สงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอล นอกจากคู่สงครามแล้ว ประเทศไทยและคนไทยกลายเป็นชาติที่สูญเสียมากที่สุด จากข้อมูล ณ วันอังคารที่ 10 ต.ค.66
ตัวเลขทางการที่หน่วยงานรัฐระบุค่อนข้างสอดคล้องกัน ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน คือ
เสียชีวิต 18 ราย (ณ เวลานี้)
ถูกจับเป็นตัวประกัน 11 ราย (แรงงานไทยที่ทหารอิสราเอลช่วยไว้ได้ล่าสุด เป็นข่าวช่วงค่ำของวันที่ 10 ต.ค.ตามเวลาในประเทศไทย ยังไม่มีการยืนยันว่าอยู่ในกลุ่มตัวเลข 11 คนนี้หรือไม่)
เรื่องจับคนเป็นตัวประกัน เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับรัฐบาลไทย เพราะต้องพยายามหาทางช่วยเหลือ และเป็นที่ทราบกันดีว่า “ไม่ใช่เรื่องง่าย” และการทำงานของรัฐบาลในเรื่องนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะกระทบคะแนนนิยมและถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ง่ายมาก
แม้การจับตัวประกัน จะเป็นวิกฤตการณ์ที่เคยเป็นข่าวอยู่บ้าง โดยฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายบางกลุ่ม เช่น อัลกออิดะห์ หรือไอเอส ที่เคยจับนักข่าวญี่ปุ่นจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แต่น้อยครั้งที่จะมีปฏิบัติการกวาดจับตัวประกันทีละมากๆ แบบนี้ และไม่เลือกเชื้อชาติ เพศ หรืออาชีพ
มีคำถามที่ต้องร่วมกันหาคำตอบจากวิกฤติตัวประกันในครั้งนี้
1.ทำไมคนไทยถึงตกเป็นเป้าถูกจับมากที่สุด จงใจ หรือบังเอิญ หรือสถานการณ์เอื้อ
2.กลุ่มฮามาสทำไปเพื่ออะไร
3.อ้างความชอบธรรม การต่อสู้ ถือว่าฟังขึ้นหรือไม่
4.สถิติการจับตัวประกันที่ผ่านๆ มาของฮามาส และบทสรุปของวิกฤตการณ์
5.แนวทางการช่วยเหลือของไทย นอกเหนือจากที่รัฐบาลกำลังทำอยู่
เรามาไล่หาคำตอบด้วยกันไปทีละข้อ
ข้อ 1 สาเหตุที่คนไทยตกเป็นเป้าหมายการจับตัวประกันจำนวนมาก เพราะ
-คนไทยไปเป็นแรงงานภาคเกษตรจำนวนมาก
-ฮามาสใช้วิธีบุกภาคพื้นดิน ข้ามเส้นเขตแดน (ฉนวนกาซา กับ อิสราเอล) เข้ามา
-พื้นที่รอบๆ ฉนวนกาซา อิสราเอลพยายามขยายอิทธิพล ตั้งชุมชนการเกษตร พูดภาษาบ้านเราคือ “ตั้งนิคม” ทำการเกษตร เรียกว่า “คิบบุตช์” กับ “โมชาฟ”
-“นิคม” หรือชุมชนเกษตรเหล่านี้ หลายแห่งมีคนไทยอาศัยและทำงานอยู่จำนวนมาก ข่าวว่าบางแห่งมีร้านอาหารไทยเลยด้วยซ้ำ ทำให้ความเสี่ยงที่จะถูกจับเป็นตัวประกันมีมากขึ้น
-พื้นที่รอบๆ ฉนวนกาซา เป็นเป้าหมายของกองกำลังฮามาส เนื่องจากอยู่ใกล้เขตอิทธิพลของตนเอง และมีคนอาศัยอยู่มาก ง่ายต่อการโจมตีและจับตัวประกัน
ข้อ 2 และ 3 กลุ่มฮามาสทำไปเพื่ออะไร และอ้างความชอบธรรมในสงครามอสมมาตรได้หรือไม่ (คือไม่ว่าจะอย่างไร ตัวเองก็สู้อิสราเอลไม่ได้ในทางการทหาร จึงต้องใช้กลยุทธ์อื่น เพิ่มอำนาจการต่อรอง กดดัน)
เรื่องนี้มี “ผู้รู้” แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย
OO ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ฟันธงแบบตรงไปตรงมา
“เรื่องการจับตัวประกัน เป็นการก่อการร้ายรูปแบบหนึ่ง ไม่สามารถอ้างความชอบธรรมได้”
OO ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง อดีตหัวหน้าหน่วยงานด้านความมั่นคงระดับประเทศ
-เป็นกลยุทธ์ของกลุ่มฮามาส เคยทำมาแล้วหลายครั้ง
-เป้าหมายเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง
-จะมีการเจรจาแลกตัวประกันกับนักรบฮามาส หรือชาวปาเลสไตน์ที่ถูกสหรัฐหรืออิสราเอลจับกุมตัวไว้
