“รอมฎอน - ก้าวไกล” ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมาย กอ.รมน. เคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้งหลังนายกฯ เศรษฐา ประกาศจุดยืน ไม่เคยมีแนวคิดยุบองค์กรแมว 9 ชีวิตในหัวเลย เจ้าตัวเรียกร้องเปิดทางถกในสภา อย่าเลือกช่องทางตีตก พร้อมแซะถึงประชาชาติ ถามหาจุดยืน
วันอังคารที่ 31 ต.ค.66 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมชี้แจงมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานของ กอ.รมน. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกในฐานะ ผอ.รมน. ตั้งแต่รับตำแหน่งนายกฯว่า หลังจากได้พูดคุยกับกองทัพแล้ว อยากเพิ่มบทบาทในหลายมิติ วางรากฐาน สร้างความพร้อมให้กับประเทศไทยเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับประชาชน รวมถึงความมั่นคงในชีวิตนี้ หมายถึงความมั่นคงที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน
“การหารือกันวันนี้ ไม่มีเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับการยุบ กอ.รมน.เลย ซึ่งผมได้พูดคุยกับผู้บัญชาการทหารบกว่า ที่มาที่ไปเรื่องนี้คืออะไร วันนี้บริบทการทำงานของ กอ.รมน.ก็เริ่มเปลี่ยนไป การคุยกันเป็นเรื่องการพัฒนาและการลดช่องว่างระหว่างกองทัพกับประชาชนให้ลดน้อยลง เช่น โครงการมอบที่ดินให้กับประชาชนที่หนองวัวซอ ก็จะขยายไปในพื้นที่อื่นด้วย พร้อมขอให้ดูด้วยว่า การมอบที่ดินไปแล้ว หากไม่มีแหล่งน้ำก็ต้องดูเรื่องระบบชลประทานด้วย เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ อีกทั้งยังมีเรื่องของปัญหาภัยแล้งด้วย”
“ไม่มี อะไรที่เกี่ยวข้องกับการยุบ กอ.รมน.ไม่ได้อยู่ในความคิดของรัฐบาลนี้ ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจและไม่ได้อยู่ใน นโยบายของรัฐบาลชุดนี้แม้แต่น้อย“ นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำ
@@ พูดกันด้วยผลงาน อย่าเน้นวาทกรรม
ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลเดินเกมล่ารายชื่อประชาชน เสนอร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน.นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากฟังที่ตนแถลงวันนี้ หน่วยงานรัฐที่ทำงานรวดเร็ว พูดกันอย่างผู้ใหญ่ๆ ทานข้าวกับผู้บัญชาการเหล่าทัพไป ขอไปเรื่องเดียว ขอไปแป๊บเดียว เดือนครึ่งก็ออกมาแล้ว เราพูดด้วยผลงานดีกว่า อย่าไปพูดเรื่องวาทกรรม เรื่องอื่นก็เป็นให้เรื่องของพรรคนั้นๆ ไป
“ให้เขาไปเข็นเข้าสู่สภาเองก็แล้วกัน ทางฝ่ายกองทัพ ฝ่ายหน่วยงานรัฐ และการเมืองที่เกี่ยวข้องเราทำงานอย่างเดียวให้ประชาชนตัดสินใจ”
เมื่อถามว่า แสดงว่านายกฯ ไม่ได้มองว่า กอ.รมน. เป็นเครื่องมือการเมืองของรัฐบาลแต่ละสมัยใช่หรือไม่ นายกฯเศรษฐา กล่าวว่า การพูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่มีเรื่องการเมือง ไม่มีการไปขอร้องให้โยกย้ายใครแม้แต่นิดเดียว ที่คุยบ่อยที่สุดคือผู้บัญชาการทหารสูงสุด กับผู้บัญชาการทหารบก เรื่องช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่ และถูกจับกุมโดยกลุ่มฮามาส
“ยืนยันไม่มีเรื่องการเมือง มีหลายคนที่ปิดทองหลังพระ อย่าง คุณสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ช่วยอย่างเต็มที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ก็ช่วยคุยกับกรมธนารักษ์ เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย ในการนำที่ดินสู่ประชาชน ไม่มีเรื่องใดเป็นเรื่องการเมือง ไม่มี...ยืนยันได้” นายกฯเศรษฐา ย้ำ
@@ ซ้ำซ้อนหรือไม่ อยู่ที่คนใช้งาน ไม่ใช่อยู่ที่องค์กร
ด้าน นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เรื่องของ “หนองวัวซอโมเดล” เป็นการร่วมมือกันระหว่างกองทัพ ในนามของ กอ.รมน. มีกระทรวงกลาโหมเป็นแกนสำคัญ ดังนั้นเชื่อว่าที่ดินที่จะคืนให้กับประชาชนจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่สามารถระบุครัวเรือนประชาชนที่จะได้รับได้ ซึ่งก็คงจะกระจายอยู่ทั่วประเทศ
เมื่อถามว่ายังคงมอง กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่ช่วยผลักดันนโยบายของรัฐ ยังจำเป็นต้องคงอยู่หรือไม่ นายสุทิน ระบุว่า ถ้าทำหน่วยงานเดียวคงไม่สำเร็จ ต้องบูรณาการสนธิกำลังกัน และเมื่อสนธิกำลังก็จะไปเข้าโครงสร้างของ กอ.รมน.พอดี ดังนั้นจึงเรียกว่าสั่งในนาม กอ.รมน.
