การเสียชีวิตของ "นายช่างเปาะยา" ชายวัย 57 ปี บนรถไฟสายกรุงเทพฯ-สุไหงโกลก เต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์จากทั้งในและนอกโซเชียลมีเดีย ภายหลังผลตรวจชันสูตรศพยืนยันว่าเขาติดเชื้อโควิด-19
เหตุเพราะนายช่างคนนี้สัมผัสคนจำนวนมากก่อนจบชีวิต ทำให้เกิดกระแสตื่นกลัว แม้ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ออกมายืนยันว่า "เปาะยา" ไม่ได้เสียชีวิตเพราะพิษโควิด แต่จากโลกนี้ไปด้วยโรคเรื้อรังประจำตัว จึงสยบข่าวโควิดคร่าชีวิตคนก่อนจะล้มป่วยลงไปได้ก็ตาม แต่เสียงวิจารณ์อีกหลายเรื่องก็ยังคงอยู่ และบางเรื่องก็เกินความจริง
อย่างเช่นเรื่องที่ว่าแกไป "จงใจไอ" ใส่ชายวัยรุ่นที่สถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ ซึ่งภายหลังคู่กรณีออกมายืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง
"เปาะยา" มีบ้านอยู่ที่สุไหงโกลก ที่บ้านอยู่กันหลายชีวิต ทั้งภรรยาและลูกๆ โดยภรรยาเปาะยา อายุ 53 ปี เล่าว่าสามีเดินทางไปประเทศปากีสถาน ขึ้นรถไฟที่สถานีสุไหงโกลก ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.63 เพื่อไปทำดะวะห์ (ศึกษาและเผยแผ่ศาสนาตามหลักอิสลาม) จากนั้นก็ต่อเครื่องไปปากีสถาน ไปทำดะวะห์ได้เดือนเศษๆ ก็กลับบ้าน
"สามีเดินทางกลับจากประเทศปากีสถาน ลงเครื่องที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. เที่ยวบินที่ TG350 และได้มีการตรวจคัดกรองที่สนามบิน ไม่พบว่ามีไข้ จึงเดินทางไปที่สถานีรถไฟบางซื่อ เพื่อยืนยันตั๋วที่ช่องจำหน่ายตั๋ว โดยลูกสาวเป็นคนจองตั๋วให้พ่อ จากนั้นก็พักแรมที่กรุงเทพฯ 1 คืน จึงขึ้นรถไฟกลับในวันที่ 30 มี.ค." เธอบอก
"ฉันเองก็ทราบจากข่าวเหมือนกันว่าสามีเสียชีวิต ไม่ได้รู้ก่อน ไม่ได้พูดคุยสั่งเสียอะไรกันเลย รู้สึกเสียใจและใจหาย เพราะไม่ทันได้ถึงบ้าน ไม่ทันได้เห็นหน้าก็ต้องจากกันไปแล้ว" เธอเผยความรู้สึก
กับกระแสวิจารณ์ต่างๆ ในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งกระแสลุกลามจนคนในสุไหงโกลกเองบางส่วนก็มองครอบครัวของเปาะยาด้วยสายตาไม่ไว้วางใจ เรื่องนี้ภรรยาเปาะยา บอกว่าได้แต่ทำใจ และอยากขอความเห็นใจว่าอย่าซ้ำเติมกันอีกเลย
"ฉันยังไม่ได้เจอหน้าสามีด้วยซ้ำ เขามาเสียไปก่อน เสียบนรถไฟ จึงอยากวิงวอนขอความเห็นใจจากสื่อโซเชียลว่าฯ โปรดเข้าใจด้วยว่าทางบ้านก็เสียใจมากพอ แล้วอย่าซ้ำเติมกันอีกเลย"
นับเป็นอีกหนึ่งเสียงของผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แม้ว่าจะไม่ได้ติดเชื้อเลยก็ตาม...
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เหยื่อโควิดปัตตานีลาโลกอีกราย พบคนตายในรถไฟสายใต้ติดไวรัส
เรื่องราวอีกด้านของ "เปาะยา" ถูกสังคมตีตราในกระแสผวาโควิด