-สาเหตุที่ฮามาสเลือกจับตัวประกันหลากหลายเชื้อชาติ และจับไปจำนวนมาก น่าจะคาดหวังให้เป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้รัฐบาลของตัวประกันที่ถูกฮามาสควบคุมไว้ จะไปกดดันอิสราเอลอีกที ให้ผ่อนปรนและลดการโจมตีที่รุนแรงต่อฮามาส
-การจับคนอิสราเอลไปจำนวนมาก จะเป็นแรงกดดันทางการเมืองภายในของอิสราเอลเองด้วย หากรัฐบาลอิสราเอลใช้ความรุนแรงจนฮามาสตอบโต้ด้วยการสังหารตัวประกัน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล นายเบนจามิน เนทันยาฮู ก็มีปัญหาการเมืองภายในอยู่แล้ว
-เรื่องความชอบธรรม...ตอบยาก เพราะในสงคราม มีแต่การชิงความได้เปรียบ และอ้างความชอบธรรมเฉพาะมุมที่ตัวเองได้ประโยชน์
OO ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-เป้าหมายสำคัญของฮามาส คือการแลกเปลี่ยนกับนักโทษปาเลสไตน์ที่อยู่ในคุกของอิสราเอล
-มั่นใจว่าจะไม่มีการเรียกค่าไถ่ และไม่ได้มีการซื้อขายตัวประกันตามที่มีข่าว
-การจับตัวประกันที่เป็นชาวต่างชาติ ไม่ใช่ชาวอิสราเอล เข้าใจว่าเพราะช่วงที่ปฏิบัติการ มีแรงงานในพื้นที่เสี่ยงเยอะ และนักรบฮามาสแยกไม่ออกว่าใครเป็นพลเมืองของอิสราเอล ใครเป็นแรงงาน จึงกวาดต้อนมาทั้งหมด
-เชื่อว่าตัวประกันที่เป็นชาวต่างชาติมีแนวโน้มถูกปลดปล่อยออกมาง่ายกว่าตัวประกันที่เป็นพลเรือนของอิสราเอล และทหารของอิสราเอล
OO รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการก่อการร้าย กลุ่มชาติพันธุ์ และ Lone Wolf
เรื่องความชอบธรรม มองได้ 3 มิติ
มิติที่ 1 ในมุมของฮามาส ภายใต้สงคราม “อสมมาตร” ที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้ระหว่าง “ก้อนหินกับปืน” ปฏิบัติการของฮามาสจึงสะท้อนการต่อต้านการถูกกดขี่โดยอิสราเอล ซึ่งพวกเขาเป็นผู้ถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง
มิติที่ 2 ปฏิบัติการของฮามาสหนนี้ ถือว่าเป็นการ “ยกระดับ” เพราะส่งผลเป็นการ “สลายเส้นแบ่งระหว่างสงครามกลางเมือง (เดิมที่สู้กันอยู่) กับความขัดแย้งระหว่างประเทศ” เพราะต้องยอมรับว่าฮามาสได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูงกว่าตนแน่นอน
ผลเพื่อให้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังถึงการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจทั้งในระดับภูมิภาค (ตะวันออกกลาง) และระดับโลก
มิตินี้ไม่ว่าฮามาสจะจงใจ หรือรับแผนมา ก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์ทางการทำสงคราม ซึ่งอธิบายเรื่องความชอบธรรมทางสิทธิมนุษยชนไม่ได้
มิติที่ 3 การกวาดจับตัวประกันจำนวนมาก ทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติ พร้อมสร้างเพดานการต่อรองให้ปล่อยตัวนักโทษฮามาสและปาเลสไตน์กว่า 7,000 คน
เรี่องนี้ฮามาสถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม เพราะตัวประกันกลุ่มที่เป็นแรงงานต่างชาติ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความขัดแย้งระหว่างฮามาสและอิสราเอล ทั้งยังไม่ได้สร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลอิสราเอล แต่ยังกลายเป็นแรงสะท้อนกดดันไปยังกลุ่มฮามาสเอง เพราะปฏิบัติการที่พยายามสร้างขึ้นมาจนช็อกโลก ไม่ใช่คำตอบของการสร้างสงครามที่มีความชอบธรรม
อ่านเนื้อหาตอนต่อไปที่ : ย้อนสงครามตัวประกัน “ฮามาส-อิสราเอล”