ในโลกนี้มีงานแฟชั่นวีค (Fashion Week) มากมายหลายอีเวนท์ แต่งานแฟชั่นวีคหลักของโลกถูกจัดขึ้นใน 4 เมืองใหญ่ โดยเรียกว่าเป็น Big4 ในวงการแฟชั่น 4 เมืองนั้นคือ นิวยอร์ก ลอนดอน มิลาน และปารีส
“ดูไบ” เป็นมหานครใหญ่แห่งหนึ่งในกลุ่มประเทศอาหรับ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นเมืองที่ 5 ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองใหญ่ของอีเวนท์แฟชั่นวีค โดยมีการจัดงาน Arab Fashion Week มาอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีมีแบรนด์แฟชั่นระดับโลกมาร่วมเปิดตัวมากมาย
เมื่อเดือนมีนาคม 2018 (พ.ศ.2561) เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงวงการแฟชั่นในกลุ่มประเทศอาหรับ เพราะประเทศซาอุดิอาระเบียได้จัดงานแฟชั่นโชว์ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงริยาด โดยใช้ชื่องานว่า “Arab Fashion Week” การเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ในซาอุฯ นี้มีขึ้นหลังมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน นำการขับเคลื่อนประเทศจากที่เคยพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมัน มาเป็นการขยายงานภาคเอกชน และเพิ่มศักยภาพให้แก่กลุ่มสตรี
PATANISTA Academy เล็งเห็นถึงศักยภาพของนักออกแบบและผู้ผลิตผ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะผ้าบาติกที่ถูกออกแบบโดยอาศัยลวดลายจากสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อไปนำเสนอยังกลุ่มประเทศอาหรับเหล่านี้
จากโครงการ Heritage City Pattani ทำให้เห็นได้ว่า ความหลากหลายของวัฒนธรรมหนุนให้สังคมเมืองปัตตานีมีความโดดเด่นและแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ด้วยรากเหง้าและภูมิปัญญาวัฒนธรรมด้านต่างๆ สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาสู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ สังคม เศรษฐกิจ โดยเฉพาะภูมิปัญญาทางด้านผ้าบาติกที่สามารถพัฒนาสู่สากลโดยใช้ความเชื่อมโยงของสังคมและวัฒนธรรม
Patanista Academy คือศูนย์ข้อมูลที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้ทางด้านการออกแบบแฟชั่นและการออกแบบผ้าบาติกให้กับนักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไปที่สนใจ รวมถึงผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มทักษะทางด้านนี้ โดยมีเป้าหมายเบื้องต้น 3 ด้านคือ
1.สร้างบุคลากรนักออกแบบรุ่นใหม่ทางด้านแฟชั่นและด้านการออกแบบผ้าบาติก สำหรับเป็นกำลังในการสร้างสรรค์ พัฒนา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะด้านผ้าบาติกและแฟชั่นผ้าบาติกในจังหวัดปัตตานี
2.การสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ผลิตผ้าบาติก นักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการเสื้อผ้าแฟชั่นบาติก รวมถึงหน่วยงานของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะช่วยส่งเสริมผ้าบาติกสู่ตลาดอาหรับตามเป้าหมาย
3.คัดสรรนำเสนอสินค้าให้แก่ผู้บริโภคทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน เพื่อส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการเปิดโอกาสการพบปะระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค
แฟชั่นโชว์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการในศาสตร์ทางด้านแฟชั่นที่ PATANISTA Academy เน้นตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย คือ การตลาด การหาช่องทางในการจำหน่าย เป้าหมายของสถาบัน คือ การนำผ้าพื้นถิ่นสู่สากล
ผศ.ศิริชัย พุ่มมาก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวถึงเป้าหมายของสถาบัน ต้องการนำผ้าพื้นถิ่นปัตตานีสู่สากล ส่งเสริมและผลักดันให้จังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ของการทำธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อส่งออกสินค้าด้านต่างๆ สู่ตลาดอาหรับ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีสร้างรายได้กับชุมชนในพื้นที่และให้กับประเทศ ด้วยการใช้ผ้าพื้นถิ่นที่ผลิตโดยชาวบ้านจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในจังหวัดปัตตานี นำมาออกแบบตัดเย็บโดย ดร.ปรรณกร แก้วรากมุข (ผู้ประสานสาขาวิชาเอกออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะศิลปกรรมศาสตร์) ในรูปแบบ Collection THE RISE OF PATANISTA นับเป็นการเปิดโลกแฟชั่นปัตตานีสู่สากล
