ไฟใต้ ณ ห้วงเวลานี้ ไม่ใช่สถานการณ์รุนแรงแบบปกติอย่างแน่นอน
แม้เหตุการณ์ความไม่สงบจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง หลายเรื่องไม่ค่อยเป็นข่าว ยกเว้นล่าสุดที่กลุ่มชายฉกรรจ์ชุดดำบุกปล้นปืน เผาอาคาร บ้านพัก และวางระเบิดภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา
ทว่าเมื่อเจาะรายเหตุการณ์ จะพบว่าล้วนร้ายแรงและสร้างความเสียหายหนักหน่วง
เช่น เหตุลอบวางระเบิดโจมตีรถกระบะของทหารพราน ในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อ 17 ก.ย.67 แรงระเบิดอัดรุนแรงกระทั่งรถพลิกคว่ำตกถนน เสียหายยับเยิน กำลังพลบาดเจ็บ 4 นาย
ก่อนหน้านั้น 3 วัน คือ วันที่ 14 ก.ย. คนร้ายวางระเบิดตู้เอทีเอ็ม ยิง และเผาอาคารสำนักงาน อบต.บ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยเหตุบึ้มตู้กดเงินด่วน รุนแรงถึงขั้นตัวตู้ซึ่งเป็นเหล็กกระเด็นจากจุดติดตั้ง
ยังไม่นับคดีสำคัญที่ย้อนศรกลับไปเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่างคดีตากใบ 2 สำนวนที่ทยอยขึ้นสู่ศาล แม้จะใกล้ขาดอายุความเต็มทีก็ตาม
ไม่ว่าสุดท้ายกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลจะได้พิจารณาคดีตากใบหรือไม่ แต่ภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่และรัฐไทยก็เสียหายซ้ำอีก จากที่เคยเสียหายมาตลอด 20 ปีของเหตุการณ์
ทุกอย่างมาประดังในช่วงที่กระบวนการเรียกร้องสันติภาพผ่านโต๊ะเจรจาที่ฝ่ายรัฐมีแนวโน้มเสียเปรียบ ถูกดันเข้าเวทีรัฐสภา และขับเคลื่อนผ่านองค์กรฝ่ายการเมือง รวมถึงพรรคการเมือง ซึ่งมีจุดยืนตรงข้ามกับกองทัพ และ กอ.รมน. ผู้เป็นเจ้าภาพในภารกิจดับไฟใต้
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญของเดือน ก.ย.ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียด คือ
- เป็นช่วงเปลี่ยนปีงบประมาณ สลับกำลังทหาร ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง
- ฟากฝั่งทหาร มีการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่
- ฟากฝั่งการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ แม้จะมีพรรคแกนนำคือเพื่อไทยพรรคเดิม แต่นายกฯคนใหม่
รู้กันดีว่า ปัญหาไฟใต้เปรียบเสมือน “ยาขม” ของรัฐบาลเพื่อไทย และรัฐบาลใต้ร่มของอดีตนายกฯทักษิณในอดีต ฉะนั้นสถานการณ์ในห้วงนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการ “รับน้อง” และจับจ้องว่ารัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวอดีตนายกฯทักษิณ จะเดินหน้านโยบายดับไฟใต้อย่างไร
ข้อมูลข่าวเชิงลึกที่ได้รับมา ชัดเจนว่า อดีตนายกฯทักษิณ ตลอดจนพรรคเพื่อไทยหมายมั่นที่จะ “แก้มือ” ด้วยการปลดชนวนไฟใต้ให้ได้
แนวโน้มของการ “รื้อใหญ่” โครงสร้างที่เป็นกลไกดับไฟใต้ ทั้งหน่วยราชการ และคณะกรรมการชุดต่างๆ จะเกิดขึ้นแน่นอน
1.วางตัวเลขาธิการ สมช.คนใหม่ เป็นตำรวจมือดีจากหน่วยข่าว รับไม้ต่อจาก พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เลขาธิการ สมช.ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือน ก.ย.นี้
2.ตำรวจมือดีจากหน่วยข่าว อาจมีข้อจำกัดเรื่องการเทียบขั้น หรือ “ซี” เพราะตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เป็นข้าราชการพลเรือน ระดับ 11 จึงอาจมีการหามือดีอีกคนมาดำรงตำแหน่งคั่นเวลา
แต่มือดีคนนี้ไม่ใช่ไก่กา เป็นตัวจริงที่มีประสบการณ์และผ่านงานมาโชกโชน นั่นก็คือ นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
นายนันทพงศ์ เคยอยู่ สมช. และเคยทำงานเป็นคีย์แมนใน คปต. หรือ คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็น “หน่วยงานประสานกลาง” ที่เชื่อมระหว่างหน่วยในพื้นที่กับรัฐบาล ในภารกิจดับไฟใต้ยุค คสช.
