มาตรการชะลอการเข้าประเทศของรัฐบาล ไม่ได้สร้างความสับสนกับเฉพาะคนไทยที่โดยสารมากับสายการบินและลงเครื่องที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จนเกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อช่วงดึกของวันศุกร์ที่ 3 เม.ย.63 เท่านั้น แต่ยังเกิดปัญหากับแรงงานไทยในมาเลเซียที่ลงทุนเช่ารถบัสหวังเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านด่านพรมแดนทางบกด้วย
เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 2 เม.ย. กลุ่มแรงงานร้านต้มยำกุ้ง (ร้านอาหารไทยในมาเลเซีย) จำนวนกว่า 120 คน ได้หุ้นเงินกันเช่าเหมารถบัสจำนวน 3 คัน เดินทางจากที่พักในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งหน้าไปข้ามด่านพรมแดนสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยแรงงานเหล่านี้ได้ขอใบรับรองแพทย์และขอใบรับจากสถานทูตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เรียบร้อยแล้ว จึงเข้าหุ้นลงขันกันเดินทางด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่าจะได้กลับบ้าน
แต่ปรากฏว่าเมื่อเดินทางถึงหน้าด่านสะเดา เจ้าหน้าที่ไทยกลับไม่อนุญาตให้กลุ่มแรงงานเดินทางกลับเข้าประเทศ โดยอ้างประกาศของรัฐบาลให้ชะลอการเดินทางกลับประเทศ ตั้งแต่วันที่ 2-15 เม.ย. ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งในวันเดียวกันให้กระทรวงการต่างประเทศชะลอการเดินทางเข้าประเทศของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ผลจากการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ฝั่งไทย ทำให้แรงงานร้านต้มยำกุ้งไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้ ทั้งๆ ที่ผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองจากด่านฝั่งมาเลเซียออกมาแล้ว ทำให้พวกเขาต้องนอนอยู่ริมตามถนนหน้าด่านสะเดา 1 คืน เนื่องจากรถบัสที่เช่ามานั้น ได้ตีรถกลับกัวลาลัมเปอร์ไปแล้ว ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่มาเลเซียก็ไม่อนุญาตให้ข้ามแดนกลับเข้าไปรวมกลุ่มกันจำนวนมากขนาดนี้
จำใจควักกระเป๋าเช่ารถกลับ - โวยแหลกผิดหวังรัฐบาล
กระทั่งวันรุ่งขึ้น บรรดาแรงงานร้านต้มยำได้หุ้นเงินกันอีกครั้ง เพื่อเช่ารถบัสจำนวน 3 คันเดินทางกลับไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ทำให้เสียเวลาเดินทางและเสียเงินจำนวนมาก
มีรายงานว่า เมื่อกลุ่มแรงงานเดินทางถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ไปรวมตัวกันที่สถานทูตไทย โดยมีเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์มาดูแลและให้กำลังใจ พร้อมมอบสิ่งของยังชีพให้ด้วย
ขณะที่กลุ่มแรงงานร้านต้มยำได้แสดงความผิดหวัง และไม่พอใจรัฐบาลอย่างมาก เนื่องจากสื่อสารไม่ชัดเจน โดยตอนแรกแจ้งให้คนไทยในต่างแดนลงทะเบียนที่สถานทูตและดำเนินการขอเอกสารตามขั้นตอน ซึ่งพวกเขาก็ดำเนินการทุกอย่างเรียบร้อยด้วยความยากลำบาก และได้เช่าเหมารถเดินทางกลับ แต่สุดท้ายไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้ ทั้งๆ ที่เป็นประชาชนคนไทย มีสิทธิ์กลับภูมิลำเนา แต่กลับถูกไล่จากเจ้าหน้าที่รัฐบาลของประเทศตนเอง
นายซัมซุดดิน วาซูกาเตาะ หรือ วันซำซูดิง ประธานกลุ่มผู้ประกอบการต้มยำกุ้งในมาเลเซีย กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานร้านต้มยำกุ้งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการปิดประเทศของมาเลเซีย ร้านค้า สถานประกอบการที่ทำงานอยู่พากันถูกปิด ทำให้พวกเขาไม่มีงาน ไม่มีรายได้ และไม่มีเงินซื้ออาหารยังชีพ ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก จึงตั้งใจอยากจะกลับบ้านเพื่อใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว และพร้อมเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วันในประเทศไทย แต่เมื่อกลับถึงประเทศไทยแล้วกลับถูกไล่ให้กลับประเทศอื่น จึงรู้สึกผิดหวังต่อรัฐบาลไทยอย่างมาก
"รัฐบาล-ชาวบ้าน-เจ้าหน้าที่" ตกลงใครสับสน?