ผศ.คีต์ตา อิสรั่น ผู้ประสานแขนงวิชาออกแบบแฟชั่นฯ อธิบายเสริมว่า “เรานำลายผ้ามาดีไซน์ ผลิตใหม่ให้เป็นแฟชั่นในแบบเรดดี้ ทูแวร์ คือสามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้จริง เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน นำลายสถาปัตยกรรมช่องลม ลายประแจจีน มาใช้”
“เราผลิตต้นทาง คือให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทุกขั้นตอน จนถึงตัดเย็บเป็น ปลายเดือนตุลาคมจะมีแฟชั่นโชว์งานทีสิส (วิทยานิพนธ์) ของนักศึกษา 24 คน คนละ 5 ชุด บัณฑิตที่จบไปได้ไปทำงานกับดีไซน์เนอร์ระดับประเทศ คามินเซ็น และในสถานประกอบการที่ตัดเสื้อผ้าให้มิสยูนิเวิร์ส นำองค์ความรู้ไปใช้ในอุตสาหกรรมตัดเย็บได้จริง”
PATANISTA Academy ไม่ได้หยุดเพียงแต่สร้างบุคลากรแฟชั่น แต่ยังไปค้นหาผู้ประกอบการในปัตตานี ทั้งผู้ผลิตผ้าและชุมชนมาเข้าร่วมโครงการ ได้ออกแบบลายเส้นเขียนหุ่นสเกตช์ ฝึกตัดเย็บขึ้นโครง จบโครงการก็จะเป็นสตาร์ทอัพของโครงการ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายทางเพื่อให้ต่อยอดแฟชั่นทันสมัย ใช้ได้จริง มีตลาดรองรับ ยกระดับการท่องเที่ยว และคาดหวังว่าไม่นานนี้จะจัด “ปัตตานี แฟชั่นวีค”
สถาบันออกแบบแฟชั่น PATANISTA academy ได้ทำพิธีเปิดและจัดแสดงนิทรรศการไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ที่ ศูนย์ ม.อ.ปัตตานีภิรมย์ ถนนปัตตานีภิรมย์ อ.เมืองปัตตานี และในวันเดียวกัน ที่ลานศิลปวัฒนธรรม ถนนสายบุรี อ.เมืองปัตตานี มีพิธีเปิด THE RISE OF PATANISTA และการเสวนา เรื่อง “ทิศทางการออกแบบแฟชั่นสู่สากล” โดย ฮัฟเซาะห์ นิยมเดชา วิทยากรผู้เคยได้รับการคัดเลือกจากราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ให้ไปเป็นช่างตัดเสื้อส่วนพระองค์ของสำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย และ ดร.อับดุลลอฮ อัลอุซามะฮ์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอิสลามศึกษา หลักสูตรนานาชาติ คณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี
ภายในงานยังมีการเดินแฟชั่นโชว์โดยผ้าพื้นถิ่นที่นายแบบและนางแบบสวมใส่ ผลิตโดยชาวบ้านจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในจังหวัดปัตตานี
ดร.ปรรณกร แก้วรากมุข อาจารย์ประจำวิชาเอกแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ดีไซน์เนอร์คอลเลคชั่นนี้ บอกว่า พยายามผลักดันให้ผ้าบาติกของชาวปัตตานีสู่สากล เลือกจากผู้ประกอบการผ้าบาติกในปัตตานีมารังสรรค์เป็นคอลเลคชั่นที่ปรากฏในงาน มีความหลากหลาย ออกแบบให้สวมใส่ได้ในหลายโอกาส หลากหลายช่วงวัย ผู้ใหญ่ วัยรุ่น เฟมินีน สปอร์ต หรูหรา
ด้าน ฮัฟเซาะห์ นิยมเดชา ผู้ที่เคยได้รับการคัดเลือกจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ให้เป็นช่างตัดเสื้อส่วนพระองค์ของพระราชวังเจ้าชาย Abdulrohman Ahmad Bin Alhamdulaziz Al-Saud และเจ้าชาย Mohammed A.M. Bin Alhamdulrohman Al-saud ทั้งยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ออกแบบและจัดทำชุดถวายแด่ Dr. Mona Al Said พระนัดดาของสุลต่านโอมาน เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศไทย บอกเล่าประสบการณ์จริงจากการทำงานด้านแฟชั่น ณ ประเทศซาอุดีอาระเบียว่า สิ่งที่สร้างความประทับใจ คืองานที่ทำจากฝีมือคนไทย พระองค์ทรงเจาะจงเลือกคนไทยเป็นช่าง และงานทุกชิ้นของพระองค์ท่านต้องเป็นงานฝีมือ เพราะทรงพระทับใจในงานฝีมือของคนไทย
ดร.อับดุลลอฮ อัลอุซามะฮ์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอิสลามศึกษาหลักสูตรนานาชาติ คณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า “หากเราเปิดตลาดซาอุฯได้ หมายถึงเราสามารถเปิดตลาดโลกได้ทีเดียว”
เรื่องน่ายินดีอีกด้านคือ นางสาวจิราพร เทพสุทธิ์ ศิษย์เก่าสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด SACIT Award 2022 ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen ประเภท Gen Y เป็นหนึ่งในผลผลิตของสาขาออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย โดยปัจจุบันยังเป็นสตาฟของสถาบันออกแบบแฟชั่นแห่งปัตตานี Patanista Academy อีกด้วย