มาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ใช้การปิดหมู่บ้านซึ่งเป็นพื้นที่แพร่ระบาดนั้น ได้เกิดปัญหาขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเฉพาะกับการประกาศปิด 23 หมู่บ้าน จาก 9 อำเภอของ จ.ปัตตานี ในลักษณะ "คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า"
แม้คำสั่งปิดหมู่บ้านครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเคยมีคำสั่งมาแล้วทั้งที่นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ทว่าครั้งนี้เป็นการปิดจำนวนมาก และยังเป็นการปิดหลังจากใช้มาตรการ "ล็อกดาวน์" ในระดับจังหวัดมาแล้วราวๆ 20 วัน ทำให้เกิดปฏิกิริยาแสดงความไม่พอใจ
สำหรับ 23 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 9 อำเภอของ จ.ปัตตานี ที่ทางจังหวัดมีคำสั่งปิด และห้ามเข้า-ออก ประกอบด้วย
1. หมู่ 6 ต.นาประดู่ และ หมู่ 2 ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์
2. หมู่ 4 ต.บางเขา หมู่ 3 ต.ท่ากำชำ หมู่ 1 ต.คอลอตันหยง และหมู่ 4 ต.ตุยง อ.หนองจิก
3. หมู่1, 3, 5 ต.เขาตูม หมู่3, 4 ต.ปิตูมุดี หมู่ 5 ต.ยะรัง หมู่ 4 ต.สะดาวา และ หมู่ 5 ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง
4. หมู่ 11 ต.ไทรทอง และ หมู่ 3 ต.ดอนทราย อ.สายบุรี
5. หมู่ 4 ต.มะนังดาลำ หมู่ 8 ต.กะดุนง และ หมู่ 3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี
6. หมู่ 8 ต.ตะลุโบะ อ.เมือง
7. หมู่ 2 ต.ตันหยงจึงงา อ.ยะหริ่ง
8. หมู่ 5 ต.ลางา อ.มายอ
9. หมู่ 6 ต.โต๊ะชูด (คุ้มกำปงบารู) ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง
ทางจังหวัดให้เหตุผลในการสั่งปิดหมู่บ้านว่า เป็นเพราะพบป่วยเพิ่มอีก 11 ราย จากเดิม 55 ราย เป็น 66 ราย ประกอบด้วยกลุ่มโยร์ (ชุมนุมทางศาสนา) ที่กลับจากประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 5 คน กลุ่มผู้สัมผัสในครอบครัว 3 คน และกลุ่มผู้ติดเชื้อในชุมชน 3 คน ประกาศเมื่อวันที่ 9 เม.ย.63 ที่ผ่านมา
ฮือไลฟ์สดอ้างรัฐไม่ช่วย - ส่งไลน์ขอรับบริจาค
หลังจากคำสั่งปิดหมู่บ้านมีผลบังคับใช้ ในวันถัดมา คือวันที่ 10 และ 11 เม.ย. ก็มีเสียงสะท้อนจากในหมู่บ้านเหล่านี้ออกมาทางสื่อสังคมออนไลน์ ในรูปของการขอรับบริจาค เพราะได้รับความเดือดร้อนจากการสั่งปิดหมู่บ้าน ไม่มีอาหารและสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต มีการส่งข้อความไปยังกรุ๊ปไลน์ต่างๆ
แต่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุุดคือ การไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กของภรรยาผู้ใหญ่บ้าน บ้านดือราแฮ หมู่ 8 ต.ตะลุโบะ อ.เมืองปัตตานี เพราะภรรยาของผู้ใหญ่บ้านเล่าถึงความกดดันที่ถูกลูกบ้านขอให้ช่วยเหลือเรื่องอาหารและปัจจัย 4 หลังจากปิดหมู่บ้าน จนเธอร่ำไห้ออกมา โดยอ้างว่าตั้งแต่มีคำสั่งปิดหมู่บ้าน ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากราชการ และไม่สามารถเดินทางออกไปไหนได้เลย
ผู้ว่าฯแจงขั้นตอนปิดหมู่บ้าน ทำมานาน ไม่ใช่เพิ่งทำ
ร้อนถึง นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ต้องออกมาชี้แจง และทำเป็นคลิปวีดีโอเผยแพร่ โดยมีเนื้อหาสรุปว่า ต้องขอขอบคุณที่มีการส่งข่าวให้ได้รับทราบ (หมายถึงกรณีที่มีการร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อน) โดยเมื่อรับทราบแล้วได้ดำเนินการใน 3 ประการ คือ
1. ในวันที่ 11 เม.ย. เหล่ากาชาดจังหวัดปัตตานีได้นำถุงยังชีพ จำนวน 100 ชุด ไปมอบให้ทันที เพื่อนำไปมอบต่อให้ผู้ได้รับความเดือดร้อน
2. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
