กองเชียร์ชายแดนใต้ผิดหวัง “พิธา” ไม่ได้รับเสียงโหวตเป็นนายกฯคนที่ 30 ชี้กลไกรัฐธรรมนูญปี 60 ผิดปกติ เหตุเสียงข้างมากไม่ได้เป็นรัฐบาล ขณะที่ ม.อ.ปัตตานี “นักศึกษา-นักกิจกรรม” รวมตัวแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการลงมติของ ส.ว.
หลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมของรัฐสภา ครั้งที่ 1 เพื่อให้สมาชิก ส.ส. และ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว และผลปรากฏว่า คะแนนเสียงเห็นชอบนายพิธาไม่ถึง 375 เสียง คือได้เสียงสนับสนุนเพียง 324 เสียง จึงยังไม่บรรจุเป้าหมายนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นั้น
จากผลโหวตที่ออกมา ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกาะติดการประชุมรัฐสภา และกลุ่มด้อมส้ม เช่น “กลุ่มก้าวไกลนราธิวาส” ซึ่งไปรวมตัวติดตามผลโหวตตามร้านน้ำชาบนถนนบายพาส เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส รวมถึงจุดอื่นๆ ทั่วสามจังหวัด ต้องพากันผิดหวังไปตามๆ กัน
@@ เสียใจ “พิธา” ไม่ผ่านโหวตนายกฯ
ที่ร้านครัวอุมมี ถนนวงเวียน 3 ภายในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายอันวาร์ อุเซ็ง อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล เขต 1 ยะลา พร้อมด้วยพี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษาที่อาศัยอยู่ภายในเขตเทศบาลนครยะลา ได้ทยอยไปรวมตัวกันเพื่อติดตามการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย และให้กำลังใจ นายพิธา กันอย่างคึกคัก
นายอันวาร์ กล่าวภายหลังทราบผลโหวตว่า ผลออกมาแล้ว สภาไม่รับรอง ทำให้ประชาชนผิดหวังจำนวนมาก ที่ผ่านมาหลังจากเลือกตั้ง ตนในนามผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้รับคำถามมากมายจากประชาชนว่า ตกลงนายพิธาจะได้เป็นนายกฯหรือไม่ ติดขัดเรื่องอะไร ทำไมเสียงที่เลือกตั้งถล่มทลาย 14 ล้านเสียงขนาดนี้แล้วยังไม่สามารถเป็นนายกฯได้อีก
“เราจะได้เห็นว่า กลไกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่เป็นปกติ ถ้าเป็นระบบสากลทั่วไปแล้ว เสียงสภา 500 เสียงก็คงจะเพียงพอให้การเลือกผู้นำในการบริหารประเทศ แต่นี่ถึงแม้เราจะรวมเสียงได้ 300 กว่าเสียง ได้เสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถได้นายกฯ ตามประชามติของประชาชน และนี่ก็ทำให้เห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และทำให้ระบบการเลือกตั้งกับระบบรัฐสภาเป็นอย่างปกติ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง”
อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.ยะลา ยังกล่าวอีกว่า ตนรู้สึกผิดหวัง เพราะเท่าที่เห็นกระแสของประชาชนที่ตนได้ลงสัมผัสมาจำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วต้องการให้นายพิธาเป็นนายกฯ เนื่องจากต้องการความเปลี่ยนแปลง เพราะ 8 ปีที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจต่างๆ ต้องการนายกฯ ที่มีความเก่งและฉลาด มีความทันสมัย ซึ่งทุกคนก็เห็นได้ชัดว่า นายพิธาเหมาะที่จะเป็นนายกฯ แต่ก็ด้วยระบบกลไกที่ไม่ปกติ ทำให้ทุกคนไม่สามารถได้นายกฯ ที่เลือกกันมาได้
“ผมยังคงยืนยันว่า อยากจะให้เรื่องทั้งหมดไปจบที่รัฐสภา และอ้อนวอน ขอวอนอยากจะให้เห็นแก่ประชาชน ยึดโยงกับประชาชน อยากให้ประเทศได้ไปต่อ และประเทศต้องไปต่อข้างหน้า อาจจะมีหลายๆ เหตุผลที่เราได้เห็นจากการอภิปรายไปแล้วในเบื้องต้น แต่ยังอยากให้การตัดสินใจนี้เป็นไปจากมติประชาชนด้วย”
@@ นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี แสดงจุดยืนค้าน ส.ว.
ส่วนภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) อ.เมือง จ.ปัตตานี กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมในพื้นที่ได้ร่วมกันแสดงจุดยืนทางการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการโหวตของ ส.ว. ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากกำลังเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ
ภายในงานมีการร่วมกันขับร้องเพลงสามัญชน พร้อมนำป้ายที่เขียนข้อความว่า “กกต.มีไว้ทำไม” และมีการกล่าวเชิญชวนผู้ร่วมกิจกรรม ร่วมอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง และประกาศให้ประชาธิปไตยจงเจริญ
โดยผู้ที่มาร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่กล่าวถึง ส.ว.ในแง่ลบ ฉุดรั้งด้วยอำนาจ ทั้งที่ไม่ได้มาจากประชาชนโดยแท้จริง เมื่อเห็นเสียงประชาชนไม่มีค่า ก็จะเจอกันบนถนน
กลุ่มนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมหลายคนที่มาร่วมแสดงจุดยืนทางการเมือง ยังคงยืนยันและเชื่อว่า นายพิธามีความเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในสนามเลือกตั้งและได้รับความไว้วางใจจาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร