แม้แหล่งโบราณสถาน "ภาพเขียนสีโบราณ" บนเขายะลา จะไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่ใครๆ ก็รู้จักและแวะไปเยี่ยมเยือน
แต่ในความผูกพันกับคนในท้องถิ่นนั้น ต้องถือว่ามีมากทีเดียว....
โกมุท มอหาหมัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ยะลา เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของแหล่งโบราณสถานแห่งนี้ ในฐานะที่เขาคือคนตำบลยะลา และมองเห็นภูเขายะลา หรือ "เขายาลอ" เปรียบเสมือนหน้าบ้านของตนเอง
"ภาพเขียนสีโบราณบนเขายะลา หรือเขายาลอ จริงๆ แล้วมีหลายจุด โดยภาพสีแดงตรงผาหินที่เห็นชัดที่สุด ตั้งอยู่หลังสำนักงาน อบต.ยะลา บ้านกูเบร์ หมู่ 2 ต.ยะลา เดินเท้าไปจาก อบต.ราวๆ 1 กิโลเมตร"
โกมุท บอกว่า เดิมทีภาพเขียนสีนี้ไม่มีใครรู้จัก ชาวบ้านก็นึกว่าเด็กๆ ไปเขียนเล่น ทว่าต่อมามีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเดินทางไปสำรวจ และบอกว่ามีอายุถึงกว่า 1,300 ปี
"แรกๆ ชาวบ้านไปพบ และมีการพูดต่อๆ กันว่ามีสัญลักษณ์บนภูเขา หลายคนคิดว่าเด็กๆ ไปเขียนเล่น จากนั้นก็พบอีกแห่ง เป็นถ้ำเปิด ที่ผ่านมาพระธุดงค์ขึ้นไปปักกลด มีทั้งพระไทยและพระจีน ชาวบ้านก็เคยมาคุยว่าจะอนุรักษ์อย่างไร เพราะลำพังชาวบ้านก็ไม่มีกำลังจะดูแล เราจึงร่วมกันทำฎีกาถวาย ส่งไปที่สำนักพระราชวัง จากนั้นสำนักพระราชวังจึงส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบหลายครั้ง และเมื่อเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาตรวจสอบเพิ่มเติมก็พบว่ามีหลายจุด และทางกรมศิลปากรก็บอกว่านี่ไม่ใช่ภาพเล่นๆ แต่เป็นโบราณสถาน มีอายุราวๆ 1,300 ปี"
โกมุท เล่าว่า ที่ผ่านมา อบต.ก็พยายามดูแลอย่างดีที่สุด แต่เพราะอยู่บนที่สูง จึงทำอะไรได้ไม่มาก กระทั่งล่าสุดมีข่าวจะแก้ไขเขตโบราณสถานให้เล็กลง จึงรู้สึกเป็นห่วง และอยากให้กรมศิลปากรลงมาชี้แจงกับชาวบ้านโดยตรง เพราะทุกคนมีความรู้สึกหวงแหนร่วมกัน
"เด็กๆ มาบอกว่าจะมีการแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานแห่งนี้ เขาบอกว่าเห็นจากโซเซียลฯ เด็กๆ จึงเปิดให้ดู จากนั้นผมก็ได้ประสานหลายฝ่ายในจังหวัด ก็มีคำแนะนำ ให้ตรวจสอบความชัดเจน เพราะถึงตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่เลย ที่สำคัญเอกสารที่เป็นประกาศของกรมศิลปากรที่มีการแนบแผนที่ ทุกคนดูจากโซเซียลฯ ถ้าเป็นไปได้อยากให้กรมศิลปกรลงมาชี้แจง หรือจังหวัดลงมาสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน อย่าปล่อยให้เป็นแบบนี้"
นายกอบต.ในฐานะคนท้องถิ่นทีรับรู้สภาพปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างดี เตือนว่า หากไม่มีความชัดเจน อาจจะมีบางคนบางกลุ่มฉวยโอกาสทำให้เป็นเรื่องอื่น เพราะเหตุผลเรื่องการทำเหมืองหินไม่มีน้ำหนักมากพอ
"ผมกลัวว่าจะมีคนฉวยโอกาส เพราะกรมศิลป์ไม่เคยส่งหนังสือมาในพื้นที่เลย ว่าได้ดำเนินการไปอย่างไร จริงหรือไม่จริง ซึ่งถ้าหากกรมศิลป์จะอนุญาตให้ระเบิดหิน จะต้องผ่านประชาคมหมู่บ้าน แต่เรื่องแบบนี้ก็มีข้อแม้ บางครั้งผู้มีอำนาจ คนมีเงิน ก็มาทำประชาคมแบบเงียบๆ แต่ผมเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องไปอ้างว่าขาดแคลนแหล่งหินในการก่อสร้าง เพราะแหล่งหินในจังหวัดยะลามีอีกเยอะ"
"ที่เขาอ้างเรื่องความมั่นคง ผมว่าอ้างไม่ขึ้น เพราะเรามีเจ้าหน้าที่รัฐเยอะแยะที่จะดูแล ที่สำคัญแหล่งหินตรงนี้ตั้งอยู่ในย่านชุมชน เป็นเรื่องธรรมชาติของผู้ประกอบการที่ต้องการความสะดวก และมุ่งเอาผลกำไรเป็นหลัก แต่ในมุมของชาวบ้าน เขาตั้งคำถามว่าราชการจะต้องรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ทำไมสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย หรือราชการมาทำลายสิ่งแวดล้อมเสียเอง กรมศิลปกรมีหน้าที่อนุรักษ์ ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโบราณสถาน แต่ทำไมเขาเปิดให้มีการทำลาย"
"สำหรับโรงโมหินที่มีอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 6 โรง ตั้งอยู่ใน ต.ยะลา กับ ต.ลิดล ปัจจุบันยังเปิดทำเหมืองหินเหมือนเดิม อาจมีบางโรงหยุดไปบางช่วง แต่สักพักก็จะเริ่มเปิดใหม่ เป็นแบบนี้มาตลอด"
นายกฯโกมุท เปรยทิ้งท้ายอย่างท้อๆ ว่า ถึงวันนี้ยังไม่รู้จะหาความชัดเจนจากใคร ก็ขอฝากผ่านสื่อไปยังผู้รับผิดชอบทุกหน่วยงานด้วย
"ผมไม่รู้จะไปถามใคร ก็ฝากถามทางนี้ สะท้อนถึงผู้ที่รับผิดชอบ และขอเรียกร้องให้ทางจังหวัดเข้ามาชี้แจงสร้างความเข้าใจโดยด่วน"
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายก อบต.ยะลา กับเขายาลอ
อ่านประกอบ :
ฮือค้านกรมศิลป์ไฟเขียวระเบิดหินเขายะลากระทบภาพเขียนสีพันปี
จังหวัดยะลาไม่รู้ไม่เห็นสัมปทานระเบิดหินกระทบภาพเขียนพันปี
ผู้ว่าฯบุกสำรวจภาพเขียนสีพันปี - คนยะลาเตือนอย่าสร้างเงื่อนไข