ศอ.บต.คือหน่วยงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อย่างแท้จริง เหตุที่ต้องใช้ ศอ.บต.เพราะพื้นที่ชายแดนใต้มีอัตลักษณ์พิเศษ มีปัญหาความมั่นคง จึงต้องใช้หน่วยงานพิเศษ และกฎหมายพิเศษ
แต่ไม่ใช่กฎหมายความมั่นคง เพราะมุ่งงานพัฒนา เยียวยา และดูแลประชาชน
พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า พ.ร.บ. ศอ.บต. คือกฎหมายที่กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. มีรองนายกฯ ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย มานั่งเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาพื้นที่ปลายด้ามขวาน โดยมี ศอ.บต.เป็นเสมือนฝ่ายเลขาฯ และเป็นหน่วยปฏิบัติที่สำคัญ
กพต.ทำงานคู่ขนานกับมิติความมั่นคง ซึ่งรับผิดชอบโดย กอ.รมน. คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งใช้กฎหมายอีกฉบับ คือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
งานดับไฟใต้จึงเหมือนเดินคู่กัน 2 ขา โดยมี ศอ.บต.เดินในด้านการพัฒนา เยียวยา และดูแลพี่น้องประชาชนดังกล่าว
@@ ยกร่างระเบียบเยียวยาเหยื่อไฟใต้ฉบับใหม่
เมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีการประชุม กพต.ครั้งที่ 2/2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพต. เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระการพิจารณาเห็นชอบร่างระเบียบ กพต.ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งเป็นการทบทวนมติ กพต. ครั้งที่ 1/2565 ในเรื่องการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ โดยการสนับสนุนงบประมาณอุดหนุนให้กับมูลนิธิรัฐบุรุษ
และขอความเห็นชอบยกเลิกคำสั่งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานภายใต้ กพต. ในห้วงพ.ศ 2564-2567 พร้อมติดตามความก้าวหน้าการยกระดับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐติดชายแดนไทยของมาเลเซีย สู่การเป็นเมืองคู่แฝด (twin cities)
การประชุมครั้งนี้มี ศอ.บต.เป็นเลขานุการ โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. และ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. เข้าร่วมประชุม
สำหรับการพิจารณาร่างระเบียบว่าด้วยให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับล่าสุด จะประกอบไปด้วยเนื้อหาจำนวน 5 หมวด และบทเฉพาะกาล ประกอบด้วย
- กำหนดนิยามสำคัญ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ถูกตีความอย่างกว้างขวาง จนอาจทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้
- กำหนดให้เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้รักษาการระเบียบ
- กำหนดหน้าที่ของ ศอ.บต. ในการขับเคลื่อนงานการให้ความช่วยเหลือเยียวยา
- กำหนดยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ งบประมาณ บุคลากร การจัดทำข้อมูล เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (เมื่อไม่นานนี้เพิ่งมีประชุมบูรณาการข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบฯ)
- กำหนดให้มีคณะกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธาน และมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 23 คน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ออกหลักเกณฑ์ ตีความ และวินิจฉัยปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้ระเบียบ และอื่นๆ
เป้าหมายก็เพื่ีอให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
@@ รับมอบ “มุ้ง” ร่วมป้องกันมาลาเรียระบาดยะลา-นราฯ
นอกจากงานเยียวยา และงานด้านการพัฒนาแล้ว อีกหนึ่งภารกิจที่ ศอ.บต.รับผิดชอบ และส่งผลโดยตรงกับพี่น้องประชาชน ก็คือภารกิจดูแลคนชายแดนใต้ เป็นการดูแลทางตรงเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ และกิจวัตรประจำวันในทุกๆ มิติ
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุม ศอ.บต. สโมสรโรตารียะลา ได้จัดพิธีมอบมุ้งและสิ่งของต่างๆ ในโครงการป้องกันกำจัดโรคมาลาเรียในประเทศไทย โดยมี นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้แทนรับมอบ และส่งต่อมุ้งตลอดจนสิ่งของในโครงการป้องกันกำจัดโรคมาลาเรีย ผ่านทาง นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จ.สงขลา เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งพบการระบาดของโรค
ทั้งยังมี ดร.รุ่งระวี ทิพย์มนตรี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายสกนธ์ อึ่งสร้อยทอง อดีตผู้ว่าการภาค 3330 (หมายถึง โรตารี ภาค 3330 ครอบคลุมจังหวัดในภาคใต้ ภาคตะวันตก รวมถึงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ รวม 23 จังหวัด) กล่าวว่า จากการศึกษาและสืบค้นข้อมูลพบว่า โรคมาลาเรียมีการระบาดเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปัญหาการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีผู้อพยพและผู้หลบหนีเข้าเมือง ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะนำเชื้อไข้มาลาเรียเข้ามา และทำให้เกิดการระบาดได้
จึงได้หารือกับหน่วยงานต่างๆ ผ่านการประชุมวางแผนหลายครั้ง ทั้งที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่สำนักงานของ USAID และประชุมทางออนไลน์ จนเป็นที่มาของแผนงานโครงการ
ทั้งนี้ จากการที่สโมสรโรตารียะลาได้ประชุมร่วมกับกลุ่มงานศตม.12 (ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 12) พบว่ามีการแพร่ระบาดอย่างมากโดยเฉพาะ จ.ยะลา และนราธิวาส ส่วน จ.ปัตตานีเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาด แต่เป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง จึงได้มีการกำหนดพื้นที่ที่จะลงไปประชาสัมพันธ์ ป้องกัน และมอบมุ้งพร้อมอุปกรณ์ป้องกันยุงให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยง
การดำเนินโครงการป้องกันกำจัดโรคมาลาเรียในประเทศไทยครั้งนี้ หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ Rotary International จะเล็งเห็นและนำไปเป็นโครงการหลัก และมีองค์กรต่างๆ ในระดับโลกให้การสนับสนุน เหมือนโครงการ End Polio (โครงการหยุดโปลิโอ ที่ขับเคลื่อนโดยโรตารี) ที่เราประสบความสำเร็จมาแล้ว