ยังคงมีความเคลื่อนไหวของครอบครัว นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ถูกควบคุมตัวเข้ากระบวนการซักถามในค่ายทหาร เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ปีที่แล้ว จากนั้นก็หมดสติไป กลายเป็นเจ้าชายนิทรา ต้องหามส่งห้องไอซียู ย้ายโรงพยาบาลรักษาถึง 3 โรงพยาบาล แต่ก็เสียชีวิตในที่สุด
กรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ตรวจสอบพบว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้เยียวยาครอบครัวนายอับดุลเลาะเป็นเงิน 1,568,400 บาท แต่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแเดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จ่ายไปเพียง 500,000 บาท บวกกับค่าชดเชยการถูกควบคุมตัวเท่านั้น ทั้งๆ ที่ ครม.มีมติตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.63
หลังจากเรื่องนี้ตกเป็นข่าว พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ออกมาชี้แจงว่า ตัวเลข 1,568,400 บาท เป็นการเยียวยารวม ทั้งที่จ่ายเป็นเงินก้อน และทยอยจ่ายเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่น คุณภาพชีวิตทางด้านการศึกษาบุตรของนายอับดุลเลาะทั้ง 2 คน เป็นค่าเล่าเรียนรายปีจนจบปริญญาตรี (หรือจนกว่าจะอายุ 25 ปีบริบูรณ์) และเบี้ยยังชีพรายเดือนภายในการดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อ่านประกอบ : ศอ.บต.ชงจ่าย 3 ศพเขาตะเวอีกรายละล้าน แจงเยียวยาอับดุลเลาะ 1.5 ล.ไม่ใช่เงินสด)
หลังจาก ศอ.บต.ออกมาแจกแจงเช่นนี้ "ทีมข่าวอิศรา" จึงได้โทรศัพท์ไปสอบถามกับ นายโมฮำหมัดรอฮมัด มามุ ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ เจ้าตัวบอกว่า ได้ข่าวเรื่องการเยียวยาเพิ่มเติมจากการรายงานข่าวของสื่อ ขณะที่หน่วยงานรัฐไม่มีแจ้งเข้ามาเลย ไม่มีเจ้าหน้าที่โทรหาหรือลงพื้นที่มาให้กำลังใจใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับประเด็นที่ครอบครัวของนายอับดุลเลาะ ให้ความสำคัญมากที่สุดในช่วงนี้ คือการไปขึ้นศาลจังหวัดสงขลา เพื่อเบิกความในคดีไต่สวนการตาย ในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.63 เพราะถือว่านายอับดุลเลาะมีอาการหมดสติและนำมาสู่การเสียชีวิตในช่วงที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่ ซึ่งการเสียชีวิตในลักษณะนี้เข้าข่ายที่ต้องมีกระบวนการไต่สวนการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ บอกว่า แม้ครอบครัวจะไม่มีความหวังเรื่องการได้รับความเป็นธรรม แต่ก็ต้องสู้จนกว่าจะได้รับความเป็นธรรม และเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของนายอับดุลเลาะ แต่คนปาตานี (หมายถึงคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมยังมีอีกเยอะ คนอื่นอาจไม่กล้าสู้ หรือมีเหตุผลอื่นที่จะไม่ต่อสู้ แต่ในกรณีของอับดุลเลาะ คนในครอบครัวอยากให้เป็นบทเรียนกับผู้อื่นถึงการไม่ยอมกับความอยุติธรรม
"เราอยากให้หาตัวคนทำผิดมาลงโทษ แต่ในความเป็นจริง คดีนี้ถึงแม้จะเข้าสู่กระบวนการศาล ก็เป็นไปได้ยากที่จะหาตัวคนทำผิดได้ โดยเฉพาะหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ" นายโมฮำหมัดรอฮมัด กล่าว และว่าเป็นครั้งแรกของทุกคนในครอบครัวที่ได้ขึ้นศาล ในครอบครัวตื่นเต้นกันมาก ทราบว่าเรื่องนี้คนในพื้นที่ให้ความสนใจ จึงขอขอบคุณสำนักข่าวอิศราด้วยที่นำเสนอข่าว
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 มิ.ย. "ช่อ" พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ได้เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวนายอับดุลเลาะ พร้อมถ่ายภาพร่วมกับคนในครอบครัว และนายโมฮำหมัดรอฮมัดด้วย โดยในช่วงที่นายอับดุลเลาะเสียชีวิตได้ไม่นาน น.ส.พรรณิการ์ ก็เคยลงพื้นที่ไปเยี่ยมครอบครัวนายอับดุลเลาะมาแล้ว
การเดินทางลงพื้นที่ของแกนนำคณะก้าวหน้า ยังมีภารกิจร่วมงานเปิดศูนย์คณะก้าวหน้าชายแดนใต้ที่ จ.ยะลา พร้อมร่วมวงเสวนาในหัวข้อ "ความยุติธรรมที่เปลี่ยนไม่ผ่าน ท่ามกลางผู้คนและหมุดที่สูญหาย" และได้พบปะกับเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตนมแพะในพื้นที่ เพื่อพูดคุยและรับฟังความต้องการของเกษตรกร จากนั้นได้ทำข้อตกลงร่วมกันผลักดันให้การผลิตนมแพะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถส่งออกและสร้างโรงงานผลิตนมแพะให้เป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 โมฮำมัดรอฮมัด มามุ
2 พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. (คนกลาง) ขณะไปเยี่ยมครอบครัวนายอับดุลเลาะ ช่วงที่จ่ายเยียวยาเมื่อปีที่แล้ว
3 โมฮำมัดรอฮมัด กับ "ช่อ" พรรณิการ์ วานิช