หลังจากทางการมาเลเซียขยายเวลาปิดด่านต่อไปอีก จนถึงวันที่ 28 เม.ย.63 ทำให้แรงงานไทยสาขาต่างๆ โดยเฉพาะในร้านต้มยำกุ้ง ซึ่งประเมินกันว่ามีนับแสนคน ได้รับความเดือดร้อนหนักกว่าเก่า
มาเลเซียประกาศล็อคดาวน์ประเทศ และปิดด่านพรมแดนทั้งหมดมาตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.63 เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยช่วงแรกจะปิดด่านเพียงแค่ 14 วันเท่านั้น แต่รัฐบาลก็ขยายเวลาต่อมาอีก 2 ครั้ง กระทั่งล่าสุดประกาศมาตรการควบคุมการสัญจร หรือ Movement Control Order (MCO) จนถึงวันที่ 28 เม.ย. แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าสุดท้ายอาจต้องปิดด่านต่อไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 4,300 ราย ณ วันที่ 11 เม.ย.
คาดแรงงานไทยตกค้างนับแสน
นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า มาตรการขยายเวลาปิดด่านส่งผลกระทบแน่นอนกับคนไทยที่อาศัยและทำงานอยู่ในมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพแรงงานร้านต้มยำกุ้ง และแรงงานภาคบริการ เพราะจากเดิมคาดว่าวันที่ 15-16 เม.ย.ก็จะได้ทยอยกลับบ้านกันมากขึ้นแล้ว แต่เมื่อขยายเวลาปิดด่านไปจนถึงวันที่ 28 เม.ย. เท่ากับว่าปัญหาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เนื่องจากการพำนักอยู่ที่มาเลเซีย คนไทยไม่มีงานทำ เพราะร้านรวงต่างๆ ปิดหมด แต่ค่าใช้จ่ายยังมีทุกวันเหมือนเดิม เท่าที่สำรวจตัวเลขผู้เดือดร้อนและอยากกลับประเทศ อาจจะมีถึงหลักแสนคน
มีรายงานจากสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองโกตาบารู ด้วยว่า มีคนไทยในมาลเซียติดโควิด-19 และพักรักษาตัวอยู่ในสถานพยาบาล 2 ราย ในรัฐปีนัง อาการยังทรงๆ ไม่น่ากังวลมากนัก เพราะได้รับการดูแลตามมาตรฐานสากล โดย นายมงคล กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือแรงงานไทยที่ตกค้างในมาเลเซีย
น.ส.รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ จากมหาวิทยาลัยมลายา กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จำนวนแรงงานไทยในมาเลเซียนั้น ตัวเลขจริงๆ ไม่มีใครทราบ เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ แต่ประเมินคร่าวๆ มีเป็นแสนคนแน่นอน ส่วนใหญ่ทำงานร้านต้มยำและมีแรงงานในภาคประมง สวนยางพารา สวนปาล์ม รวมทั้งภาคบริการอีกจำนวนหนึ่งด้วย
"ขาดเงิน - อาหาร" เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ
สำหรับการให้ความช่วยเหลือขณะนี้ มีทั้งจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ร่วมกับอาสาสมัครคนไทยในมาเลเซีย ชมรมผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้ง และสมาคมจันทร์เสี้ยวเพื่อการแพทย์ มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อช่วยเหลือแรงงานต้มยำในมาเลเซีย และเปิดลงทะเบียนผู้เดือดร้อน ได้มา 2,300 คน ส่วนใหญ่ไม่มีเงิน ขาดเสบียงอาหาร เด็กๆ ขาดนม แพมเพิร์ส
สรุปตัวเเลขผู้ที่เดือดร้อนขาดเงินมีมากถึง 53% ขาดเสบียงอาหาร 32% ที่เหลือเป็นปัญหาอื่นๆ แต่ทั้งหมดเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือถึง 80%
"ยิ่งแรงงานที่อยู่ตามรัฐต่างๆ ในพื้นที่ไกลๆ นอกเขตเมือง เป็นร้านเล็กๆ อีกจำนวนมาก คนกลุ่มนี้ลำบากที่สุด หลายร้านเถ้าแก่กลับไทยก่อนมาตรการ MCO และกลับเข้ามาเลเซียไม่ได้ เด็กๆ (หมายถึงลูกน้อง เด็กเสิร์ฟ กุ๊ก) ก็ติดอยู่ที่ร้าน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้ก็แค่ส่งเสบียงช่วยเหลือเป็นครั้งคราว แต่ทางที่ดีต้องให้เขาได้กลับบ้านไปก่อน แล้วจัดสถานที่กักตัว ทำเป็นระบบในส่วนของเด็กร้านต้มยำ" น.ส.รุสนันท์ กล่าว
หลังเปิดด่าน คนชายแดนใต้ส่อตกงานเพิ่ม
และว่า แรงงานร้านต้มยำส่วนใหญ่เข้ามาทำงานแบบไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ "เวิร์ค เพอร์มิต" ซึ่งทางการมาเลเซียอนุโลมให้อยู่ไปก่อนได้ แต่เปิดประเทศเมื่อไร ก็ต้องกลับทันที ปัญหาหนักหลังจากนั้นก็คือ เมื่อออกจากมาลเซียไปแล้ว จะกลับเข้ามาทำงานอีกได้หรือไม่ เพราะมาเลเซียเองก็ต้องจัดระบบแรงงานต่างชาติเช่นกัน ถ้าไม่ได้ จะมีปัญหาตามมาคือ คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะว่างงานมากขึ้น เรื่องนี้รัฐบาลไทยต้องมีนโยบายรองรับ