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า มือกฎหมายของรัฐบาลอย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันนโยบายของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ว่า รัฐบาลยังไม่ได้ปิดประเทศ เพียงแต่ชะลอการเข้าประเทศ ฉะนั้นคนไทยในต่างแดนที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนาจึงยังสามารถเดินทางได้ เพียงแต่ต้องเข้ารับมาตรการกักตัว 14 วันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้น
แต่ดูเหมือนมาตรการนี้จะสร้างความสับสนพอสมควร เพราะเจ้าหน้าที่ประจำด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ตีความว่ารัฐบาลสั่งปิดด่าน ปิดพรมแดน และห้ามเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วจนกว่าจะถึงวันที่ 15 เม.ย. ทำให้แรงงานร้านต้มยำต้องนอนรินถนน
ขณะที่คนไทยที่เดินทางกลับประเทศโดยเครื่องบิน เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ก็ไม่ทราบมาก่อนว่าเมื่อเครื่องลงจอดแล้ว ต้องเข้ากระบวนการกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ หรือ state quarantine เป็นเวลา 14 วันทุกคน เพราะคำรับรองให้เดินทางที่ออกโดยสถานทูต ออกให้ก่อนที่นายกฯจะประกาศมาตรการนี้ (ก่อนวันที่ 2 เม.ย.) ซึ่งหมายถึงว่าคนที่จะโดนกักตัวสังเกตอาการ ต้องมีไข้สูงเกิน 37 องศาเซลเซียสเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็ไม่มีมาตรการที่ดีพอรองรับคนไทยจำนวนมากที่ทะยอยเดินทางกลับบ้าน ในช่วงที่ประเทศอื่นๆ พากันล็อคดาวน์เกือบทั้งโลก
แฉลูกจ้างร้านต้มยำอีกร่วมครึ่งแสนอยากกลับบ้าน
สำหรับแรงงานร้านต้มยำกุ้ง ยังมีอีกจำนวนมากที่อยากกลับภูมิลำเนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียขยายเวลาล็อคดาวน์ประเทศต่อไปอีกจนถึงกลางเดือน เม.ย. โดยก่อนหน้านี้ นายซัมซุดดิน ให้ข้อมูลว่ามีลูกจ้างร้านต้มยำและผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น รับจ้างทั่วไป อีกอย่างน้อยๆ 3,000 คนที่ตกค้าง ไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ (อ่านประกอบ : 3,000 ลูกจ้างร้านต้มยำตกค้างในมาเลย์ วอนรัฐช่วย-อยากกลับบ้าน)
ขณะที่ นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย ให้ข้อมูลว่า แรงงานร้านต้มยำในประเทศมาเลเซียมีทั้งหมดประมาณ 190,000 คน และมีผู้ขอกลับประเทศจำนวน 40,000 คน ซึ่งช่วงที่มีการเปิดด่านเป็นกรณีพิเศษ 4 ด้านของจังหวัดสตูล สงขลา และนราธิวาส ก็มีแรงงานทยอยเดินทางกลับอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มดะวะห์จากอินโดฯ 100 คนลุ้นเข้าประเทศ
พี่น้องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะต้องเจอปัญหาจากมาตรการชะลอการเข้าประเทศ ก็คือคนไทยจำนวน 100 คนที่ไปร่วมงานชุมนุมทางศาสนาอิสลาม หรือ ดะวะห์ ที่เมืองสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย และกำลังจะเดินทางกลับประเทศโดยเที่ยวบินพิเศษ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก นายธานินทร์ ใจสมุทร อดีต ส.ส.สตูล
ก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือแจ้งปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้เคลื่อนย้ายคนไทยทั้ง 100 คนกลับจากประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเที่ยวบินพิเศษ สายการบิน ไทย ไลอ้อนแอร์ ในวันที่ 6 เมษายน และให้นำเครื่องไปลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อประโยชน์ในการจัดการ เนื่องจากคนไทยกลุ่มนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้องกักตัวในลักษณะ state quarantine ในสถานที่ที่รัฐจัดให้ เป็นเวลา 14 วันทุกคน ณ จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของแต่ละคน
แต่ปัญหาก็คือ ขณะนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศห้ามอากาศยานทุกประเทศทำการบินเข้ามาในประเทศไทย เป็นเวลา 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.ถึง 6 เม.ย. หลังเกิดปัญหาความสับสนวุ่นวายที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งหากต้องปฏิบัติตามคำสั่งนี้ กลุ่มคนไทยจากอินโดนีเซียก็อาจต้องเลื่อนวันกลับ
อย่างไรก็ดี ในประกาศของสำนักงานการบินพลเรือน ได้มีข้อยกเว้นสำหรับอากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับภูมิลำเนา หรือ Repatriation จึงต้องรอดูว่าเครื่องบินเช่าเหมาลำจากอินโดนีเซียจะเข้าข่ายได้รับการยกเว้นหรือไม่ และหากได้รับการยกเว้น หรือเที่ยวบินพิเศษนี้เดินทางมาถึงแล้ว จะมีปัญหาเรื่องการกักตัวเพื่อสังเกตอาการซ้ำรอยที่สนามบินสุวรรณภูมิหรือเปล่า