3. จะนำข้อเท็จจริงมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น พบว่าพื้นที่ ต.ตะลุโบะ อ.เมืองปัตตานี คณะกรรมการควบคุมโรคได้ยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 1 ราย เมื่อวันที่ 21 มี.ค.63 โดยคาดว่ารับเชื้อจากบิดาที่เดินทางมาจาก อ.ยะรัง มาเยี่ยมบุตรหลาน ซึ่งบิดาติดเชื้อโควิดมาแล้ว ทำให้ลูกติดเชื้อไปด้วย จึงได้กำหนดมาตรการห้ามบุคคลเข้า- ออก ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งในพื้นที่นี้มีประชากร 501 ครัวเรือน แต่มีประชากรอยู่จริง 317 หลังคาเรือน มีจำนวนประชากร 1,590 คน เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปทำการคัดกรองสอบสวนโรค และดำเนินการไปได้ 1,437 คน คิดเป็นร้อยละ 90.38
จังหวัดปัตตานี โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย.63 ที่ (พิเศษ) 18/2563 เรื่องมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และวันที่ 8 เม.ย.63 อำเภอเมืองปัตตานีได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อมอบหมายหน้าที่ในการกำกับปิดหมู่บ้านและการช่วยเหลือของผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรค และในวันที่ 9 เม.ย.63 ทางจังหวัดได้ร่วมประชุมรับมอบนโยบายจากกระทรวงมหาดไทย ถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วน พร้อมได้แจ้งข้อมูลไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลตะลุโบะ
ชี้ผูู้ใหญ่บ้านมีอำนาจผ่อนผัน-ดูแล แต่ภรรยากลับไลฟ์สด
จากนั้นวันศุกร์ที่ 10 เม.ย.63 ผู้ใหญ่บ้านและทีมงานได้ตั้งป้ายปิดหมู่บ้าน และในช่วงค่ำของวันเดียวกันก็ได้มีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กของภรรยาผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 มีเนื้อหาว่าทางราชการไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ และมีการเปิดรับบริจาคสิ่งของพร้อมเงินสด ซึ่งทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ ภายหลังรับทราบ ในวันรุ่งขึ้น คือวันเสาร์ที่ 11 เม.ย. ก็ได้นำเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าไปให้ความช่วยเหลือทันที
"การปิดหมู่บ้านนั้นไม่ใช่เป็นการห้ามทุกคนเข้า-ออก ยังมีข้อยกเว้นที่เจ้าพนักงานควบคุมโรค หรือผู้ใหญ่บ้าน สามารถผ่อนผันได้ตามความจำเป็นต่างๆ ขณะนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้มีการอนุมัติให้มีการใช้เงินระงับยับยั้งโรคโควิดได้ คาดว่าสัปดาห์หน้าทุกหมู่บ้านที่มีการปิดหมู่บ้าน ในพื้นที่ 9 อำเภอ 23 หมู่บ้าน จะได้มีการมอบถุงยังชีพพร้อมกันทั้งหมด" ผู้ว่าฯปัตตานี กล่าว
ผู้ว่าฯไกรศร ยังย้ำด้วยว่า จริงๆ แล้วผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่กำกับให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อ เพราะเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรค และยังมีหน้าที่ช่วยเหลือดูแลลูกบ้าน ขณะที่คนที่ออกมาไลฟ์สดก็เป็นภรรยาของผู้ใหญ่บ้าน (มีการพูดทำนองว่าเดือดร้อนหนัก จะออกจากหมู่บ้านไปหาซื้ออะไรก็ไม่ได้ ใครจะเอาอะไรมาให้ต้องฝากไว้ที่ด่านบริเวณที่ปิดทางเข้าหมู่บ้าน) ซึ่งจริงๆ แล้วผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจผ่อนผันให้เข้า-ออกหมู่บ้านได้ตามความจำเป็น
โรคระบาดซ้ำเติมความเดือดร้อน
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ซ้ำเติมความเดือดร้อนลำบากของพี่น้องประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากที่เคยย่ำแย่อยู่แล้ว ให้ทุกข์หนักขึ้นไปอีก
เพราะตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่สงบ เศรษฐกิจซบเซา ราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจและอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ แม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง แต่พื้นที่ชายแดนใต้ก็มีคนที่เข้าไม่ถึงมาตรการของรัฐเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่ได้มีชื่อเป็นเจ้าของสวนยาง และคนอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพียงลูกจ้างตัดยาง (ลูกจ้างกรีดยางรายวัน)
