บ้านเรายังอลหม่าน ลุ้นกันรายวันกับการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง สว. ซึ่งมีกระแสวิจารณ์ว่าเต็มไปด้วย “ค่ายสีน้ำเงิน”
อังกฤษ หรือ สหราชอาณาจักร จัดการเลือกตั้งหลังวันเลือก สว.ระดับประเทศหลายวัน แต่แค่วันเดียวก็รู้ผล และรัฐบาลใหม่กำลังจะเริ่มทำงานแล้ว
กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระ จากแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา สังเกตการณ์ผลการเลือกตั้ง และวิเคราะห์ทางการเมืองของอังกฤษ ตลอดจนของยุโรปอย่างน่าสนใจ
@@ อังกฤษเลี้ยวซ้าย?
ผลการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักรทำให้โลกตะลึง
พรรคแรงงานซึ่งมีนโยบายซ้าย-กลาง กวาดเสียงข้างมากเข้าสภาจากการเลือกตั้งวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 เพียงพอที่จะจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ทันที
พรรคอนุรักษ์นิยมที่มีนโยบายขวาและขวา-กลาง ภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี Rishi Sunak ต้องวางมือจากอำนาจที่คุมมาติดต่อกัน 14 ปี ออกมาขอโทษประชาชนว่าได้ทำทุกอย่างสุดความสามารถแล้ว
การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนด นายกฯ Sunak สร้างความประหลาดใจให้ทุกคน โดยประกาศในวันที่ 22 พฤษภาคม ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งทุกพรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก
แต่ฝ่ายรัฐบาลคงประเมินว่าตนเองได้เปรียบ และจะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะรักษาตำแหน่งต่อไป เนื่องจากสองวิกฤตในประเทศนั้นเริ่มมีตัวเลขในทิศทางที่น่าพอใจ คือ
1) อัตราเงินเฟ้อ และ 2) การเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
แต่ในที่สุดผลออกมาตรงกันข้าม คือ ตำแหน่งในสภามีทั้งสิ้น 650 ที่นั่ง เสียงข้างมากจะต้องได้ 326 ที่นั่งขึ้นไป
พรรคแรงงานกวาดได้ 411 ที่นั่ง จากเดิม 214
พรรคอนุรักษ์นิยมลดลดลงเหลือ 121 จากเดิม 252
พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย เพิ่มเป็น 72 จากเดิม 64
อัตราผู้มาลงคะแนนครั้งนี้ 59.9% ต่ำกว่าครั้งที่แล้ว 7.4%
ระบบการเมืองของอังกฤษเปิดโอกาสให้ Sir Keir Starmer ผู้นำพรรคแรงงานซึ่งได้เสียงข้างมากในสภาจัดตั้งรัฐบาล และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยทันที
คำถามที่ดังเซ็งแซ่คือ ทำไมประชาชนจึงเลือกฝ่ายค้าน?
ประเด็นในที่สาธารณะ : ที่ถูกนำมาหาเสียงในการเลือกตั้งมากที่สุดคือ
-เศรษฐกิจ
-การดูแลสุขภาพ
-การศึกษา
-การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
-การย้ายถิ่นฐาน/คนเข้าเมือง และ
-พลังงาน
ประเด็นในโซเชียลมีเดีย : สงครามในยูเครนทำให้อังกฤษต้องสูญเสียทรัพยากร หรืออาจนำอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ
และปัญหาคนเข้าเมือง หรือผู้ลี้ภัยโดยผิดกฎหมาย สร้างภาระสวัสดิการสังคมและกระเทือนต่อเศรษฐกิจ
แล้วนำสองเรื่องนี้มาโยงสรุปว่าสงครามในยูเครนทำให้ปัญหาเพิ่มมากจนไม่เห็นหนทางแก้
ประเด็นที่แท้จริง : การเลือกตั้งครั้งนี้พิสูจน์ได้ว่า ประเด็นสาธารณะและประเด็นในโซเชียลมีเดียที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงเรื่องย่อย และไม่ใช่เป็นตัวตัดสินการเลือกตั้งแต่อย่างใด
เหตุผลที่แท้จริง คือ พรรคอนุรักษ์นิยม เจอวิกฤตใหญ่สามอย่างคือ BREXIT, Covid-19 และเงินเฟ้อ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แม้พยายามเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาหลายคนประเทศยังดูถดถอย เศรษฐกิจทรุดลง สวัสดิการสังคมไม่ดีขึ้น
ความท้อแท้ใจและความเอือมระอาเรื้อรัง ทำให้การเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมเป็นจังหวะเหมาะ เปิดโอกาสให้พรรคแรงงานเข้ามาแก้ปัญหาระดับโครงสร้าง
และชัดเจนว่า “ไม่ใช่การเปลี่ยนกระแสเรื่องขวาไปซ้าย แต่ต้องการเปลี่ยนจากทิศทางปัจจุบันไปตรงกันข้ามมากกว่า”
@@ เลือกตั้งในยุโรปสวนทางกับอังกฤษอย่างไร?
ผลการเลือกตั้งปีนี้ในสหภาพยุโรปเห็นกระแสของประชานิยมหรือฝ่ายขวาและขวาจัดได้ที่นั่งมากขึ้นในสภาต่างๆ แต่ยังไม่ถึงขั้นการเปลี่ยนผู้บริหารประเทศหรือภูมิภาค
คาดว่าในระยะเวลาอันใกล้พรรคการเมืองที่มีเสียงเป็นกลางและขวา-กลางยังสามารถคุมอำนาจในการบริหารในยุโรปได้เป็นส่วนใหญ่ “ผลงานของขวาและขวาจัดจึงเป็นเหมือนสัญญาณเตือนล่วงหน้าเท่านั้น”
บทสรุป : ถ้ายุโรปหันไปทางขวา ทำไมอังกฤษหันไปทางซ้าย?
วิเคราะห์ว่า “ชาวยุโรปและอังกฤษเลือกฝั่งตรงข้ามรัฐบาลเพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วและชัดเจน ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือขวา”
“เป็นการลงโทษพรรคการเมืองที่อยู่ในอำนาจ มากกว่าที่จะเป็นชัยชนะของพรรคการเมืองที่ถูกเลือกเข้ามาใหม่”
หรือเข้าใจง่ายๆ คือ “ในปีนี้ชาวยุโรปและชาวอังกฤษไม่ได้เลือกพรรคฝ่ายค้านเพราะความชื่นชมในนโยบายที่ใช้หาเสียง แต่ทนรัฐบาลเดิมไม่ไหว จึงประท้วงแบบมีประสิทธิภาพที่สุดคือการเลือกตั้ง”
------------------------
ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก Keir Starmer https://www.facebook.com/KeirStarmerLabour/