เป็นที่ทราบกันดีว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือสนามประลอง "สงครามไอโอ"
เดิมมีเฉพาะฝ่ายความมั่นคงต่อสู้กับกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่ภายหลังบานปลายด้วยแนวร่วมของทั้งสองฝ่ายขยายวง ประกอบกับการพัฒนาแบบก้าวกระโดดและรู้เท่าทันเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้มีการฟาดฟันกันในระดับ "ทำลายล้าง"
เป้าหมายของทั้งสองฝ่าย หรือหลายฝ่ายในสมรภูมิไอโอ มักอ้างการแย่งชิงมวลชน หรือดึงประชาชนมาเป็นพวกตน แต่คำถามคือประชาชนตาดำๆ เขาคิดแบบนั้นหรือเปล่า?
สูอัยมี ดอเลาะ เยาวชนใน จ.ปัตตานี กล่าวเอาไว้น่าสนใจ
"ทหารเขาก็มีเพจไอโอ ฝ่ายขบวนการก็มีเหมือนกัน ทั้ง 2 เพจจะให้ข้อมูลโจมตีกัน จนทำให้ชาวบ้านปวดหัว บางทีเรื่องไม่จริงก็ถูกตอกย้ำซ้ำๆ มากๆ จนชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง หลายครั้งเรื่องเดิมๆ ถูกแชร์ต่อ พูดถึงซ้ำๆ บ่อยๆ ของปีที่แล้วเอามาแชร์ต่อปีนี้ แชร์เรื่อยๆ ทุกปี ชาวบ้านก็จะพูดเรื่องเดิมๆ บางช่วงคุยเรื่องเพจทหาร บางช่วงคุยเรื่องเพจขบวนการ"
"หลายครั้งเหมือนกันที่ทหารจะแถลงข่าวชี้แจงข้อมูลที่บอกว่าเป็นข่าวปลอม แต่ชาวบ้านจำนวนมากไม่รู้ตื้นลึกหนาบางในเรื่องนี้ พอทหารออกมาพูด ทำให้ชาวบ้านบางส่วนคิดว่าทหารแก้ตัว พูดไม่จริง จึงไม่ยอมรับ แต่ถ้าทหารไม่พูด ชาวบ้านก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี ก็หลงเชื่อเพจไอโอของขบวนการไปอีก เพราะฝ่ายตรงข้ามทหารเขาจะโจมตีข้อมูลที่ชาวบ้านปักใจเชื่อไว้ก่อนแล้ว ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไรถือเป็นอีกเรื่อง ทำให้ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าเรื่องจริงๆ คืออะไรกันแน่"
"หลายครั้งชาวบ้านจะงงๆ กับข้อมูล แล้วก็จะคุยกับชาวบ้านด้วยกัน สุดท้ายพวกเขาก็จะได้บทสรุปภายใต้ความเชื่อที่ว่า ถ้าชาวบ้านด้วยกันออกมาพูด เขาถึงจะเชื่อ เมื่อฝ่ายขบวนการมีคนแทรกซึมอยู่กับชาวบ้าน คนทั่วไปจึงเชื่อเพจขบวนการมากกว่าข้อมูลของทหาร แต่บรรยากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดเวลาก็คือ ทุกเรื่องจะมี 2 มุมตลอด หาความจริงไม่ได้เลย"
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่และทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้อย่าง ชไมพร (สงวนนามสกุล) เปิดใจว่ารู้สึกสับสน และเบื่อหน่ายกับข่าวสารที่ล้นทะลัก แต่ไม่รู้ว่าอะไรคือเรื่องจริง
"โอ๊ย...ปวดหัวมากกับข่าวเพจไอโอ เพราะไม่รู้จะเชื่ออันไหน สื่อจริงๆ เสนอแบบนี้ พอเพจไอโอเสนออีกแบบ ทำให้เราสับสน บอกตรงๆ ทั้งสองเพจ สองฝ่ายแรงพอๆ กัน หาข้อมูลที่แท้จริงไม่ได้เลย เราเป็นคนพุทธก็จริง แต่เราก็มีเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิม เราก็นั่งคุยกันหลายเรื่อง ปรากฏวาข้อมูลหาไม่ได้จริงๆ แต่บางเพจเขียนด่ากันไปมา อยากขอให้หยุดเรื่องไอโอ ทางออกที่ดีที่สุดคือให้สื่อจริงๆ เขาทำงาน"
