"แต่งงานตอนอายุ 14 ตอนนี้อายุ 16 ปี มีลูกสาวคนหนึ่งขวบกว่าๆ อาแบ (สามี) ไปทำงานที่มาเลย์ หนูช่วยแม่ทำข้าวเกรียบตากแห้งที่บ้าน มีปลาก็ได้ทำ ให้ลูกกินยาคูลท์ทุกวัน เพราะเขาบอกว่ากินแล้วอาการน้ำเหลืองไม่ดีและที่คันจะดีขึ้น"
อาอีซะ ยีขะเด เด็กสาววัยรุ่นที่มีลูกสาวตัวน้อยวัยขวบกว่า บอกเล่าเรื่องราวความเป็นอยู่กับการเลี้ยงดูลูกน้อยของเธอ
สะท้อนว่าคนในพื้นที่ยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูทารก และเด็กวัยกำลังโต จนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา “ทุพโภชนา” หรือภาวะขาดสารอาหารในเด็ก นอกเหนือจากเหตุปัจจัยจากความยากจน และมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่จะสร้างคุณภาพชีวิตในระดับดี
ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีรายงานว่า พบเด็กเผชิญภาวะนี้ในระดับประเทศน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ในชายแดนใต้กลับพบสูงมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
จากการสำรวจตามโครงการของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (บพท.) เพื่อดำเนินโครงการการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการแบบร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กรณีศึกษาจังหวัดปัตตานีพบว่า เด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการมีผลต่อระดับสติปัญญา ซึ่งเป็นปัญหาที่พบสูงในชายแดนใต้
โดยการสำรวจเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปีใน ต.ตาลีอายร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี จำนวน 200 กว่าครัวเรือน เมื่อคัดกรองพบจำนวน 31 คนที่มีภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งสูงหากเทียบกับระดับประเทศที่พบภาวะทุพโภชนาการในเด็กน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์
"เราเชื่อว่าการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้ต้องพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีสติปัญญาที่ดี ในอนาคตจะสามารถแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ได้" ผศ.มนัสมีน เจะโนะ นักวิจัยในโครงการ จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าว
@@ “เมนูไข่” ช่วยได้
ในการคัดกรองเด็กกลุ่มเป้าหมายด้วยการสัมภาษณ์แม่หรือผู้ปกครอง, การเลี้ยงดู, ตรวจเลือด, ตรวจอุจจาระ เมื่อผลการตรวจออก และสำรวจพื้นที่พบว่า เด็กชอบกินไข่ไก่และปลาตามลำดับ นมที่กินคือนมที่แจกจากโรงเรียน แต่เด็กไม่กิน ซึ่งมีการประเมินเด็กเป็นรายบุคคลว่า ชอบกินนมแบบไหน โครงการก็แจกนมและไข่ทุก 2 สัปดาห์ โดยมีอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร จัดทำคู่มือ เมนูไข่ 21 เมนูให้เป็นเมนูที่ใช้ได้จริง ใช้เวลาน้อยประมาณ 10 นาทีก็ได้ทาน
ส่วนการประเมินใช้เวลา 6 เดือน ประเมินพฤติกรรมแม่ในการทำอาหารให้ลูกทุก 2 สัปดาห์ มีการประกวดเมนูอาหาร การจัดจานอาหารให้น่าทาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เด็กกินอาหารได้มากขึ้นและครบ 5 หมู่ รวมถึงการนวดกระตุ้นการอยากอาหารในเด็กที่มีปัญหา ทำให้ต้องการอาหารเพิ่มขึ้น สามารถดูได้ว่าเด็กทานได้มากน้อยแค่ไหน จากน้ำหนักและส่วนสูงที่มีการประเมินทุกสัปดาห์จนครบ 3 เดือน ถ้าน้ำหนักขึ้นแสดงว่าเด็กทานอาหารได้ดีขึ้น
@@ อบจ.สานต่อ-ใช้กลไก รพ.สต.
เมื่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจึงมีการนำเสนอเพื่อขยายพื้นที่ไปยัง ต.แหลมโพธิ์ ในอำเภอเดียวกัน (อ.ยะหริ่ง) โดยอดีตรองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี อ.อิ่มจิต เลิศพงศ์สมบัติ ได้เชิญ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ.ปัตตานี ไปรับฟังว่ามีโครงการ 100 วัน Makanan Kanak-Kanak สามารถแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กได้ โดยใช้งบประมาณวันละ 30 บาทต่อคน ซึ่งนายก อบจ.ปัตตานี เห็นด้วยจึงให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในสังกัด อบจ.ปัตตานี จำนวน 32 แห่ง รวมถึง รพ.สต.ใน อ.ยะหริ่ง จำนวน 17 แห่ง ร่วมรับฟังการนำเสนอต้นแบบนี้
สำหรับในเฟส 3 ของโครงการฯ ซึ่งใช้เวลาจำนวน 100 วัน ในการขยายผลมายังในพื้นที่ ต.แหลมโพธิ์ นั้น มีนักวิจัยเป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุน ทาง รพ.สต.บริหารจัดการได้เอง โดยมีการให้ความรู้ให้ผู้ดูแลเรื่องโภชนาการในเด็ก อธิบายกระบวนการติดตามพฤติกรรมทุก 2 สัปดาห์ รวมทั้งให้พ่อแม่ปรับพฤติกรรม
ผศ.ฮานีฟะห์ เจ๊ะอาลี หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าวว่า "ในตำบลแหลมโพธิ์มี 2 รพ.สต.คือ รพ.สต.แหลมโพธิ์ และรพ.สต.ปาตาบูดี มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 114 ราย บริบทพื้นที่ของแหลมโพธิ์ ส่วนใหญ่พ่อแม่ไปทำงานในร้านต้มยำที่มาเลเซีย ลูกเล็กจึงต้องอาศัยอยู่กับตายายหรือญาติ แหลมโพธิ์มีร้านค้าจำนวนมากเอื้อให้เด็กซื้อของกินที่ไม่มีประโยชน์มากขึ้น กิจกรรมที่เราทำเหมือนที่ตาลีอายร์ เพิ่มเติมคือให้ความรู้กับเด็กในการเลือกซื้อขนม เมื่อเด็กไปซื้อเองที่ร้าน ซึ่ง รพ.สต.ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี"
"ขณะนี้ในพื้นที่ ต.แหลมโพธิ์ อยู่ในระหว่างดำเนินการช่วงแรก ส่วนผลสรุปจากตาลีอายร์ คือเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเลือกซื้อขนมที่มีประโยชน์มากขึ้น เมนูไข่ทำให้เด็กทานอาหารมากขึ้น เด็กที่เข้าร่วมโครงการมีแนวโน้มน้ำหนักแตะเกณฑ์ปกติ และร้อยละ 30 เข้าสู่ภาวะปกติ" หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าว
การพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีสติปัญญาที่ดี เริ่มต้นด้วยการมีโภชนาการที่ดีด้วยเมนูอาหารที่ทำเองได้ นี่คือพื้นฐานในการแก้ปัญหาความยากจนในอนาคต