ประเด็นที่คนไทยให้ความสนใจไม่แพ้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็คือการเยียวยาของฝั่งรัฐ โดยเฉพาะการแจกเงินคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งมีทั้ง "ปัญหา" และ "ดราม่า" ไม่น้อยทีเดียว
สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้จ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทตามโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ล็อตแรกไปแล้วราว 1.4 ล้านคน สำหรับสัปดาห์นี้จะมีการจ่ายล็อต 2 เพิ่มเติม
สำหรับคนที่สมหวังบางคน เมื่อได้รับโอนเงินกลับมีการโพสต์ภาพและข้อความเชิงเยาะเย้ย ถากถางรัฐบาล หรือนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ซื้อสุราและกับแกล้ม จนกลายเป็น "ดราม่า 5 พัน" แม้จะเป็นการกระทำของคนส่วนน้อยก็ตาม
บรรยากาศแบบนี้สวนทางกับที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแรง เพราะคนที่นั่นจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับเงิน และรอคอยความช่วยเหลือในฐานความหวังสุดท้าย
เยียวยา 5 พัน ความหวังสุดท้ายของหลายครอบครัว
สัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณหน้าธนาคารของรัฐหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชาชนเดินทางไปรอใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งเกือบทั้งหมดไปรอกดเงินหรือขอให้ธนาคารตรวจสอบว่าได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทหรือยัง ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีเงินเข้าบัญชี
ปาตีเมาะ เย็ง ชาว อ.ยะหา จ.ยะลา วัย 55 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป บอกว่า เดินทางมากับสามี โดยสามีมาเช็คเบี้ยคนชรา ส่วนตนเองมาเช็คเงินเยียวยา 5,000 บาท เนื่องจากมีข้อความระบุว่า "กำลังตรวจสอบ" เพื่อนบ้านบางคนบอกว่าถ้ามีข้อความแบบนี้ เงินอาจเข้าบัญชีแล้ว ก็เลยมาลองเช็คดู แต่ก็ไม่มีเงินเข้า ทั้งเงินเยียวยาและเบี้ยคนชรา
"ก็รู้สึกผิดหวัง เราคนจน คนลำบาก ไม่ได้รับ 5,000 เหมือนคนอื่นที่เขายังมีกิน ขณะที่เราไม่มีกินแล้ว ก็ต้องรอต่อไป วันนี้ยังไม่ได้กินข้าวกันเลย สามีก็เหมือนกัน ลูกที่บ้านอีก 5 คนก็ยังไม่มีใครได้กินข้าว ตั้งใจว่าออกถ้าเงินออก จะเบิกมาซื้อข้าวสาร กะปิ น้ำบูดู และของแห้งที่เก็บได้นานๆ"
ปาตีเมาะ เล่าต่อว่า ที่ผ่านมาก็มีรายได้จากการทำงานเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังพออยู่ได้ เพราะลูกๆ ที่โตแล้วมีงานทำ แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลูกๆ ถูกสั่งให้หยุดงาน ส่งผลให้ครอบครัวลำบากทันที
"ปกติสามีจะกรีดยางได้วันละ 50 บาท ส่วนฉันเองก็รับจ้างทั่วไป ลำพังเราสองคนก็พออยู่ได้ แต่ตอนนี้ลูก 4 คนที่ทำงานอยู่ที่เบตง (อ.เบตง จ.ยะลา) ถูกพักงานเพราะโควิด ทุกคนต้องหยุดงานหมด เขาไม่มีเงิน ก็ต้องกลับมาอยู่กับเรา ทำให้ภาระหนักเลย" ปาตีเมาะ กล่าว และว่า ที่ผ่านมาก็ลำบาก หาเช้ากินค่ำตลอด ก่อนโควิดจะมาก็เดือดร้อนเรื่องราคายางพาราและข้าวของแพงอยู่แล้ว พอโควิดมาอีก ก็ยิ่งซ้ำความความเดือดร้อน
"ตอนนี้ไม่กลัวโควิดแล้ว ใครจะให้ทำงานอะไรก็จะทำ กลัวอดตายมากกว่าโควิด" เธอย้ำ
ขณะที่ ฮามีดะ สาอุ ชาวบ้านจาก ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา บอกว่า มาเช็คเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่เงินไม่เข้า ก็รู้สึกเสียใจ รอมาหลายวันแล้ว
"ตอนนี้เดือดร้อนมาก เพราะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูกทั้งหมด 6 คน บางคนทำงานแล้วแต่ก็ถูกพักงาน ตั้งใจว่าเงินเข้าจะซื้อของกินเอาไว้มากๆ เพราะเราต้องอยู่แบบนี้อีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้ ถ้าได้ 5,000 บาทก็คงไม่ทำให้เราลำบากมาก ที่ผ่านมารับจ้างกรีดยางได้วันละ 100 บาท เสร็จแล้วไปขายของต่อ ก็พออยู่ได้ แต่ตอนนี้ของขายไม่ได้ ตลาดปิด ก็กรีดยางได้อย่างเดียว วันไหนไม่ออกไปกรีดยางก็ไม่มีเงินเลย ก็ต้องอดทนต่อไป จนกว่าโควิดจะหมด" ฮามีดะ กล่าว
"ดราม่า 5 พัน" หลายคนได้แต่ฝัน ไม่มีมือถือ-บัญชีธนาคาร
จากการลงพื้นที่ของ "ทีมข่าวอิศรา" ทั้ง จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พบว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาทของรัฐบาล ผ่านเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน" ซึ่งส่วนใหญ่ยากจนและไม่ได้เรียนหนังสือ
เท่าที่สอบถามสาเหตุที่คนเหล่านั้นไม่ได้ลงทะเบียน แทบทุกคนบอกว่าไม่มีโทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต (สมาร์ทโฟน) เพื่อเชื่อมต่อเว็บไซต์สำหรับลงทะเบียนได้ ขณะที่อีกบางส่วนบอกว่าไม่มีบัญชีธนาคาร
ที่ผ่านมารัฐบาลเคยจำกัดให้เปิดบัญชีธนาคารของรัฐเท่านั้น แต่ต่อมาก็เปิดกว้างให้ใช้บัญชีธนาคารอะไรก็ได้สำหรับรับโอนเงิน แต่ปรากฏว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ไม่มีบัญชีธนาคารใดเลย ช่วงที่พยายามจะไปเปิดบัญชี ก็ติดปัญหาประชาชนแห่ไปธนาคารจำนวนมาก จนมีการปิดสาขาธนาคารไปหลายวัน เมื่อธนาคารเปิดให้บริการอีกครั้ง ก็มีการจำกัดคนที่ไปติดต่อทำธุรกรรม
ขณะที่ชาวบ้านหลายๆ คนมีฐานะยากจนมาก ทำให้ไม่มีแม้กระทั่งเงินไปเปิดบัญชี บางคนอาศัยอยู่ในชนบทห่างไกล ก็ไม่มีกำลังจะเดินทางไปธนาคาร ประกอบกับนับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีข้อห้ามเรื่องธุรกรรมที่มีดอกเบี้ย ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่มีบัญชีธนาคาร
นางลาตีปาร์ มะนาหิง ชาวบ้านจาก จ.ยะลา บอกว่า ตนไม่รู้ว่าจะลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลได้อย่างไร เพราะไม่มีบัญชีธนาคารอะไรเลย ถ้าเรามีสมุดบัญชี อย่างน้อยให้คนอื่นช่วยลงทะเบียนได้ ตอนนี้ได้ยินว่ารัฐบาลจะขยายเวลาจ่ายเพิ่มจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ งานที่เคยรับจ้างรายวันก็ไม่มี ทำให้ต้องอดมื้อกินมื้อ แถมลูกก็ต้องถูกพักงานจากโรคระบาดโควิด-19 ด้วยเช่นกัน
ปัญหาของคนไม่มีมือถือ และไม่มีบัญชีธนาคาร เคยมีหลายคนออกมาท้วงติงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข เช่น นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ก็ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อเรื่อง "ดราม่าห้าพัน" เรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับกลุ่มคนจนจริงๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน และคนที่ไม่มีความสามารถลงทะเบียนได้ ทำให้กลายเป็นกลุ่มตกสำรวจ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพราะเป็นกลุ่มที่เดือดร้อนจริง
ตกงาน-เงินหมด ต้อง"ถือศีลอด"ล่วงหน้า
หลายครอบครัวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีแม้กระทั่งเงินซื้อนมให้ลูกกิน ทำให้เลือกที่จะ "ถือศีลอด" ล่วงหน้า เพื่อประหยัดและเร่งหาเงินมาประทังชีวิต
อัยเสาะ เงาะตาลี ชาว อ.โคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งทำงานหาเช้ากินค่ำ และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนไม่มีรายได้เลย บอกว่า ทุกวันนี้ต้องประหยัดเงินให้ลูกได้กิน ส่วนตนและสามีตัดสินใจ "ถือศีลอด" ในบางมื้อเพื่อประหยัด จะได้เก็บข้าวและเงินที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยไว้ให้ลูก
"ในพื้นที่ไม่มีใครตอบได้ว่าจะต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ไปอีกนานแค่ไหน ที่นี่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซ้ำจากที่ประกาศอยู่แล้วมาตลอด 15 ปี ชาวบ้านหาเช้ากินคำมีข้อจำกัดในการออกไปหารายได้เพื่อมาจุนเจือครอบครัว ลูกขอเงิน เราไม่มีให้ลูก ก็จะอธิบายให้ลูกเข้าใจ และทำขนมให้ลูกกินแทนไปซื้อขนมที่ร้านค้า โชคดีที่ลูกเข้าใจ ส่วนเราคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ถือศีลอด เวลาละศีลอดก็กินข้าวกับน้ำบูดู เพราะต้องประหยัดเท่าที่จะทำได้ เราไม่รู้ว่าวิกฤตินี้จะอีกนานแค่ไหน"
สำหรับการ "ถือศีลอด" หรือ "ปอซอ" เป็นคำสอนของศาสนาอิสลาม โดยใน 1 ปี จะถือศีลอด 1 เดือน ในเดือนรอมฎอน ซึ่งปีนี้เทศกาลถือศีลอดจะเริ่มช่วงปลายเดือน เม.ย. แต่บางครอบครัวตกงานเพราะพิษโควิด ทำให้ไม่มีข้าวกิน จึงใช้วิธี "ถือศีลอดล่วงหน้า" เพื่อเก็บข้าวและเงินเอาไว้ให้นานที่สุด
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ปิดเมือง-ล็อกหมู่บ้านสู้โควิด... หนังชีวิตที่ชายแดนใต้