ผู้ประสบภัยน้ำท่วม 8 อำเภอนราธิวาสกว่าครึ่งหมื่น บุกศาลากลางยื่นคำร้อง ปภ.จังหวัด ทวงถามเงินเยียวยา หลังประชุมตกลงกันแล้วแต่เรื่องเงียบหาย ซ้ำหน่วยงานรับผิดชอบโยนเรื่องกันไปมา
เมื่อเวลา 06.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 27 มิ.ย.67 ได้มีประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 8 อำเภอของ จ.นราธิวาส ประกอบด้วย อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.เจาะไอร้อง อ.ยี่งอ อ.เมืองนราธิวาส อ.ศรีสาคร อ.สุไหงปาดี และ อ.แว้ง จำนวน 5,000 คน ซึ่งเป็นผู้ประสบอุทกภัย ระหว่างวันที่ 25-28 ธ.ค.66 ไปรวมตัวกันที่บริเวณหน้าอาคารศาลากลางจังหวัดนราธิวาส
วัตถุประสงค์ของการรวมตัวกันคือ ประกาศให้โลกรู้ว่าพวกตนไม่ได้รับการเยียวยาจากสถานการณ์น้ำท่วม หรือบางรายแม้จะได้รับ แต่ก็น้อยเกินไป จนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม
กลุ่มผู้ประสบอุทกภัยได้มอบหมายให้ นางวิชชุเวช เอียดเต็ม เป็นแกนนำ และได้เข้ายื่นแบบร้องขอรับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 รวมทั้งหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 พร้อมหลักฐานรูปถ่ายความเสียหายของบ้านพักอาศัยและทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นทั้งหมด
สาเหตุที่ต้องรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัด เพราะก่อนหน้านี้มีชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยจำนวนหนึ่งนำคำร้องไปยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับขั้นตอนแล้ว แต่กลับถูกบ่ายเบี่ยง ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจมารวมตัวกันที่ศาลากลาง และขอส่งเรื่องให้ นายวสันต์ ไชยทวีวงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส โดยตรง
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยแต่ไม่ได้รับการเยียวยา หรือได้รับอย่างไม่เป็นธรรม ได้รวมตัวร้องเรียนมาแล้ว 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.67 ที่ อ.ระแงะ และวันที่ 25 พ.ค.67 ที่ศาลากลางจังหวัด โดยสิ่งที่ชาวบ้านพากันรับไม่ได้ คือบางคนได้เงินเยียวยาแค่ 100 บาท และเรื่องนี้เคยมี สส.พรรคประชาชาติลงพื้นที่มารับฟังความเดือดร้อน และนำไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
อ่านประกอบ : เยียวยาร้อยเดียว! หญิงพิการนราธิวาสน้ำท่วม-บ้านพัง สงสัยเอาอะไรคิด
อ่านประกอบ : ชาวบ้านนับพันบุกศาลากลางนราฯ น้ำท่วมใหญ่เยียวยาแค่หลักร้อย!
@@ ศูนย์ดำรงธรรมฯ ตั้งโต๊ะรับเรื่องส่งสำนักนายกฯ
ต่อมา นายสังคม เกิดก่อ ปลัดจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นายรุสดี ปูรียา นายอำเภอเมืองนราธิวาส และ นายวสันต์ ไชยทวีวงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส ได้ออกมาพบกับประชาชนผู้ประสบอุทกภัย พร้อมได้ทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากเงินงบประมาณการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา ทางจังหวัดไม่มีงบประมาณ แต่จะรับเรื่องดำเนินการ โดยผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัด เพื่อส่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาให้การช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป
จากนั้น นายสุบัญชา อินทฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมฯ ซึ่งติดราชการนอกสถานที่ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ นำโต๊ะมาตั้งเพื่อรับแบบฟอร์มร้องขอรับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พร้อมหลักฐานรูปถ่ายความเสียหายของบ้านพักอาศัยและทรัพย์สินทุกราย โดยจะส่งเอกสารต่างๆ ของผู้ประสบภัยทั้งหมดให้สำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการ ก่อนแจ้งผลความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะ
เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางศูนย์ดำรงธรรม จ.นราธิวาส จะทำหนังสือส่งให้ชาวบ้านทราบทุกรายในโอกาสต่อไป
@@ ฝ่ายการเมืองรับปากจ่ายรายละ 3 หมื่น
นางวิชชุเวช แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า “ความเดือดร้อนไม่ใช่แค่ 5 บ้าน 10 บ้าน ถ้าเขาไม่เดือดร้อนเขาไม่มากัน ต้องการให้คนทั้งประเทศเห็น เพราะเป็นเจ้าของเงิน เป็นเจ้าของภาษี จะได้เห็นเงินที่เจียดมาช่วยชาวบ้านในครั้งนี้ เขาเดือดร้อนจริง อยากให้ช่วยกัน”
“ท่านกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (โฆษกพรรคประชาชาติ) ท่านเคยมารับเรื่อง ก็เห็นใจ ยอมเอาข้อกฎหมายงี่เง่าไปปรับเปลี่ยน โดยประสานกับท่านทวี สอดส่อง รัฐมนตรียุติธรรม ท่านวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ท่านเห็นใจ วันนั้นถามท่านเลยว่า ภัยพิบัติขนาดนี้ น้ำท่วมขนาดนี้ ขอเงินเยียวยาชาวบ้านขั้นต่ำครอบครัวละ 3 หมื่นมากไปมั๊ย ท่านตอบว่าไม่มาก ชาวบ้านใจฟูเลย”
“แต่ต่อมากลับมีคลิปประชุมประจำเดือนของอำเภอ นายอำเภอหรือปลัดจังหวัดพูดมาเลย เสียหายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น ก็เลยให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่เดือดร้อนกันจริงๆ มาลงทะเบียน พอชาวบ้านลงทะเบียนเสร็จ ก็มีแรงกระทบมาหมด อบต.ต่อต้าน อำเภอต่อต้าน และได้ข่าวว่าจังหวัดก็ต่อต้าน คุณทำงานราชการต่อต้านประชาชนทำไม วันนี้เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาอย่างนี้ เขาผิดไหม ตอนแรกเราคุยกันอย่างดี เรามาใช้สิทธิ์ของตัวเอง” แกนนำผู้ประสบภัย กล่าว และว่าที่ผ่านมาเรื่องเงียบหายไป ชาวบ้านไปติดต่อหน่วยงานก็โยนกันไปมา จึงต้องนัดรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัด
@@ แจงทำตามขั้นตอนเพื่อความเสมอภาค
ด้าน นายวสันต์ ไชยทวีวงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังการประชุมเรามีหนังสือถึงพื้นที่เลย ให้อำเภอทุกอำเภอทบทวนและสำรวจใครตกหล่นบ้าง แต่ยังใช้กลไกลเดิม คือ เริ่มตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับอำเภอ ส่งมาที่คณะกรรมธิการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับจังหวัด นี่คือหลักการใช้เงินทดรองราชการ เป็นอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด
“เราก็เสร็จไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีตกหล่น ก็ยังต้องใช้หลักการเดิมเพื่อที่จะให้เกิดความเสมอภาค ในส่วนครั้งนี้เราอยากที่จะให้มีการสำรวจอย่างแน่ชัด คาดว่ จะมีการประชุมที่จังหวัดไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งแรกจะเป็นล็อตใหญ่ อาจจะตกหล่นบ้าง ก็จะมีการประชุมอีก ครั้งสองครั้ง เพื่อที่จะให้เรียบร้อย จะได้เสนอของบประมาณต่อไป”