กระแส OTT และ วีดีโอ สตรีมมิ่ง ทำให้ตลาดการสร้างภาพยนตร์คึกคึก และโลกของ “หนัง” กลายเป็นเรื่อง “ไร้พรมแดน” อย่างสมบูรณ์
แม้ช่องทางการเผยแพร่แบบเก่าอย่างในโรงภาพยนตร์ ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่องทาง “ออนกราวด์” ก็ยังฟื้นคืนชีพขึ้นระดับหนึ่ง
เหตุนี้เอง “หนังไทยมลายู” หรือภาพยนตร์ไทยที่มีกลิ่นอายความเป็นมลายู ทั้งโลเคชั่น เรื่องราว ภาษา วัฒนธรรม สามารถขยายปริมณฑลจากตลาดภายในประเทศ สู่ตลาดระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง
เกรียงไกร มณวิจิตร ผู้กำกับภาพยนตร์รักนะซุปซุป และภาพยนตร์ของแขก ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยมลายู เผยว่า เตรียมเปิดตลาดภาพยนตร์ไทยในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างเป็นรูปะรรม หลังจากได้นำภาพยนตร์เรื่อง “รักนะ ซุปซุป” และ “ละติจุดที่ 6” ไปฉายที่โรงภาพยนตร์ Zawya Cinema กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากประชาชนทั่วไป และเยาวชนอียิปต์
ระหว่างวันที่ 3-5 มิ.ย.67 เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร ได้เชิญ เกรียงไกร ไปเป็นตัวแทนผู้ผลิตภาพยนตร์ไทย เพื่อทำกิจกรรมเปิดตลาดภาพยนตร์ไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง และเข้าพบหารือกับตัวแทนผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์รายใหญ่ของอียิปต์
รวมถึงผู้จัดเทศกาล Cairo International Film Festival (CIFF) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอาหรับและแอฟริกา และเป็นงานเดียวในภูมิภาคที่ได้รับการรับรองสถานะเป็น “A Festival” โดย International Federation of Film Producers Associations (FIAPF)
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร ได้จัดกิจกรรม “ผู้กำกับไทยพบปะกับนักศึกษาไทยในอียิปต์” แนะแนวให้แก่นักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อที่นั่น โดยให้ เกรียงไกร มณวิจิตร ผู้กำกับชาวมุสลิม และงกาญจนา ศรีแมน ผู้เขียนบทเรื่อง “รักนะ ซุปซุป” และ “ของแขก” เป็นวิทยากร พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสการทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
โดยทั้งคู่ได้ย้ำกับน้องๆ นักศึกษาถึงความสำคัญของการค้นหาตัวตนและความถนัด การฝึกฝนและสร้างโอกาสให้กับตนเอง การปรับตัวเข้าสู่ยุค AI ตลอดจนการใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อกลางในการส่งเสริมการดำเนินชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมตามแนวทางอิสลาม
นอกจากนี้ นายธนบดี จูทอง อุปทูตฯ ได้เปิดงาน “ฉายภาพยนตร์ไทย” ที่โรงภาพยนตร์ Zawya Cinema กรุงไคโร โดยในวันแรก มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง “รักนะ ซุปซุป” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทย-มลายู สไตล์โรเเมนติกคอมเมดี้ และยังมีการฉายภาพยนตร์ เรื่อง “ละติจุดที่ 6” ด้วย
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “รักนะ ซุปซุป” มีเนื้อหาแสดงให้เห็นถึงสังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย รวมถึงความคล้ายคลึงระหว่างไทยกับอียิปต์ โดยเฉพาะในเรื่องวัฒนธรรมอาหาร และผู้คนที่เป็นมิตร
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยในรอบการฉาย มีช่วงการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้กำกับช่วงท้ายเรื่องด้วย
โอกาสนี้ ทางสถานทูตยังได้จัดอาหารไทย-มลายูให้ผู้ชมได้ลองชิม อาทิ ซุปเนื้อวัว ข้าวยำ และไก่กอและ