นายนันทพงศ์ อาจจะขยับมาเป็นรองเลขาธิการ สมช. คุมภารกิจดับไฟใต้ หรืออาจขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.ห้วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ตำรวจมือดีจากหน่วยข่าว จะมารับไม้ต่อเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
3.งานภาคใต้ใน สมช.ถูกกำกับและ “บังคับวิถี” โดยนายทหารระดับนายพล ชื่อย่อ “ส.” ที่เคยผ่านงานภาคใต้ และเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.รอย ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาก็มีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาขึ้นมาซ้อน “คณะพูดคุยดับไฟใต้” หลังทิศทางการพูดคุยถูกทักท้วงว่ารัฐบาลไทยกำลังเสียเปรียบบีอาร์เอ็น
4.มีแนวโน้มเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จาก นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. เป็นนายทหารที่เคยผ่านงานภาคใต้ และเคยอยู่ในคณะพูดคุยฯมาก่อน
ตามข่าวมีการพูดถึงชื่อ พลเอกชินวัฒน์ แม้นเดช อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และยังอ้างว่ามีสัญญาณตอบรับจาก “คนโตบ้านจันทร์ฯ” เรียบร้อยแล้ว ส่วนความจริงจะถึงขนาดตามที่อ้างเลยหรือไม่...ต้องรอติดตาม
5.มีการจับตาบัญชีแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ในส่วนของ “รองแม่ทัพภาคที่ 4” มีการส่ง พลตรี ชาคริต อุจะรัตน (ตท.28) ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 เป็นรองแม่ทัพภาค 4 เพื่อจ่อขึ้นแม่ทัพภาคที่ 4 ในปีหน้า ต่อจาก พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ป้ายแดง ที่มีเวลาแค่ 1 ปีในการหน้าที่
เรื่องนี้เริ่มมีการวิจารณ์กันหลายวง โดยเฉพาะในหมู่นายทหารทัพภาค 4 เพราะทิศทางการทำงานจะเปลี่ยนไป หากได้นายทหารจาก “รบพิเศษ” มาเป็นแม่ทัพ โดยเฉพาะในภารกิจดับไฟใต้
ในอดีตเคยมีนายทหารสายรบพิเศษมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 บ้างเหมือนกัน ในห้วง 20 ปีไฟใต้ เช่น พล.อ.องค์กร ทองประสม ขณะที่ในระดับรองแม่ทัพ ก็เคยมี พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ส่วนระดับปฏิบัติในพื้นที่ ก็มี “รบพิเศษ” เป็นหน่วยเฉพาะกิจ ปฏิบัติงานอยู่ด้วยเช่นกัน
หากปีหน้ามีการเปิดทางให้ “นายทหารรบพิเศษ” ขึ้นเป็นแม่ทัพ ย่อมแปลว่าทิศทางงานดับไฟใต้จะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแม่ทัพภาคที่ 4 จำนวน 4 คนนับย้อนขึ้นไป ในห้วงเวลาเกือบ 1 ทศวรรษ เป็นสายลูกหม้อกองทัพภาคใต้ทั้งสิ้น
ตั้งแต่ พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ หรือ “บิ๊กเดฟ”
ต่อด้วย พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หรือ “แม่ทัพเกรียง”
สานต่อที่ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค หรือ “แม่ทัพต้น”
และล่าสุด พล.ท.ไพศาล หนูสังข์
โดยมีหัวขบวนคือ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชน์ หรือ “บิ๊กเมา” ซึ่งเป็นแม่ทัพช่วงปี 2553-2556
ฉะนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของแม่ทัพ ยุทธศาสตร์และรูปแบบการทำงานย่อมเปลี่ยนตาม
ที่สำคัญมีข่าวว่านายทหารรบพิเศษผู้นี้ จริงๆ แล้วจะขึ้นแม่ทัพปีนี้เลยด้วยซ้ำ แต่ติดอุปสรรคบางประการ จึงรอขึ้นปีหน้า
หากมองเชื่อมโยงถึงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ที่ฝ่ายการเมืองวาง “ตัวจริงจากตำรวจหน่วยข่าว” เอาไว้รอขึ้นปีหน้า ก็พอจะเห็นร่องรอย และภาพจิ๊กซอว์ชัดเจนขึ้น
6.สำคัญที่สุด คือการเตรียมหาช่องทางประกาศให้ “บีอาร์เอ็น” เป็นองค์กรก่อการร้าย ไม่ใช่นักสู้เพื่อปลดปล่อยดินแดนปาตานีตามที่ฝ่ายขบวนการกล่าวอ้าง ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างละเอียดรอบคอบ
สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงทั้่งหมดนี้จะทำได้แค่ไหน และจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไร เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์...
และคงเห็นผลในระยะไม่นาน!