ศอ.บต.ชี้แจงกรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตุถึงการสอบพนักงานราชการที่ไม่โปร่งใส เผยได้จ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ในการดำเนินการ
ตามที่ได้ปรากฏข่าวสารและข้อมูลทางสื่อสังคม (Social Media) ว่ากระบวนการสอบพนักงานราชการของ ศอ.บต. ยะลา ขัดต่อนโยบายความโปร่งใสของ ศอ.บต. มีการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องโดยการจำข้อสอบแล้วนำมาบอกคนสนิทและมีผู้สอบผ่านจำนวนน้อยเพียง 5 คน จากจำนวนผู้สมัครประมาณ 1,100 คน นั้น
ศอ.บต. ขอชี้แจงว่ากระบวนการสอบพนักงานราชการของ ศอ.บต. ยึดหลักการดำเนินการให้ได้มาตรฐาน มีความยุติธรรม และโปร่งใส โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะ ความเท่าเทียมในโอกาส และประโยชน์ของทางราชการ โดยในการดำเนินการสอบนั้น ได้จัดจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินการสอบ โดยมีกระบวนการที่สำคัญ ดังนี้
1. การออกข้อสอบ
1.1 ในการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะ ครั้งที่ 1 เพื่อเลือกสรรบุคคลเป็นพนักงานราชการทั่วไป ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยวิธีการสอบข้อเขียน ของ ศอ.บต. แบ่งเป็น 3 หมวดวิชา ดังนี้
วิชาที่ 1 ความรู้ทั่วไป
วิชาที่ 2 ความรู้เกี่ยวกับการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้
วิชาที่ 3 ความรู้ความสามารถเฉพาะสำหรับตำแหน่ง
1.2 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ผู้รับจ้าง) ออกข้อสอบร่วมกับ ศอ.บต. ในการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะ ครั้งที่ 1 หมวดวิชาที่ 3 ความรู้ความสามารถเฉพาะสำหรับตำแหน่ง จำนวน 4 ตำแหน่ง โดยจัดทำเป็นข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือก (ก,ข,ค,ง) จำนวนตำแหน่งละ 50 ข้อ (4×50=200 ข้อ) โดยเนื้อหาหลักสูตรและวิธีการเลือกสรรของแต่ละตำแหน่งตามที่คณะกรรมการดำเนินการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการทั่วไปกำหนดในประกาศรับสมัคร
1.3 การออกข้อสอบ ต้องให้คณาจารย์ที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่จะออกข้อสอบ ตำแหน่งละอย่างน้อย 3 คน ในการออกข้อสอบด้วยการเขียนด้วยลายมือของผู้ออกข้อสอบ ไม่ให้พิมพ์ แยกข้อคำถามกับข้อเฉลยออกจากกัน และส่งให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก ศอ.บต. โดยตรง เพื่อรวบรวมให้ประธานกรรมการดำเนินการสรรหาฯ เป็นผู้กลั่นกรองและคัดเลือก ทั้งนี้ กระบวนการดำเนินการข้างต้นต้องได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ รวมถึงข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับจรรยาบรรณและการรักษาความลับในระดับ “ลับที่สุด” เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดการรั่วไหลของข้อสอบในทุกช่องทาง โดยให้ถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้รับจ้างที่จะต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบสูงสุด
1.4 การคัดเลือกข้อสอบ
ประธานกรรมการดำเนินการสรรหาฯ เป็นผู้กลั่นกรองและคัดเลือก ผู้กลั่นกรองและคัดเลือกข้อสอบต้องกระทำ ณ สถานที่กำหนดไว้และต้องเป็นข้อสอบที่ออกโดยกรรมการออกข้อสอบเท่านั้นโดยการคัดเลือกข้อสอบโดยประธาน มีข้อสอบที่จะต้องอ่านเพื่อคัดเลือกจำนวนมากถึง 600 ข้อ และจะต้องคัดเลือกข้อสอบหลายวิชาและหลายตำแหน่งให้ได้ตามจำนวนที่กำหนด ตำแหน่งละ 150 ข้อ ตลอดระยะเวลาของการคัดเลือกข้อสอบจะมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกระบวนการสอบ/ฝ่ายเลขานุการเฝ้าสังเกตการคัดเลือก ตั้งแต่ระยะเวลาแรกของการคัดเลือก จนกระทั่งปิดผนึกซองข้อสอบในตำแหน่งสุดท้ายแล้วเสร็จ
1.5 ข้อสอบที่ไม่ได้รับการคัดเลือก ต้องกำหนดมาตรการหรือวิธีการเก็บรักษา ณ สถานที่กำหนดซึ่งต้องมีความมิดชิด ปลอดภัยและรายงาน ศอ.บต. ทราบ
1.6 ข้อสอบที่ได้รับการคัดเลือกพิมพ์เป็นต้นฉบับ ต้องกำหนดมาตรฐานหรือวิธีการและระบบการบริหารจัดการข้อสอบต้นฉบับ ณ สถานที่กำหนด ซึ่งต้องมีความมิดชิดปลอดภัย รัดกุม โดยกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบชัดเจน สามารถป้องกันการเข้าถึงจากผู้ไม่มีหน้าที่และป้องกันการรั่วไหลของข้อสอบและคำตอบได้
2. การพิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับ
2.1 กำหนดมาตรฐาน วิธีการ กระบวนการ และระยะเวลาการพิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับ รวมถึงข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับจรรยาบรรณและการรักษาความลับในระดับ “ลับที่สุด” เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดการรั่วไหลของข้อสอบในทุกช่องทาง
2.2 การจัดพิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับต้องกระทำ ณ สถานที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยจัดพิมพ์ข้อสอบต้นฉบับแยกเป็นรายตำแหน่งๆ ละ 2 ฉบับ แบ่งเป็น 3 หมวดวิชาตามข้อ 1.1
2.3 ให้มีเจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. ซึ่งได้รับมอบหมายทำหน้าที่ตรวจสอบด้วยการสังเกตการณ์ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับ ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ วิธีการที่กำหนด ห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการพิมพ์ข้อสอบและข้อสอบที่เป็นต้นฉบับโดยเด็ดขาด
2.4 การพิมพ์ข้อสอบที่เป็นต้นฉบับ หากมีความไม่สมบูรณ์ ผิดพลาด บกพร่องหรือชำรุด ต้องมีการทำลายที่ทำให้ไม่สามารถล่วงรู้ข้อความในข้อสอบโดยทันที พร้อมทั้งบันทึกการทำลายไว้เป็นหลักฐานด้วย
2.5 การเก็บรักษาข้อสอบต้นฉบับ ข้อสอบที่พิมพ์เป็นต้นฉบับต้องเก็บไว้ ณ สถานที่กำหนดซึ่งต้องมีความมิดชิด ปลอดภัย รัดกุม โดยกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบชัดเจน สามารถป้องกันการเข้าถึงจากผู้ไม่มีหน้าที่และป้องกันการรั่วไหลของข้อสอบและคำตอบ
2.6 ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยและการรักษาความลับ เพื่อป้องกันข้อสอบถูกทำลาย ชำรุด เสียหาย การรักษาความลับเพื่อป้องกันข้อสอบและคำตอบรั่วไหลเป็นความจำเป็นและสำคัญที่สุดในทุกขั้นตอนของกระบวนการสอบ จึงต้องมีการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย สถานที่ บุคคลและระบบการรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุม เข้มงวด และกำหนดการรักษาความลับแก่ผู้คัดเลือกข้อสอบ เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับและเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก (ถ้ามี) ให้เป็นความลับในระดับ “ลับที่สุด” ซึ่งนอกจากผู้คัดเลือกข้อสอบ เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับแล้ว ห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อสอบโดยเด็ดขาด
3.การจัดพิมพ์แบบทดสอบและกระดาษคำตอบ
3.1 ก่อนดำเนินการจัดพิมพ์แบบทดสอบและกระดาษคำตอบ
3.1.1 กำหนดแผน กิจกรรม ขั้นตอนและวิธีการในการจัดพิมพ์แบบทดสอบและกระดาษคำตอบ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาเริ่มต้น กระบวนการ กิจกรรม ระยะเวลาสิ้นสุด
3.1.2 กำหนดให้มีผู้ควบคุมรับผิดชอบดำเนินการและมาตรการดำเนินการที่ต้องให้มีความปลอดภัยและเป็นความลับ
3.1.3 กำหนดให้มีแผนและมาตรการป้องกัน ไม่ให้ผู้ใดจัดทำซ้ำ สำเนา ได้รู้หรือเห็นข้อความในข้อสอบ หรือจากกระดาษพิมพ์ที่ไม่สมบูรณ์ ชำรุด หรือจากเครื่องผลิดข้อสอบ
3.2 การดำเนินการจัดพิมพ์แบบทดสอบและกระดาษคำตอบ การจัดพิมพ์แบบทดสอบและกระดาษคำตอบต้องดำเนินการตามแผน ภายใต้การควบคุมรับผิดชอบตามมาตรการที่กำหนดไว้ในขั้นตอน 3.1 อย่างเข้มงวดและเคร่งครัด รวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับ
3.2.1 จัดพิมพ์แบบทดสอบ กระดาษคำตอบภายใต้การตรวจสอบ กำกับ ดูแลอย่างใกล้ชิดให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน ถูกต้อง แยกเป็นรายตำแหน่ง
3.2.2 บรรจุแบบทดสอบและกระดาษคำตอบที่สมบูรณ์ครบถ้วน ถูกต้องใส่ซองตามจำนวนของผู้มีสิทธิสอบให้ตรงตามตำแหน่ง ห้องสอบ สถานที่สอบและจำแนกเป็นสนามสอบ พร้อมแบบทดสอบสำรองและกระดาษคำตอบสำรอง ห้องสอบละ 2 ฉบับ
3.2.3 ระบุเลขที่ห้องสอบ จำนวนชุดข้อสอบหน้าซองให้ตรงตามจำนวนผู้มีสิทธิสอบในแต่ละห้อง
