก็มุ่งจะทำร้ายเรา ถ้าเราเดินเฉยๆ เกิดโดนยิง ก็ไม่มีใครช่วย นี่คือความยากลำบาก โดยรวมสถานการณ์ความไม่สงบส่งผลกระทบต่อหน่วยงานเราพอสมควร "
"ที่ผ่านมาเคยมีกลุ่มทำไม้ เราขึ้นไปจับ แต่พบว่าห่างจากจุดทำไม้ 100-200 เมตร มีค่ายผู้ก่อความไม่สงบอยู่บนเทือกเขาบูโด ลูกน้องผมต้องยอมเดินอ้อมป่า จากจุดทำไม้เดินไป 3-4 กิโลฯ ก็เห็นคนสะพายปืน เราไม่รู้ว่ากลุ่มนี้จะทำร้ายเราหรือเปล่า เราไม่รู้ว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบหรือชุดไล่ล่าของฝ่ายความมั่นคงกำลังเดินตามไล่ล่าหรือไม่"
ผอ.ณรงค์พล บอกด้วยว่า เรื่องเหล่านี้อธิบดีรู้ดี และเน้นให้เซฟลูกน้องให้ปลอดภัย
"เพราะต้นไม้ถูกโค่นไปต้นหนึ่ง เราปลูกใหม่ร้อยต้นก็ได้ แต่ถ้าลูกน้องตายไปคนหนึ่ง เราทดแทนให้เขาไม่ได้แม้แต่คนเดียว"
ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ หลักคิด และปรัชญาการทำงานในพื้นที่ปลายด้ามขวานของ ผอ.ณรงค์พล หมึกทอง คนพื้นที่ที่รับอาสาปกป้องผืนป่า ณ ชายแดนใต้