ข้อเสนอ และประเด็นศึกษาที่เกี่ยวกับแก้ไขปัญหาไฟใต้ ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังพิจารณา และ “ทีมข่าวอิศรา” นำมาเผยแพร่นั้น หลายเรื่องค่อนข้างอ่อนไหว
อ่านประกอบ : จ่อรื้อใหญ่โครงสร้างดับไฟใต้ “สมช. - ทัพ 4 - คณะพูดคุยฯ”
โดยเฉพาะ 2 เรื่องสำคัญ คือ
หนึ่ง การเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข ซึ่งมีชื่ออดีตทหารหลุดออกมา
สอง ไอเดียการประกาศให้ บีอาร์เอ็น เป็นกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งเรื่องนี้จะย้อนไปกระทบกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขไปด้วยโดยปริยาย
“ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมความเห็นจากนักวิชาการ ผู้รู้ด้านความมั่นคง และภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ มานำเสนอ
ผศ.ดร.อันวาร์ กอมะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองว่า การประกาศให้บีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มก่อการร้าย จะเป็นการส่งสัญญาณเชิงลบต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข จะทำให้ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น มีความเป็น “ปัญหาข้ามชาติ” มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐไทยไม่ต้องการตั้งแต่แรก
ส่วนตำแหน่งสำคัญใน สมช.และคณะพูดคุยฯ ควรเป็นพลเรือนมากกว่าทหารหรือตำรวจ
อาจารย์ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ นักวิชาการอิสระ อดีตประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ให้ความเห็นว่า การประกาศให้บีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มก่อการร้ายไม่ใช่เรื่องดี แต่จะเป็นการยกระดับให้บีอาร์เอ็นมีสถานะสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ และเป็นการเปิดช่องให้บีอาร์เอ็นมีแนวร่วมเป็นกลุ่มก่อการร้ายสากลไปโดยปริยาย
ส่วนการรื้อกลไกอื่นๆ หากนำทหารกลับมาคุม จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เหมือนหลงป่า โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ หากเปลี่ยนลักษณะที่เป็นข่าว เป็นการเปลี่ยนในกรอบคิดเดิม ซึ่งจะไม่มีผลในเชิงคุณภาพใดๆ
อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า หากประกาศให้บีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มก่อการร้าย จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในพื้นที่ ไม่มีนักท่องเที่ยว เพราะจะพากันหวาดกลัว
ส่วนการเปลี่ยนตัวคนคุมงานความมั่นคง ต้องรอดูชื่อก่อน แต่สำหรับหัวหน้าคณะพูดคุยฯ อยากให้เป็นพลเรือนมากกว่าทหาร เพราะถ้าเป็นทหาร ประชาชนจะไม่มีส่วนร่วม เป็นการแก้ปัญหาแบบ Top down เหมือนเดิม
@@ “อ.ฐิติวุฒิ” เทียบข้อดี-ข้อเสีย “BRN ก่อการร้าย”
รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเชี่ยวชาญปัญหาชนกลุ่มน้อยและการก่อการร้าย ได้ทำตารางเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการประกาศให้กลุ่มติดอาวุธในภาคใต้ เป็นกลุ่มก่อการร้าย พร้อมหมายเหตุเอาไว้อย่างน่าสนใจ
(อ่านข้อมูลจากตารางด้านล่างนี้)
อาจารย์ฐิติวุฒิ ให้ข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า เรื่องความพร้อม หากปัญหาภาคใต้ของไทยถูกยกระดับเป็นการเมืองระหว่างประเทศ มิตรประเทศของไทยมีความพร้อมหรือไม่ที่จะร่วมต่อสู้ไปกับไทย “เพราะก่อการร้ายบ้านเรา แต่ไม่ใช่การก่อการร้ายบ้านเขา”
นอกจากนั้น ยังต้องพิจารณาเรื่องภัยแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบและการก่อการร้าย เช่น ยาเสพติดกับการก่อการร้าย รูปแบบธุรกิจ และเครือข่ายการฟอกเงิน