3.2.4 ซองบรรจุแบบทดสอบและกระดาษคำตอบจะต้องเป็นซองที่ได้มาตรฐานมีการปิดหรือผนึกอย่างมิดชิดและต้องมีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ หรือสิ่งที่บ่งบอกได้ทันทีหากมีการเปิดซองดังกล่าว ทั้งนี้ แบบทดสอบที่ไม่สมบูรณ์ ผิดพลาด บกพร่องหรือชำรุด เนื่องจากการพิมพ์ต้องทำลายจนไม่สามารถล่วงรู้ข้อความในแบบทดสอบโดยทันที พร้อมทั้งบันทึกการทำลายไว้เป็นหลักฐานด้วย
3.3 แบบทดสอบและกระดาษคำตอบที่พิมพ์เสร็จให้จัดเก็บในสถานที่ที่กำหนด ซึ่งมีความมิดชิด มั่นคง ปลอดภัย มีระบบตรวจสอบโดยบุคคลและอุปกรณ์ที่สามารถจับภาพได้ครอบคลุมพื้นที่จัดเก็บและพื้นที่โดยรอบตลอดเวลาและมีการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นไว้เป็นหลักฐานตลอด 24 ชั่วโมง
3.4 กำหนดให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องมีแผนและมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการรั่วไหลของแบบทดสอบและกระดาษคำตอบ สถานที่ บุคคลและระบบการรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุม เข้มงวด และกำหนดมาตรการรักษาความลับของทางราชการ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใดทำสำเนา ได้รู้ หรือได้เห็นข้อความในแบบทดสอบ หรือจากกระดาษพิมพ์แบบทดสอบที่ชำรุด หรือจากเครื่องผลิตแบบทดสอบ และต้องมีแผนรองรับในยามที่เกิดสภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน และสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องตามแผนที่ ศอ.บต. กำหนด พร้อมทั้งให้เสนอแผนและมาตรการรักษาความลับของทางราชการให้ ศอ.บต. ทราบ
4. การจัดเก็บแบบทดสอบ และกระดาษคำตอบกำหนดให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต้องจัดให้มีผู้รับผิดชอบและกำหนดมาตรการ วิธีการดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาแบบทดสอบ และกระดาษคำตอบ ดังนี้
4.1 มีการจัดสถานที่จัดเก็บแบบทดสอบที่มั่นคง มิดชิด ปลอดภัย
4.2 มีระบบรักษาความปลอดภัยและมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดเวลา
4.3 มีการวางระบบอุปกรณ์ที่สามารถจับภาพและบันทึกภาพโดยรอบสถานที่เก็บแบบทดสอบ และกระดาษคำตอบทุกที่ โดยสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
5. การประมวลผลและการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สอบ
5.1 ก่อนตรวจกระดาษคำตอบ ต้องตรวจว่าซองที่บรรจุกระดาษคำตอบมีการเปิดหรือชำรุดหรือไม่ และจำนวนซองกระดาษคำตอบตรงกับที่สนามสอบรายงานหรือไม่ โดยบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
5.2 มีการตรวจนับจำนวนกระดาษคำตอบ โดยนับกระดาษคำตอบของแต่ละห้องสอบ ว่ามีจำนวนผู้เข้าห้องสอบ และขาดสอบตามจำนวนที่ระบุในบัญชีรายชื่อผู้ขาดสอบหรือไม่
5.3 สรุปจำนวนกระดาษคำตอบจำแนกตามสนามสอบ ตำแหน่ง
5.4 มีการดำเนินการตรวจกระดาษคำตอบแต่ละตำแหน่งตามสนามสอบ และห้องสอบตามลำดับด้วยเครื่องตรวจกระดาษคำตอบที่ถูกต้อง แม่นยำ ได้มาตรฐาน
5.5 ตรวจสอบกระดาษคำตอบที่ผ่านการตรวจทุกใบจะต้องพิมพ์คะแนนลงบนกระดาษคำตอบเพื่อการตรวจสอบในภายหลังได้ ถ้ากระดาษคำตอบใบใดไม่มีคะแนนปรากฏบนกระดาษคำตอบ ต้องตรวจสอบกระดาษคำตอบใบนั้นเพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรและบันทึกสาเหตุไว้เป็นหลักฐาน
ดังนั้น กระบวนการตรวจข้อสอบและดำเนินการบันทึกคะแนนของผู้สมัครเข้าสอบข้อเขียนทุกราย ผ่าน ระบบคอมพิวเตอร์ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ทั้งกระบวนการดังนั้น ไม่มีปัญหาเรื่องการแก้ไขคะแนน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ศอ.บต. โดย คณะกรรมการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการทั่วไป ขอเรียนเน้นย้ำว่า กระบวนการสอบทุกขั้นตอนของ ศอ.บต. เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องและบุคคลใกล้ชิดตามที่มีการเสนอข่าวแต่อย่างใด ผู้สมัครสอบรายใด มีข้อสงสัยในกระบวนการสอบและคะแนนการสอบ สามารถสอบถามเพื่อขอดูคะแนนการสอบได้จากฝ่ายเลขานุการฯ ได้ภายหลังจากการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการเลือกสรรเป็นพนักงานราชการ ทุกกรณี