เมื่อถามย้ำว่า ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เป็นหน่วยงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นใช่หรือไม่ นายสุทิน บอกว่า ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารประเทศจะเลือกใช้ กอ.รมน. เป็น
“ถ้าใช้ไม่เป็นก็จะซ้ำซ้อน ถ้าเลือกเป็น คือการสนธิกำลัง การบูรณาการ อำนาจและทรัพยากร” นายสุทิน เจ้าของฉายา “บิ๊กทิน” กล่าว
@@ ยันไม่ลดบทบาท กอ.รมน. - ผู้นำดีไม่ใช้เป็นเครื่องมือการเมือง
ส่วนที่ กอ.รมน. โดนโจมตีว่าให้อำนาจทหารมากเกินไป จะมีปรับอย่างไรให้สมดุล นายสุทิน ตอบว่า “ไม่หรอก อย่างที่ผมบอก ถ้าผู้นำประเทศใช้ กอ.รมน.เป็น ก็จะเป็นประโยชน์ ถ้าใช้ไม่เป็นก็คือการซ้ำซ้อน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กร อยู่ที่คนจะใช้งาน อยู่ที่ผู้นำประเทศจะสั่งงานเป็นหรือไม่”
พร้อมยืนยันว่า ตอนนี้รัฐบาลจะไม่ลดบทบาทของ กอ.รมน. เพราะจะมีการขับเคลื่อนโดยนักการเมืองในหลายส่วนที่จะต้องปรับภารกิจ ทั้งในกลุ่ม สส.ของพรรคเพื่อไทยที่เห็นว่าอยากจะปรับภารกิจ แม้ว่าบางพรรคการเมืองจะอยากให้ยุบไปเลย
ส่วนการปรับภารกิจนั้น จะเป็นในเรื่องของซ้ำซ้อนกับหน่วยงานน้อยลง เน้นสนับสนุนเรื่องความมั่นคงด้านอื่นของประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และคุณภาพชีวิต ตนคิดว่าน่าจะปรับมาด้านนี้มากกว่า เพราะที่ผ่านมาไปเน้นด้านความมั่นคงของทหาร และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างเดียว
เมื่อถามว่าที่ผ่านมีการโจมตีว่า กอ.รมน.ไปช่วยเรื่องการเลือกตั้งของบางพรรคการเมือง นายสุทิน ยอมรับว่าก็มีคนคิด และบางยุคก็อาจจะใช่ แต่อยู่ที่ผู้นำประเทศ ผู้นำบางยุคก็อาจนำ กอ.รมน. ปเป็นการเมือง แต่ผู้นำที่ดีจากนี้ก็อย่าไปใช้ให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
@@ กำชับทำ “ไอโอสร้างสรรค์” - ซัดมีไอโอทางอื่นเล่นงาน
เมื่อถามว่าในส่วนของการให้อำนาจ กอ.รมน. เกาะติดเรื่องบางเรื่อง เช่น ผู้ชุมนุม ไปจนถึงภัยพิบัติ ที่สามารถตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาได้ โดยยังไม่ได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องปรับลดส่วนนี้หรือไม่ นายสุทิน ตอบว่า เรื่องนี้ก็ต้องลด ภารกิจที่ผ่านมาในบางยุคอาจทำให้เกิดความหวาดระแวง ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการสร้างความสงบ
ต่อไปนี้ตนก็ได้กำชับกระทรวงกลาโหมให้ระวังเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการไอโอ (ปฏิบัติการข่าวสาร) ตนบอกว่าไอโอทำได้ แต่ขอให้เป็นเชิงสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ กองทัพ และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกองทัพ แต่ถ้าเป็นไอโอเชิงทำร้ายกัน ด้อยค่า และขยายความขัดแย้ง ก็กำชับว่าอย่าทำ
ส่วนที่กองทัพโดนโจมตีและด้อยค่ามาตลอดในเรื่องไอโอ นายสุทิน มองว่า ก็มีไอโอของทางอื่นมาเล่นงานกองทัพ ก็ต้องให้ความเป็นธรรม กองทัพก็ต้องตั้งหลัก ถ้ากองทัพทำไอโอสร้างสรรค์ก็จะยันไอโอพวกนั้นได้
เมื่อถามถึงกรณีพรรคก้าวไกลรณรงค์ผ่านสื่อโซเชียลฯ เรื่องการยุบ กอ.รมน. ซึ่งมีบางคนไม่เห็นด้วย ก็ถูกมองเป็นไอโอกองทัพ นายสุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเสริมสร้างภูมิความรู้ให้ประชาชน ให้รู้เท่าทันโลกโซเชียลฯ กองทัพก็ต้องทำเรื่องนี้มากขึ้น
@@ “รอมฎอน” ขอนายกฯ เปิดโอกาสถกในสภาฯ
