ยิ่งนานวัน สถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมาดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และพร้อมที่จะยกระดับขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้
ทั้งยังตามมาด้วยการประกาศการเกณฑ์ทหารที่เป็นสัญญาณถึงความขาดแคลนกำลังพลในกองทัพ แต่ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนหนุ่มสาวพยายามที่จะหนีออกจากเมียนมา มายังประเทศไทยมากขึ้นด้วย ไม่นับรวมผู้อพยพหนีภัยสงครามซึ่งทะลักมาหลายระลอกแล้ว
หลายฝ่ายถามถึงท่าทีของรัฐบาลไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีพัฒนาการของปัญหาที่อยู่ในบริบทของไทย ได้แก่ การที่คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร จัดเวทีสัมมนาที่ห้องประชุมรัฐสภาเรื่องเมียนมาในวาระครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร (2-3 ม.ค.) แต่รัฐบาลทหารเมียนมาได้ส่งหนังสือประท้วง
ในอีกด้าน เรือรบหลวงประจวบคีรีขันธ์ เดินทางเยือนเมียนมา โดยมีเสนาธิการของกองทัพเรือภาค 3 เป็นหัวหน้าคณะ (1-3 มี.ค. ช่วงเวลาเดียวกัน) กลายเป็นท่าทีและสัญญาณที่ย้อนแย้งอย่างยิ่งของฝ่ายไทย
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดอกเตอร์ สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ถึงบทบาทของไทยที่ควรจะเป็นในวิกฤตเมียนมา โดยบอกว่า ในภาวะเช่นนี้ หลายฝ่ายอยากเห็น “บทบาทเชิงบวก” ของรัฐบาลไทยที่จะเข้ามาเป็นผู้ที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์สงคราม ซึ่งในการดำเนินการเช่นนี้มีประเด็นต่างๆ ที่ต้องตระหนัก ดังนี้
1.รัฐบาลต้องยอมรับเป็นหลักการในเบื้องต้นว่า วิกฤตสงครามกลางเมืองเมียนมามีผลกระทบใหญ่ต่อประเทศไทย ถ้าไม่ยอมรับหลักการนี้แล้ว ประเด็นที่เหลือทั้งหมดจะไม่มีนัยที่ต้องพิจารณา
2.ที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทย ทำให้ไทยหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นไทยควรต้องเข้าไปมีบทบาทเชิงบวกในการแก้ไขปัญหา เพื่อเสริมสร้าง “เกียรติภูมิงานการทูตไทย” ที่ตกต่ำมานาน และจะเป็นโอกาสของการสร้าง “ภาพลักษณ์ใหม่” ของนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลพลเรือนไทย
3.รัฐบาลไทยควรใช้โอกาสนี้สร้างบทบาทเชิงบวกจากวิกฤตเมียนมา ด้วยการทำหน้าที่เป็น “peace broker” เพื่อเปิด “เวทีสันติภาพเมียนมา” (Myanmar Peace Forum) ที่กรุงเทพฯ
4.การดำเนินการเช่นนี้ รัฐบาลไทยจะต้องดำเนิน “การทูต 3 ขา” ที่ชักชวน 3 ตัวแสดงหลักในสงครามนี้คือ SAC/รัฐบาลทหาร - NUG/รัฐบาลประชาธิปไตยพลัดถิ่น - EAOs/องค์กรติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย ให้เข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ เช่นที่ไทยเคยทำสำเร็จมาแล้วในกรณีเขมร 3 ฝ่ายในอดีต
5.รัฐบาลไทยควรเปิดการติดต่อกับทุกฝ่าย มากกว่าจะยึดโยงอยู่กับรัฐบาลทหารเท่านั้น หรือเชื่อแบบเดิมว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลทหารจะดำรงอยู่ตลอดไป
6.ไทยต้องเลิกความเชื่อเก่าของกระทรวงต่างประเทศแบบ “ดอน-ปานปรีย-สีหศักดิ์” ว่า ไทยเป็นกลาง เพราะความเป็นกลางที่ผ่านมาในกรณีนี้คือ การสนับสนุนรัฐบาลทหาร และไม่ยอมเปิดการติดต่อกับกลุ่มอื่นๆ
@@ ลดการทูตทหาร - ดึงจีน อินเดีย ร่วมวงถกทางออก
7.รัฐบาลไทยควรลด “การทูตทหาร” ลง / เช่น ยุติการเยือนพม่าในระดับของ ผบ เหล่าทัพ เพราะทำให้เกิดความหวาดระแวงทางการทูตจากฝ่ายอื่นๆ และการเยือนเช่นนี้ไม่เป็นผลบวกต่องานการทูตไทย แต่ถ้าจะมีอยู่ อาจคงไว้ไม่เกินระดับเจ้ากรม แต่ต้องเป็นการติดต่อในเรื่องปกติเพื่อไม่ให้ถูกใช้ในการสร้างภาพ
8.ในการสร้างเวทีสันติภาพเมียนมา รัฐบาลไทยต้องดึงรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 6 ประเทศหลักให้ร่วมรับรู้ คือ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย
9.รัฐบาลไทยต้องยอมรับเฉพาะหน้าว่า จีนและอินเดียเป็นผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญ และอาจต้องมีการพูดคุยกับ 2 ประเทศมากขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดสันติภาพ หรืออย่างน้อยเกิดการคลี่คลายของสถานการณ์สงคราม
10.การดำเนินการเช่นนี้ ควรต้องอยู่ในกรอบของอาเซียน เพื่อผลักดัน “ฉันทมติ 5 ข้อ” และไทยควรใช้เวทีอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของลาวในฐานะประธานอาเซียน ในการแก้ปัญหานี้ด้วย
@@ ช่วยเหลือมนุษยธรรมต้องลดบทบาทกองทัพ
11.การให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดตั้ง “สถานีมนุษยธรรม” เป็นความจำเป็น แต่ต้องไม่ใช่การใช้ช่องทางนี้เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลทหารเมียนมา การทำเช่นนั้นจะทำให้ไทยตกเป็น “จำเลยร่วม” กับรัฐบาลทหารไปด้วย
12.รัฐบาลไทยควรต้องตระหนักว่า ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนี้ โดยหลักการสากลแล้ว จะไม่มอบให้เป็นภารกิจของฝ่ายทหาร แต่จะดำเนินการโดยฝ่ายพลเรือน เพื่อหลีกเลี่ยงความละเอียดอ่อนของปัญหาทางการเมืองในพื้นที่ความขัดแย้ง แต่ทหารจะเป็นผู้ให้ความคุ้มครองเพื่อให้ภารกิจนี้สำเร็จ
13.หากสถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น และสำทับด้วยผลจากการออกกฎหมายเกณฑ์ทหารใหม่ รัฐบาลไทยควรต้องเตรียมรับการเป็น “โปแลนด์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เช่นที่โปแลนด์เป็นประเทศหน้าด่านของการรับผู้อพยพภัยจากสงครามยูเครน
14.ผลของการถดถอยของกองทัพเมียนมาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กำลังทำให้เกิดสภาวะ “เมียนมาโดมิโน” ที่เกิดการพ่ายแพ้ทางทหารติดต่อกัน ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่าภาวะนี้จะนำไปสู่จุดจบของระบอบทหารหรือไม่ แต่สงครามนับจากนี้ไป จะรุนแรงมากขึ้น
15.การรบใหญ่จะเกิดในฤดูแล้งนี้ ดังนั้น “Dry-season Offensive” ที่กำลังจะเกิดจะเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญต่ออนาคตของฝ่ายต่างๆ และจะกระทบกับแนวชายแดนไทย
16.เพื่อให้การดำเนินการของไทยมีเอกภาพ และไม่เกิดการแย่งชิงเอาหน้าของหน่วยราชการไทย รัฐบาลควรจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานไทย-เมียนมา” (The Thai-Myanmar Coordination Center) เพื่อควบคุมทิศทางและนโยบายของฝ่ายไทยเอง โดยเฉพาะจัดการการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมที่ไม่จำเป็นต้องควบคุมโดยทหารไทย เพราะทำให้เกิดความหวาดระแวงจากปัญหาความใกล้ชิดของทหาร 2 ฝ่ายว่า ความช่วยเหลือนี้จะถูกส่งมอบให้แก่กลุ่มนิยมรัฐบาลทหารเท่านั้น
@@ แนะเพิ่มวาระทลายจีนเทา - ตั้ง“ทีมพม่า”วางยุทธศาสตร์
17.ปัญหาทับซ้อนที่สำคัญในสงครามเมียนมาคือ แก๊งอาชญากรจีน หรือกลุ่ม “จีนเทา” รัฐบาลไทยควรต้องผลักดันให้เวทีสันติภาพมีวาระดังกล่าวนี้ เพื่อเป็นช่องทางของการแก้ปัญหา มิเช่นนั้นในอนาคตไทยจะเผชิญพื้นที่อาชญากรรมขนาดใหญ่อยู่ติดแนวชายแดนไทยจากแม่สอดถึงแม่ฮ่องสอน
18.ไทยและอาเซียนต้องร่วมกันผลัดกดันให้จีนแก้ “ปัญหาจีนเทา” อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้อาชญากรจีนใช้ภูมิภาคนี้ เป็นฐานของการก่ออาชญากรรมในระดับโลก
19.การทำเวทีสันติภาพไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความขัดแย้งและผลประโยชน์ของคู่ขัดแย้งที่แตกต่างกัน และยังมีผลประโยชน์ของรัฐภายนอกที่เกี่ยวข้องอีกด้วย การจัดตั้ง “ทีมพม่า” เพื่อช่วยรัฐบาลในการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายต่อปัญหาเมียนมา จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นในการเตรียมรับสถานการณ์ข้างหน้า
20.รัฐบาลไทยต้องยอมรับว่า การจัดทำเวทีสันติภาพอาจต้องใช้ระยะเวลา และเมียนมามีปัญหาภายในที่ยุ่งยากหลายเรื่องทับซ้อนกัน แต่การเริ่มต้นทำ “ความริเริ่มกรุงเทพฯ” (The Bangkok Initiative) อาจจะเป็นจุดตั้งต้นของการดึงทุกฝ่ายเพื่อนำไปสู่การสร้าง “เวทีสันติภาพเมียนมา” ให้เกิดเป็นจริงได้