ผู้ประสบอุทกภัยนราธิวาสจาก 3 อำเภอ กว่า 1,000 คน รวมตัวศาลากลางจังหวัด ยื่นหนังสือถึงประธาน กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนฯ จี้พ่อเมืองทบทวนการจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมใหม่ หลังมีชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ตกสำรวจเพียบ
เมื่อเวลา 11.00 น. วันเสาร์ที่ 25 พ.ค.67 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนราธิวาสหลังใหม่ มีตัวแทนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.นราธิวาส ประกอบด้วย อ.รือเสาะ อ.ระแงะ และ อ.เมืองนราธิวาส จำนวนกว่า 1,000 คน เดินทางไปรวมตัวกัน
โดยชาวบ้านกลุ่มนี้บอกว่า เป็นผู้ประสบอุทกภัยอย่างหนักในรอบ 50 ปี เมื่อวันที่ 25-28 ธ.ค.66 ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ไม่ได้รับเยียวยาเลย จากการสำรวจตกหล่น ทำให้ไม่มีรายชื่อ
- กลุ่มที่ได้รับเยียวยา แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยเหมือนกัน
ยกตัวอย่าง บางรายได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 77,000 บาท แต่พื้นที่เดียวกันได้รับเงินเยียวยาน้อยที่สุดเพียง 100 บาท จึงไม่มั่นใจต่อกฏเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ
ชาวบ้านกลุ่มนี้มี นางวิชชุเวช เอียดเต็ม เป็นแกนนำ และได้มีผู้ประสบอุทกภัยสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยระบายความในใจผ่านเครื่องขยายเสียง ซึ่งบางช่วงบางตอนกินใจจนได้รับเสียงปรบมือกึกก้อง
@@ ย้อนรอยชุมนุมครั้งแรกที่ระแงะไร้ผล ก่อนบุกศาลากลาง
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ และมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเยียวยาอุทกภัย ได้รวมตัวชุมนุมกันมาครั้งหนึ่งแล้วที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” เคยเสนอข่าว และเกาะติดประเด็นนี้ โดยมีคำชี้แจงจากหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธาณภัยจังหวัดนราธิวาส อ้างว่าการเยียวยาจบไปแล้ว และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างชัดเจน
อ่านประกอบ : เยียวยาร้อยเดียว! หญิงพิการนราธิวาสน้ำท่วม-บ้านพัง สงสัยเอาอะไรคิด
อ่านประกอบ : “ปภ.นราฯ” แจงเกณฑ์เยียวยาน้ำท่วม แต่ไม่อธิบายกรณี 100 บาทถ้วน
@@ สส.กมลศักดิ์ รับร้องทุกข์ - ประชุมผู้ว่าฯสั่งทบทวน
การรวมตัวของชาวบ้านในครั้งนี้ เนื่องจาก นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้ทราบเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้าน และนัดหมายจะเดินทางมาติดตามสอบถามข้อมูลกับชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเยียวยาอุทกภัย
ต่อมาเวลา 14.00 น. สส.กมลศักดิ์ พร้อมกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัด และพบปะพูดคุยกับชาวบ้านที่ชุมนุมกันอยู่ จากนั้นได้รับหนังสือร้องทุกข์จากนางวิชชุเวช เอียดเต็ม แกนนำ พร้อมรับปากว่าจะไปตรวจสอบการเยียวยาเพื่อคืนความเป็นธรรมให้ต่อไป
จากนั้น สส.กมลศักดิ์ ได้ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำโดย ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยอนุญาตให้ตัวแทนชาวบ้าน 15 คน เข้าร่วมประชุมด้วย ใช้เวลานากว่า 2 ชั่วโมง
@@ ปลดล็อกสร้างบ้านมูโนะเหยื่อพลุบึ้ม - รื้อเยียวยาน้ำท่วม
ในที่ประชุมมีการพิจารณา 2 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก เรื่องความล่าช้าในการก่อสร้างบ้านเรือนของประชาชนชาวมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่ได้รับผลกระทบจากโกดังเก็บดอกไม้ไฟระเบิด เมื่อวันที่ 29 ก.ค.66 โดยเฉพาะบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ในโซนไข่แดง ที่ได้รับความเสียหายทั้งหลัง 85 หลัง
ล่าสุดหลังจากที่มีการพิจารณาปลดล็อคการว่าจ้าง ภายใน 1 เดือนนี้ ชาวบ้านสามารถหาผู้รับเหมาสร้างบ้านได้เอง แต่ทางจังหวัด หรือ ปภ. (สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) จะเป็นผู้ดูแลวงเงินการก่อสร้าง และจ่ายเป็นงวดๆ เพื่อป้องกันชาวบ้านนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น
ประเด็นที่ 2 เรื่องปัญหาการเยียวยาจากอุทกภัย ซึ่งหลังจากผู้ว่าฯนราธิวาส ได้รับฟังปัญหาจากตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุม จึงแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า เรื่องดังกล่าวจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม และจะมีการรื้อฟื้นการช่วยเหลือเยียวยา เพราะทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและตนเองไม่ทราบมาก่อน เพิ่งทราบจากข่าวที่มีสื่อมวลชนนำเสนอ จึงต้องขอเวลาตรวจสอบ และยืนยันจะได้รับความเป็นธรรมอย่างแน่นอน
@@ พบต้นเหตุปัญหา จนท.ใช้ดุลยพินิจกำหนดตัวเลข
สส.กมลศักดิ์ กล่าวว่า ได้รับฟังปัญหามาพอสมควรแล้ว จึงเป็นที่มาของการมารับฟังคำชี้แจงจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส อยากรู้กระบวนการต่างๆ ในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวบ้าน โดยวันนี้มีชาวบ้านหลายครัวเรือนที่มารอพบ มาจากหลายอำเภอ
หลังรับฟังปัญหาจากชาวบ้านพบว่า ชาวบ้านที่เดือดร้อนแยกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ลงทะเบียนแล้วไม่ได้รับเงินเยียวยาเลย กับกลุ่มที่ได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ
เมื่อได้ร่วมประชุมกับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มาชี้แจง ทำให้ทราบว่า กระบวนการและหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร พบว่าเป็นเรื่องของกระบวนการจัดการที่เริ่มต้นจากการลงไปสำรวจ ตลอดจนการรวบรวมเอกสารต่างๆ โดยคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจังหวัดและระดับอำเภอเป็นผู้ดำเนินการ หลังส่งต่อมายังจังหวัดเพื่อพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาโดยผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลในท้องที่ ซึ่งมองว่า การใช้ดุลยพินิจในการกำหนดตัวเลข เป็นต้นเหตุของปัญหา
“หลังจากนี้จะมีกระบวนการแก้ปัญหา โดยสรุปคือทางจังหวัดจะให้มีการทบทวน พิจารณาใหม่ทั้ง 2 กลุ่ม และในส่วนของ กมธ. หลังจากนี้ต้องให้หน่วยงานต้นสังกัดได้รับทราบปัญหา โดยจะเรียกผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง กมธ.เร็วๆ นี้” ประธาน กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร ระบุ