พูดง่ายๆ คือขนาดไม่มีโรคระบาด เศรษฐกิจในพื้นที่ก็แย่หนักอยู่แล้ว เมื่อมีโรคระบาดมาซ้ำเติมอีก และมีมาตรการปิดเมือง ล็อคดาวน์ ยิ่งทำให้สถานการณ์ทรุดหนัก
ตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค. ร้านรวงต่างๆ ต้องปิด โดยเฉพาะร้านน้ำชา ร้านขายอาหาร แม้จะอนุญาตให้เปิดขายได้เฉพาะซื้อกลับบ้าน แต่ก็ขัดกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่
นอกจากนั้นยังมีคำสั่งห้ามเดินทางข้ามจังหวัด มีการตรวจเข้ม แม้จะผ่อนผันให้รถขนส่งสินค้าจำเป็น โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร อาหาร และเวชภัณฑ์ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คนในพื้นที่ที่ทำการค้าขาย เช่น รับซื้อผลไม้มาขายต่อ ส่วนมากเป็นการทำธุรกิจขนาดเล็ก จึงไม่มีเอกสารกำกับการขนส่งสินค้าเหมือนบริษัทใหญ่ๆ ทำให้ไม่สามารถเดินทางข้ามอำเภอหรือข้ามจังหวัดได้ การติดต่อซื้อขายก็หยุดชะงักลง
การเดินทางข้ามเขต แม้จะมีธุระปะปัง เช่น ไปร่วมงานศพ ก็ต้องมีใบรับรองแพทย์ หรือได้รับอนุญาตจากนายอำเภอ ส่งผลให้การเดินทางเพื่อติดต่อกันแทบจะทำไม่ได้เลย
บริเวณด่านสำคัญที่เป็นด่านสกัดการเดินทางข้ามจังหวัด หรือด่านเข้าเมืองหลัก เช่น เทศบาลนครยะลาที่มีการตั้งด่านรอบเมืองจึง 7 ด่าน เพื่อคัดกรองการเข้าเมือง 7 ช่องทาง ทุกจุดมีรถส่งสินค้าและรถจักรยานยนต์ไปออกันจำนวนมาก หลายจุดผู้ว่าฯต้องลงพื้นที่ด้วยตนเองเพื่อเคลียร์ปัญหาและสร้างความเข้าใจ
เมื่อการขนส่งสินค้าทำได้ยาก ราคาสินค้าต่างๆ ก็แพงขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ข้าวสารกับไข่ซึ่งเป็นอาหารหลักแทบทุกมื้อ ขณะที่การปิดเมือง ปิดหมู่บ้าน และคำสั่งห้ามรวมตัวกัน งดจัดกิจกรรมต่างๆ ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากซึ่งมีอาชีพรับจ้างทั่วไป หรือทำงานค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ได้รับความเดือดร้อน จนถึงขั้นไม่มีรายได้เลยในแต่ละวัน
ไม่มีเงิน ไม่มีงาน ปิดหมู่บ้านแล้วจะกินอะไร
น.ส.อามีเนาะ จินตรา ชาวบ้านจาก จ.ยะลา เล่าว่า สถานการณ์ตอนนี้สำหรับครอบครัวของเธอถือว่าหนักสุดๆ แม้จะไม่ติดโควิด แต่ก็ไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อนมให้ลูกกิน
"ยังดีที่เพื่อนบ้านมีนมโรงเรียนที่เขาแจกให้เด็ก ก็แบกหน้าไปขอจากเพื่อนบ้านมาได้ 5 กล่อง ให้ลูกกินได้ 1 วัน พรุ่งนี้ยังไม่รู้จะไปหาจากบ้านไหนอีก ที่ที่ฉันอยู่แม้จะไม่ได้ปิดหมู่บ้าน แต่ไม่มีเงินไปซื้อ เพราะไม่มีงานทำ ข้าวสารก็ต้องซื้อวันต่อวัน ไปแคะหมาก (เก็บผลหมากขาย) ได้วันละ 20-30 บาท ก็ไปซื้อข้าวสาร ส่่่่วนกับข้าวก็หาเอา เด็ดยอดผักมาต้มจืดกิน"
น.ส.รุสดา เหมเบีย แม่ค้าใน จ.ยะลา บอกว่า ตนทำอาชีพขายแตงโม แต่ละวันจะมีรายได้ 300-400 บาท แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ก็ไม่สามารถไปรับแตงโมมาขายได้ ทำให้ได้รับผลกระทบ แม้จะพยายามแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าต้องการไปรับผลไม้ ซึ่งถือเป็นอาหาร แต่เมื่อไม่ได้ทำในรูปบริษัท จึงไม่มีหลักฐานอะไรไปอ้างอิง เจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาตา
ขณะที่ น.ส.โฉม อับดุลเลาะ แม่ค้าใน จ.ปัตตานี บอกเช่นกันว่า ตนมีอาชีพขายข้าวเหนียวไก่ แม้จะเป็นอาหาร ได้รับอนุญาตให้ขายได้ แต่ปรากฏว่าตลาดที่ขายอยู่ถูกสั่งปิด เพราะเทศบาลเกรงว่าจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ทำให้ต้องหยุดขาย ไม่มีรายได้อะไรเลย
เป็นเสียงสะท้อนจากชาวบ้านคนหาเช้ากินค่ำกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าอีกหลายชีวิต หลายครอบครัวก็เป็นแบบนี้...ไม่ต่างกัน