พ่อเมืองยะลาบุกสำรวจโบราณสถานภาพเขียนสีพันปีบนเขายะลา พร้อมส่งทีมเก็บข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ เตรียมแถลงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ หลังโดนกระแสต้านประกาศกรมศิลป์ลดขนาดโบราณสถาน เปิดทางระเบิดหิน ด้านคนยะลารับไม่ได้ เตือนระวังสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง
นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ นำกำลังเจ้าหน้าที่ขึ้นเขายะลา ท้องที่บ้านกูเบร์ หมู่ 2 ต.ยะลา ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับ ต.ลิดล อ.เมือง จังหวัดยะลา เพื่อตรวจสอบพื้นที่โบราณสถานภาพเขียนสีโบราณ หลังกรมศิลปากรออกประกาศแก้ไขเขตโบราณสถาน เพื่อเปิดทางให้ทำเหมืองหิน จนหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน เพราะเกรงจะกระทบกับภาพเขียนสีโบราณ อายุกว่า 1,000 ปี
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 มี.ค.63 ผู้ว่าฯยะลา ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวอิศรา ทำนองว่ายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะตนเพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งเพียง 5 เดือน จากนั้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ผู้ว่าฯพร้อมคณะได้เดินทางขึ้นไปตรวจสอบจุดที่เป็นโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา และบริเวณโดยรอบ ก่อนจะหารือร่วมกับผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่ โดยหลังจากนี้จะมีการชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณชนต่อไป
ต่อมา วันศุกร์ที่ 6 มี.ค. รองผู้ว่าฯยะลาที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อหารือกับผู้นำในพื้นที่และชาวบ้าน เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วย
กังขาลดเขตโบราณสถานอุ้มประทานบัตรออกมิชอบ?
กระแสคัดค้านเรื่องนี้ค่อนข้างรุนแรงในพื้นที่ เพราะมีการนำเอกสารราชกิจจานุเบกษาที่ประกาศเขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ซึ่งมีการลดพื้นที่ลงถึง 190 ไร่ เมื่อเทียบกับที่เคยประกาศไว้เดิมเมื่อ 20 ส.ค. ปี 2544 จนมีการคาดการณ์ว่าการออกประทานบัตรเหมืองหินในพื้นที่ใกล้เคียงอาจไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น จึงต้องกันเขตโบราณสถานออก เพื่อให้ผู้อนุมัติประทานบัตร หรือเห็นชอบกับการออกประทานบัตรพ้นผิดหรือไม่
ขณะที่ นายอนันต์ ชูโชติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ก็ลงนามประกาศนี้ในวันสุดท้ายของชีวิตราชการ คือ 30 ก.ย.62 โดย นายอนันต์ มีพื้นเพเป็นชาวยะลา
ปธ.สภาประชาสังคมฯบุกพิสูจน์เขายะลา
ภายหลังข่าวนี้แพร่กระจายออกไป นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งเป็นคนยะลา ได้เดินทางขึ้นไปบนเขายะลา เพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่ และบอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า จริงๆ แล้วเส้นทางไปยังจุดที่เป็นโบราณสถานภาพเขียนสี ถือว่าไม่ไกล แต่ตลอดทางเป็นหิน ทำให้เดินค่อนข้างลำบาก และระหว่างทางพบขวานและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการตัดแต่งหินถูกทิ้งอยู่เป็นระยะ
"ข้างบนเขานั้นสวยงามมาก สามารถมองเห็นเมืองยะลาได้ทั้งเมือง ถ้าทำเป็นสถานที่ท่องเทียวจะถือว่าดีมาก เพราะสวยจริงๆ เราไปถึงจุดที่มีภาพเขียนสีโบราณ ซึ่งเป็นพื้นที่สูง เหมือนเป็นสถานที่เกี่ยวกับทำพิธีบวงสรวงอะไรบางอย่าง เมื่อเดินตรงต่อไปจะเจอถ้่ำด้วย ซึ่งทางกรมศิลปากรก็ยอมรับว่าเป็นแหล่งโบราณจริงๆ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน และอยากให้คนยะลาสนใจโบราณสถาน เท่าที่คุยกับหลายฝ่าย เชื่อว่าเขายาลอหรือเขายะลามีความเชื่อมโยงกับหน้าถ้ำ ซึ่งมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่ภายในถ้ำ ส่วนตัวคิดว่าอาจเป็นไปได้ เพราะมีร่องรอยประวัติศาสตร์ชัดเจน" นายรักชาติ กล่าว
และว่า รู้สึกแปลกใจมากที่มีการออกประกาศแบบนี้ออกมา ซ้ำยังอ้างเหตุผลเพื่อผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง จากปัญหาความไม่สงบ จริงๆ การออกประกาศแบบนี้อาจยิ่งเป็นการสร้งาเงื่อนไข เพราะโบราณสถานเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น มีแต่คนหวงแหน การทำอะไรโดยคนพื้นที่ไม่ยินยอม ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง
--------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ
1 ภาพชุดแรก ผู้ว่าฯยะลา (เสื้อสีฟ้า-เทา) นำคณะขึ้นไปสำรวจภาพเขียนสีโบราณ
2 แผนที่ขอบเขตโบราณสถานภาพเขียนสียะลา สีส้มคือแนวที่ออกประกาศใหม่
3 ภาพชุดที่ 2 นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ขึ้นเขา-บุกพิสูจน์
อ่านประกอบ :