วันพุธที่ 27 พ.ย.67 สถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ส่งผลให้ได้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เป็นผลจากมรสุมตะวันออกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านอ่าวไทยตอนล่างและประเทศมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ส่งผลให้มีเมฆมากกับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และมีฝนหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่
ในพื้นที่ จ.นราธิวาส หลังจากที่เจอสภาวะฝนตกหนักมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมา 4 วัน ส่งผลให้แม่น้ำสายหลักทั้ง 3 สาย คือ แม่น้ำบางนรา สายบุรี และโก-ลก ได้เอ่อล้นตลิ่งแล้วในบางส่วน และได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะในช่วงคืนที่ผ่านมา จากผลพวงของแม่น้ำบางนราและน้ำทะเลหนุน ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักได้ไหลทะลักเข้าท่วมในพื้นที่เขตเทศบาลเมือนราธิวาส ถนนสายหลักทุกสายรวมทั้งร้านค้าบ้านเรือนของประชาชนมีน้ำท่วมขังสูง โดยเฉลี่ย 30-40 เซนติเมตร
รายงานจากกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส ระบุว่า มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว 10 อำเภอจากทั้งหมด 13 อำเภอ คือ อ.บาเจาะ อ.แว้ง อ.รือเสาะ อ.เจาะไอร้อง อ.สุคิริน อ.เมืองนราธิวาส อ.สุไหงปาดี อ.ตากใบ อ.สุไหงโก-ลก และอ.ระแงะ
โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.สุคิริน ถือว่าได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากถนนสายหลักและสายรองถูกตัดขาด ที่บริเวณช่วงบ้านปารีย์ หมู่ 3 ต.มาโมง และช่วงบริเวณถนนสายสุคิรินไปตำบลภูเขาทอง ถนนทรุดจนเสาไฟฟ้าล้ม
ส่วนที่ อ.รือเสาะ มีดินสไลด์ทับเส้นทาง สายเขายือลาแป ช่วงบ้านยือลาแป หมู่ 3 ต.สุวารี และในพื้นที่ อ.แว้ง ปริมาณน้ำจากคลองสาขาของแม่น้ำโก-ลก ได้ล้นตลิ่งได้ไหลบ่าเข้าท่วมในพื้นที่ตลาด อ.แว้ง ซึ่งมีน้ำท่วมขังโดยเฉลี่ย 40 เซนติเมตร บางจุดรถยนต์ขนาดเล็กทุกชนิดไม่สามารถแล่นผ่านไปมาได้
@@ โก-ลกน้ำล้นตลิ่งท่วม 7 ชุมชนสูงเกือบ 2 เมตร
ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก สถานการณ์ฝนตกหนักทำให้แม่น้ำโก-ลก ซึ่งมีปริมาณน้ำสะสมอยู่แล้ว และต้องรองรับมวลน้ำป่าจากเทือกเขาสันกาลาคีรีที่ไหลลงมาบรรจบ ส่งผลทำให้ล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว และเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนหัวสะพาน ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนท่าโรงเลื่อย ชุมชนท่าประปา ชุมชนท่าชมพู ชุมชนโต๊ะอาแน และชุมชนท่าเจ๊ะกาเซ็ง ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ส่งผลทำให้มีน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ย 70 -170 เซนติเมตร
ชาวบ้านต้องใช้เรือพายเป็นพาหนะ และต้องอพยพสิ่งของจำเป็นหนีน้ำไปอาศัยอยู่ที่บริเวณชั้น 2 และชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งต้องอพยพไปอยู่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โรงเรียนเทศบาล 4 บ้านทรายทอง โดย นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก ได้เตรียมจัดสถานที่เอาไว้ ซึ่งขณะนี้มีผู้อพยพไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฯดังกล่าวแล้ว จำนวน 75 คน จาก 4 ชุมชน
@@ อุทกภัย 3 อำเภอยะลา กระทบ 16,000 ครอบครัว
เมื่อเวลา 08.30 น.วันเดียวกัน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา รายงานว่า ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.ยะลา ประกอบด้วย อ.เมืองยะลา อ.บันนังสตา และ อ.ยะหา มีประชาชนได้รับผลกระทบรวม 16,589 ครัวเรือน แยกตามพื้นที่ดังนี้
- อ.เมืองยะลา เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 10 ตำบล 26 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบรวม 16,501 ครัวเรือน โดยเฉพาะที่ ต.สะเตงนอก เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด จำนวน 13 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบมากถึง 15,000 ครัวเรือน
- อ.บันนังสตา เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน มีผู้ได้รับผลกระทบ 16 ครัวเรือน
- อ.ยะหา เกิดอุทกภัยขึ้นในพื้นที่ 6 ตำบล 16 หมู่บ้าน มีผู้ได้รับผลกระทบรวม 73 ครัวเรือน
@@ เมืองยะลาท่วมหนักสุดในรอบ 20 ปี
ชาวบ้านในเขตเทศบาลนครยะลา กล่าวว่า บริเวณถนนผังเมือง 4 เกิดน้ำท่วมสูงเป็นประวัติการณ์ จำได้ว่าที่นี่น้ำท่วมครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน โดยมวลน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ ต.บุดี และ ต.สะเตงนอก ได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลาในหลายพื้นที่ ประกอบด้วย ชุมชนหลังโรงเรียนจีน ชุมชนธนวิถี ชุมชนเมืองทอง ชุมชนหลังวัดยะลาธรรมาราม ชุมชนเสรี ชุมชนวิฑูรอุทิศ 10 ชุมชนหลังโรงเรียนเทศบาล 5 ชุมชนจารูนอก ชุมชนจารูพัฒนา ชุมชนสิโรรส 8 และชุมชนสันติสุข
สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วงบริเวณถนนผังเมือง 4 ถนนธนวิถี ตลาดมะพร้าว หน้าสถานีรถไฟยะลา หน้าโรงแรมยะลารามา ถนนพิพิธภักดีช่วงหน้าสถานีรถไฟ และมวลน้ำยังคงไหลเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากฝนยังคงตกลงมา
ขณะที่โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครยะลา ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนเทศบาล 1–6 ได้ประกาศหยุดการเรียนการสอน ตั้งแต่วันที่ 27-29 พ.ย.67 และจะเปิดการเรียนการสอนปกติในวันที่ 2 ธ.ค.67 และทางสถานีรถไฟยะลาก็ได้ประกาศหยุดการเดินรถเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเส้นทางระหว่างสถานีไม้แก่นและสถานีรามันได้เกิดน้ำท่วมรางรถไฟ
@@ เบตงดินสไลด์ถนนทรุดกระทบการสัญจร
ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา นายสมัคร นอระพา นายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ พร้อมด้วย นายอับดุลรามัน คอแดะ กำนัน ต.ธารน้ำทิพย์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบดินสไลด์ถนนทรุดตัว พื้นที่หมู่ 3 บ้านกาแป๊ะซาลัง ต.ธารน้ำทิพย์ ซึ่งเป็นถนนเชื่อมต่อไปยังหมู่บ้าน หมู่ 5 บ้านราโมง ต.ยะรม หลังเกิดดินสไลด์ถนนทรุดตัวของไหล่ทางเป็นเหวลึกกว่า 4 เมตร ทำให้พื้นถนนเกือบขาดออกจากกันเป็นแนวยาว 15 เมตร และใต้ถนนยังเกิดโพรงลึกที่พร้อมจะถล่มลงมาได้หากไม่มีการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนและผู้ใช้เส้นทาง
เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่หมวดทางหลวงยะรมได้ติดตั้งป้ายเตือน และนำแผงกั้นจราจรไปกั้นจุดที่เกิดดินสไลด์เอาไว้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน
ทางนายกเทศมนตรีตำบลธารน้ำทิพย์ ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนได้เฝ้าระวังและออกประกาศเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยใกล้กับภูเขาและเนินเขาให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในบางพื้นที่อาจทำให้สถานการณ์ดินสไลด์รุนแรงขึ้นได้
@@ ปัตตานีประกาศ “ทุ่งยางแดง – มายอ” พื้นที่ภัยพิบัติ
วันเดียวกัน ที่ห้องศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน EOC สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี อาคาร 3 ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัด นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ เเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ในที่ประชุมระบุว่า จ.ปัตตานี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ โดยประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เหตุอุทกภัย รวม 11 ตำบล 45 หมู่บ้าน 1,939 ครัวเรือน มีประชาชนได้รับผลกระทบรวม 7,020 คน แยกตากพื้นที่ได้ดังนี้
- อ.ทุ่งยางแดง 4 ตำบล 20 หมู่บ้าน 520 ครัวเรือน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,115 คน
- อ.มายอ 7 ตำบล 25 หมู่บ้าน 1,419 ครัวเรือน รประชาชนได้รับผลกระทบ 4905 คน
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯปัตตานี กล่าวเน้นย้ำให้นายอำเภอทั้ง 12 อำเภอ ติดตามสถานการณ์ ดูแลความปลอดภัยและอพยพประชาชนทุกช่องทางอย่างเร่งด่วน
@@ จี้รัฐบาลเร่งรับมือ “อย่าซ้ำรอยวิกฤติภาคเหนือ”
นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ได้เรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย เร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมหนัก หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องส่งความช่วยเหลือจากส่วนกลาง เพราะมองว่าเป็นน้ำท่วมตามฤดูกาล และน้ำจะระบายได้รวดเร็ว แต่ข้อมูลจากพื้นที่กลับแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดรุนแรงเกินกว่าปกติ
นายสรรเพชญ ระบุว่า จังหวัดสงขลา ยะลา และพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพ บ้านเรือนเสียหาย ถนนหลายสายไม่สามารถสัญจรได้ สถานการณ์นี้สะท้อนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง
ทั้งนี้ นายสรรเพชญ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งระดมทรัพยากร สรรพกำลังต่างๆ เข้ารับมือ ไม่ต้องรอให้สถานการณ์บานปลายแล้วค่อยมาแก้ไขปัญหาทีหลัง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาอย่างเป็นธรรม เสมอภาค ไม่ว่าจะอยู่ภูมิภาคไหน และต้องแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด
“เราไม่อยากให้สถานการณ์ซ้ำรอยเหมือนภาคเหนือ ที่ช่วงแรกยืนยันว่าสามารถควบคุมได้ แต่สุดท้ายกลับเสียหายหนัก รัฐบาลต้องจริงจังตั้งแต่ต้น เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” นายสรรเพชญ กล่าว