ในส่วนของผู้ประกอบการร้านต้มยำเองก็จะเจอปัญหาเหมือนกัน น.ส.รุสนันท์ บอกว่า ถ้าแรงงานกลับเข้ามาเลเซียอีกไม่ได้ เจ้าของาร้านก็จะขาดแรงงาน เป็นปัญหาที่คาดการณ์หลังสถานการณ์โควิดผ่านพ้นไป
เจ้าของร้านต้มยำ ผวามาเลย์จัดระบบใหม่
ยังมีเหตุผลของฝั่งผู้ประกอบการที่ตัดสินใจไม่เดินทางกลับไทย แต่อดทนใช้ชีวิตอยู่ในมาเลเซียเพื่อรอสถานการณ์คลี่คลาย
น.ส.นูรซะมี นิเซ็ง ชาว จ.ยะลา ที่ไปเปิดร้านอาหาร Ayu 26 Tumyam SeaFood ในรัฐยะโฮร์บารู ทางตอนใต้ของมาเลเซีย เล่าว่า มีพนักงานต้องรับผิดชอบ 8 คน ถามว่าลำบากไหม ก็ลำบาก แต่พวกเรายืนยันจะขออยู่ที่นี่ เพราะกลัวกลับไปจะเป็นภาระคนที่บ้าน ต้องกักตัว และอีกหลายเรื่อง ที่สำคัญกลัวกลับไทยไปแล้ว คนงานจะกลับเข้ามาเลเซียไม่ได้อีก ขณะที่ทางร้านก็ต้องรอรับการจัดระบบใหม่ของ ทางการมาเลเซีย ถ้ากลับไทยอาจจะได้รับผลกระทบ
"ทุกวันนี้ใช้วิธีเปิดร้านขายตอนกลางวัน ขายใส่ห่อให้กลับไปกินที่บ้าน ไม่ได้ขายดีอะไร แต่พอจะพยุงตัวเองและพนักงานในร้าน 8 คนไปได้" เจ้าของร้าน Ayu 26 Tumyam SeaFood กล่าว
"เรื่องอาหารการกินถือว่าเราไม่เดือดร้อน ก็สามารถกินในร้านได้ และยังช่วยเหลือคนอื่นได้บ้าง แต่ที่หนักคือค่าครองชีพสูงมาก เราเช่าร้านเดือนละ 50,000 บาทค่าน้ำค่าไฟรวมทุกอย่างแล้ว 8,000 บาท เดือนๆ หนึ่งต้องหาได้หลักแสน เพราะมีเงินเดือนพนักงาน 8 คน และค่าเวิร์ค เพอร์มิต อีก จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างอยู่ในมาเลเซียด้วย"
ด้านลูกจ้างร้านต้มยำ นายอิสมาแอ มีแต ชาว จ.ปัตตานี บอกว่า อยู่ประจำร้านต้มยำกุ้งในกัวลาลัมเปอร์ หลังจากทางการมาเลเซียปิดด่านก็อยากกลับบ้าน แต่กลับไม่ได้ อยู่ที่มาเลย์ก็ไม่มีงานทำ ต้องเก็บตัว ทำอะไรไม่ได้ เงินไม่มี แต่ยังโชคดีเพราะได้รับการช่วยเหลือบ้างจากเพื่อนชาวไทยที่ยังพอมี และจากสถานทูต
"ผมรอกลับบ้านทุกวัน ทราบว่าเขาขยายวันเปิดด่านออกไปอีก รู้สึกใจคอไม่ดี อยากฝากบอกทุกคนว่าพวกเราอยากกลับบ้าน"
รอเปิดด่าน ศอ.บต.เตรียมรับกลับ 350 คน/วัน
ด้านการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนร่วมกัน โดยทันทีที่มาเลเซียเปิดด่าน จะเปิดทางให้แรงงานไทยในมาเลเซียเข้าประเทศได้ 5 ด่าน รวมกันต่อวันไม่เกิน 350 คน และเมื่อเข้าประเทศแล้วจะต้องถูกกักตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ยังตกค้าง หากเป็นแรงงานที่ลงทะเบียนเอาไว้ ทางสถานทูตจะดูแล ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นไปด้วยดี ส่วนแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้ลงทะเบียน จะให้เครือข่ายต้มยำกุ้งและสมาคมพระจันทร์เสี้ยวฯดูแล โดยการสนับสนุนจาก ศอ.บต.
มท.2 บุกสุไหงโกลก ระดมสมองช่วยแรงงานต้มยำ
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ในวันจันทร์ที่ 13 เม.ย.นี้ ตนจะเดินทางไปที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เพื่อประชุมร่วมกับทุกฝ่าย รวมทั้งกงสุลใหญ่ไทยในมาเลเซีย เพื่อวางแผนช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างในมาเลย์ โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มต้มยำกุ้ง
"ผมจะไปประชุมกับทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร โดยเฉพาะแรงงานไทยที่ตกค้าง โดยจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม ซึ่งผมเองเคยเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้แจกเงินคนไทยที่ติดอยู่ในต่างประเทศด้วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาหลักเกณฑ์ โดยการให้ความช่วยเหลือจะมีหลายรูปแบบ หลายช่องทาง แต่จะครอบคลุมทุกกลุ่มแน่นอน" รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย กล่าว
-----------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
แรงงานต้มยำเจอมาตรการรัฐ มึนโดนสกัดเข้าประเทศ ต้องนอนริมถนน
3,000 ลูกจ้างร้านต้มยำตกค้างในมาเลย์ วอนรัฐช่วย-อยากกลับบ้าน