"เรารู้มาว่าเพจพวกนี้มีงบสนับสนุนด้วย จริงหรือไม่จริงเราก็ไม่รู้อีก ที่สำคัญรัฐไม่ควรทำเหมือนขบวนการ รัฐควรมีวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ใช่มาซ้ำเติมปัญหาแบบนี้ อย่าคิดว่าจะได้ผล เพราะคนของรัฐด้วยกันยังไม่เชื่อกันเอง แล้วชาวบ้านจะเชื่อได้อย่างไร เราคนพุทธเรายังรู้ว่ารัฐมีไอโอ โดยทำตามยุทธวิธีของขบวนการ จริงๆ แล้วรัฐมีอะไรเหนือกว่าฝ่ายขบวนการทุกอย่าง ควรใช้วิธีอื่นในการแก้ไขปัญหา ฉะนั้นรัฐควรหยุดปฏิบัติการไอโอ ถ้าจะดีจริงคือหยุดทั้งสองฝ่าย"
ซัลมา สาและ ชาวบ้าน จ.ยะลา บอกคล้ายๆ กันว่า เดี๋ยวนี้ข้อมูลข่าวสารหาง่าย เยอะ มีหลายเรื่อง ถ้าเทียบในอดีตเราจะไม่มีทางได้รู้อะไร ต่างจากทุกวันนี้ชาวบ้านรู้หมด แถมเร็วด้วย แต่ปัญหาคือไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงกันแน่
เมื่อให้มองเทียบระหว่างไอโอของรัฐ กับไอโอของขบวนการ ซัลมา บอกว่า การสร้างข่าวปลอมด้วยข้อมูลเท็จจากเพจไอโอฝั่งขบวนการเป็นเรื่องที่ชาวบ้านเชื่อถือ อาจจะเพราะได้รับข้อมูลเร็วกว่า และได้รับจากคนที่ชาวบ้านเชื่อ ส่วนไอโอของทหาร ชาวบ้านมักจะมองว่าเป็นขาวปลอม
"ทางเดียวคือรัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้าน ทุกวันนี้ทหารมีอยู่ทุกหมู่บ้าน แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นที่ดีให้กับชาวบ้านได้ ถ้าสื่อสารอะไรแล้วชาวบ้านไม่เชื่อ ก็จะไม่มีทางชนะในสงครามนี้" ซัลมา กล่าว
ขณะที่ นายโฮป (นามสมมติ) อดีตแกนนำบีอาร์เอ็นที่หันหลังให้ขบวนการแล้ว บอกว่า ไอโอ หรือปฏิบัติการข่าวสาร มีอยู่จริง และเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งรัฐและบีอาร์เอ็น
"ความต่างอยู่ตรงที่ว่าในอดีต เราจะใช้ร้านกาแฟและชุมชนเป็นจุดปล่อยข่าว จากนั้นข่าวจะไปเร็วมากและได้ผล ทุกวันนี้ข่าวเปลี่ยนมาเกิดขึ้นบนโซเซียลมีเดีย ก็ได้ผลพอสมควร ขณะที่ของภาครัฐ ตั้งแต่อดีตไม่เคยได้รับความเชื่อถือจากชาวบ้านอยู่แล้ว ยิ่งทำไอโอจึงยิ่งไม่มีใครเชื่อ"
ดูเหมือนโจทย์ข้อยากของภาครัฐในสงครามไอโอก็คือ นอกจากจะสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนไม่น้อยแล้ว การทำไอโอยังไม่ค่อยได้ผลอีกด้วย
แต่คนที่ต้องรับกรรมมากที่สุดจากฝุ่นตลบอบอวลของไอโอ คือประชาชนตาดำๆ ที่อยู่ระหว่างเขาควาย...นั่นเอง
----------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
กอ.รมน.แจง 2 รอบ ย้ำไม่ใช่เจ้าของเว็บ Pulony
ย้อนดู"ไอโอ"ชายแดนใต้ - สองฝ่ายระดมสร้างเกลียดชัง?
"ไอโอ"การเมืองถึงชายแดนใต้...เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ฉีกกฎสงครามข่าว
"กราบรถ" ถึง "ไฟใต้" โซเชียลฯล่าทำลาย และ "ไอโอสีดำ"