ผู้ประสบอุทกภัย 6 หมู่บ้าน อ.ระแงะ นราธิวาส กว่า 400 คน รวมตัวเรียกร้องตรวจสอบเกณฑ์เยียวยาน้ำท่วม หลังพบจ่ายเงินไม่เป็นธรรม หวั่นมีการทุจริต หญิงพิการเป็นใบ้ได้เงินเยียวยาแค่ 100 บาท ขณะที่ชาวบ้านอีกรายลงทะเบียนและเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบแล้ว กลับถูกอ้างชื่อตกหล่น ผ่านมาเกือบครึ่งปีเรื่องเงียบหาย
เมื่อเวลา 09.30 น. วันศุกร์ที่ 17 พ.ค.67 ที่วัดชัยรัตนาราม หรือ วัดบ้านไทย หมู่ 3 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ได้มีตัวแทนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน 2 ตำบล คือ หมู่ 2 บ้านร่อน, หมู่ 3 บ้านไทย, หมู่ 4 บ้านแกแม, หมู่ 9 บ้านแกแมเก้า, หมู่ 11 บ้านบูเก๊ะบูแย ต.ตันหยงมัส และ หมู่ 6 บ้านลาไม ต.บองอ รวมจำนวนกว่า 400 คน ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 ธ.ค.66 มารวมตัวกันที่วัด เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยตามมาตรการเยียวยาของรัฐบาล
โดยชาวบ้านที่รวมตัวกันในครั้งนี้ กว่าร้อยละ 80 ไม่ได้รับการเยียวยา ด้วยเหตุผลไม่มีหลักฐานภาพถ่ายความเสียหายมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และบางส่วนก็เจอปัญหาภาพถ่ายที่ส่งเจ้าหน้าที่ไม่ตรงกับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ
@@ หญิงพิการเป็นใบ้ ได้เงินเยียวยาแค่ร้อยเดียว
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ มีชาวบ้านได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 77,000 บาท และต่ำสุดแค่ 100 บาท คือ นางธัญยาภรณ์ ยอดแก้ว อายุ 51 ปี ซึ่งเป็นผู้พิการ ไม่สามารถพูดได้
ตัวแทนชาวบ้านรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ติดกับบ้านเช่าของนางธัญยาภรณ์ (หญิงพิการ) บอกกับทีมข่าวว่า นางธัญาภรณ์เช่าบ้าน แถมยังเป็นผู้พิการด้วย ไม่รู้ราชการเอาอะไรมาวัดว่าได้เงินเยียวยาแค่ 100 บาท เขาได้รับความเสียหายเหมือนกับคนอื่น ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม และทรัพย์สินอีกจำนวนหนึ่ง
ระหว่างที่ตัวแทนชาวบ้านพูดแทนนางธัญยาภรณ์ เจ้าตัวได้พยายามอธิบายด้วยการใช้ภาษามือ โดยมีสีหน้าและดวงตาที่เศร้าคล้ายจะร้องไห้ออกมา
ชาวบ้านมารวมตัวกันเพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และเป็นคณะกรรมการพิจารณาเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยได้ลงมาดูข้อเท็จจริงด้วยตาตนเอง แทนการพิจารณาจากภาพถ่ายและบันทึกข้อความของผู้ที่ทำหน้าที่ในการสำรวจความเสียหาย มิฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่จบและบานปลาย คาดว่าหากมีการพิจารณาในลักษณะนี้ ชาวบ้านทั้งจังหวัดคงจะประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
@@ ลงทะเบียนแล้ว - จนท.ตรวจแล้ว แต่ชื่อหาย
น.ส.แอเสาะ เจ๊ะโอะ อายุ 45 ปี ชาวบ้านไทย ซึ่งไม่ได้รับเงินเยียวยา ได้พาทีมข่าวไปดูบ้านซึ่งปลูกสร้างอยู่ติดกับคลองห้วยจูซิง หมู่ 3 บ้านแกแม อยู่ต่ำกว่าถนนสายหลัก 1.5 เมต รและเป็นทางน้ำไหลผ่าน มีสภาพบ้านถูกกระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากพัดฝาผนังถล่มไปเกือบทั้งหลัง และมีเศษซากอิฐบล็อกตกเกลื่อน
เมื่อไม่ได้รับเงินเยียวยา น.ส.แอเสาะ จึงทำได้เพียงหาแผ่นสังกะสีเก่าๆ ของเพื่อนบ้าน รวมทั้งแผ่นป้ายโฆษณาต่างๆ มาปิดทับไว้ เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ได้ชั่วคราวไปก่อน
“รู้สึกน้อยใจมากๆ เพราะสภาพบ้านคือพังเสียหายแทบทั้งหลัง แต่ไม่ได้รับเงินเยียวยาเลยสักบาทเดียว บวกกับที่เรามีฐานะยากจนและลำบากอยู่แล้ว ตอนเกิดเหตุน้ำท่วมต้องหนีไปอยู่บนถนน ข้าวของเครื่องใช้รวมถึงเสื้อผ้าที่บ้านหายไปกับน้ำหมดเลย เสื้อผ้าแม้แต่ชิ้นเดียวก็ไม่มีจะใส่ ตอนที่ไปลงทะเบียนที่ อบต. ก็มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบที่บ้าน กลับไม่มีชื่อรับเงินเยียวยา”
“ที่สงสัยมากคือในบริเวณพื้นที่เดียวกันมีบ้าน 20 หลัง แต่ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยามีแค่ 3 หลังเท่านั้น คือบ้านของฉัน บ้านพี่ชาย และบ้านของแม่ โดยหลังอื่นได้รับเงินเยียวยาหมด เลยเกิดความสงสัยว่า เจ้าหน้าที่เอาหลักเกณฑ์อะไรมาวัด” น.ส.แอเสาะ ตั้งคำถาม
@@ ข้องใจหลักเกณฑ์ วอนตรวจสอบหวั่นทุจริต
น.ส.แอเสาะ กล่าวอีกว่า เมื่อรู้ว่าไม่ได้รับเงินเยียวยา จึงไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ ได้รับแจ้งว่ารายชื่อตกหล่น ให้รอรอบสอง แต่พอหลังจากรอบสองแล้วก็ไปลงทะเบียนที่ อบต. ก็มีเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบเหมือนเดิม แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปเลย
นางพัฒนี เหมพันธ์ ชาวบ้านอีกราย กล่าวว่า อุทกภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา ทำไมจ่ายเงินเยียวยาแบบไม่เป็นธรรม เอาหลักเกณฑ์อะไรมาวัดในการจ่ายเงินมาแบบนี้ ขอให้มีการตรวจสอบด้วยว่าใครเป็นคนจ่ายเงิน เงินที่ได้มาทำไมได้แค่ 100-200 บาท ถ้าได้แค่นี้แล้วจะเอามาทำอะไร ขอให้ช่วยตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเจ้าหน้าที่หรือส่วนไหนมีการทุจริต ก็ขอให้จัดการ เพราะตอนนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ฝากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องดูแลด้วย
“ส่วนที่บ้านตอนนี้ข้าวของยังล้างไม่หมดเลย ได้รับเงินเยียวยามาแค่ 2,000 บาท เทียบกับค่าน้ำยาซักผ้ายังไม่คุ้มกันเลย ในวันที่เกิดเหตุน้ำท่วมติดอยู่ในบ้าน 2 วัน แต่ยังดีที่เพื่อนบ้านเอาข้าวมาให้กิน” นายพัฒนี กล่าว