ด้าน นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมาย กอ.รมน. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “นายกฯ เศรษฐาระบุว่า หากจะดันกฎหมายยุบ กอ.รมน. จะต้องเข็นกันเอาเอง แต่การเข็นขึ้นหรือไม่ขึ้นนั้น ตอนนี้อยู่ในมือของนายกฯ ที่ชื่อเศรษฐาเองนะครับ ร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.นั้นถูกประธานสภาตีความว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 นายกรัฐมนตรีจะต้องใช้ดุลพินิจให้คำรับรองต่อร่างกฎหมายโดยเปิดทางให้สภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายและถกเถียงกัน”
“การตัดสินใจเรื่องนี้ของนายกฯเศรษฐาในโมเมนต์นี้จึงสำคัญมากกว่าคำให้สัมภาษณ์หรือคำแถลงใดๆ การจะยุบไม่ยุบ กอ.รมน.นั้นอาจเห็นแตกต่างกันได้ แต่ละพรรคการเมืองก็มีนโยบายแตกต่างกัน แต่การเปิดโอกาสให้มีการให้เหตุผลโต้แย้งกันอย่างสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ควรกระทำครับ”
“ผมคิดว่าท่านนายกฯ ไม่ควรต้องกังวลใจหรือหวั่นเกรงต่ออำนาจและอิทธิพลใดๆ เพราะอย่างน้อยๆ คะแนนโหวตในสภานั้นจะเป็นตัวตัดสินครับ”
“แต่ถ้านายกฯ เศรษฐาตัดสินใจตัดตอนโดยการไม่ให้คำรับรองตามความเห็นของ กอ.รมน. ที่เสนอมาเป็นการภายในนั้น ภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีพลเรือนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพจะโดดเด่นเห็นชัดมากยิ่งขึ้น โจทย์ใหญ่ยังตกอยู่กับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหลายพรรคที่สมาชิกพรรคอาจมีท่าทีแตกต่างกันเกี่ยวกับสถานะของ กอ.รมน.”
“อย่างน้อย ๆ ก็ประธานวิปรัฐบาลที่ออกตัวชัดเจนว่า จำเป็นต้องโละทิ้งองค์กรที่เป็นรัฐซ้อนรัฐอันเป็นมรดกของสงครามเย็น การยุบ กอ.รมน.ถือเป็น ให้เกียรติทหาร คืนกลับสู่กรม กอง คืนทหารให้ทหาร คืนเสรีภาพให้ประชาชน คืนอำนาจให้หน่วยราชการ"
@@ แซะ สส.ประชาชาติ จะตอบคนชายแดนใต้อย่างไร
นายรอมฎอน ยังโพสต์ข้อความพาดพิงไปถึง สส.พรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นแชมป์ชนะเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาาคใต้ ว่า “คำถามโตๆ ยังปะทะไปยังพรรคประชาชาติที่มีฐานเสียงสำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าจะมีจุดยืนอย่างไร ชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความขัดแย้งที่เป็นทั้งจุดกำเนิดและฐานที่มั่นสำคัญของ กอ.รมน.ในเวอร์ชั่นที่เราเห็นในทุกวันนี้ สิบกว่าปีมานี้ และโดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร งบประมาณและอำนาจที่ขยายตัวมากขึ้นของกองทัพในนามของ กอ.รมน.ได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิทธิเสรีภาพของประชาชน”
“ที่สำคัญ แนวทางของ กอ.รมน. ยังได้จำกัดทางเลือกในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติวิธีและเปิดกว้าง เป็นเพียงความพยายามสร้างความภักดีแบบบีบบังคับ สกัดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง โดยทึกทักว่าวิธีการเหล่านั้นจะสร้างสันติสุขที่สงบราบคาบได้ แต่เปล่าเลย ความไม่เชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐและความอึดอัดใจของประชาชนแพร่กระจายอยู่เต็มไปหมด นี่คือที่มาของแรงสนับสนุนของผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ให้ยุบ กอ.รมน.”
“หากนายกรัฐมนตรี ไม่แยแสต่อความรู้สึกเช่นนี้ และปิดกั้นไม่ให้มีการอภิปรายเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร สส.เขตในพรรคร่วมรัฐบาล 12 คนจากทั้งหมด 13 เขตเลือกตั้ง จะตอบคำถามประชาชนอย่างไร? เปิดให้สภาฯ ได้ถกเถียงเถิดครับ!”