“โคแฟค” จับมือเครือข่ายสื่อมุสลิมเชียงใหม่ จัดเสวนาค้นหาความจริง พร้อมนำเสนอแนวทางรับมือข่าวลวง “อิสลามโมโฟเบีย” พบคนไทยกว่าร้อยละ 40 ทั้งเชื่อและช่วยแชร์ข่าวปลอมในสื่อสังคมออนไลน์โดยขาดการกลั่นกรอง
วันเสาร์ที่ 13 ส.ค.65 ศูนย์ประสานงานเครือข่ายสื่อมุสลิมเชียงใหม่ และ Cofact โคแฟค จัดเสวนาค้นหาความจริงแก้ไขข่าวลวงอิสลามโมโฟเบียในสังคมไทย ในหัวข้อ “สถานการณ์โรคเกลียดกลัวอิสลาม(สถานการณ์/แนวทางการรับมือ) และแนวทางการรับมือข่าวปลอม / การตรวจสอบข่าวปลอม ประเด็นความขัดแย้งทางศาสนา” ที่สถาบันเรียนรู้อิสลาม ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย อาจารย์ชาญชัย ศรีสมบัติ ผู้อำนวยการสถาบันเรียนอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่, อาจารย์วันอิดริส ปะดุกา นักวิชาการศาสนาอิสลาม, นายสุจินดา คำจร ชาวพุทธผู้ทำงานวิจัยเรื่องซะกาตกับชุมชนมุสลิม, นางอันธิกา (ยามีละห์) เสมสรร ประธานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ จ.นครศรีธรรมราช, นายปวิณ แสงซอน สถาปนิกมุสลิมกับมุมการสัมผัสพี่น้องต่างศาสนา โดยมี นายเลิศ ชัยคำ ประธานเครือข่ายสื่อมุสลิมเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
@@ ปลุกมุสลิมเท่าทันข่าวปลอม ยึดคำสอนอัลลอฮ์
นายชุมพล ศรีสมบัติ เครือข่ายมุสลิมเชียงใหม่ กล่าวเปิดการเสวนาว่า ตอนนี้มีปัญหาเรื่องกระแส “อิสลามโมโฟเบีย” (สถานการณ์โรคเกลียดกลัวอิสลาม) ในหลายๆ ประเด็น คนที่ทำงานด้านศาสนาตระหนักว่าถ้าเราปล่อยให้ลามไปเยอะโดยที่ไม่พูดไม่คุยกันเลยก็จะเกิดปัญหา สร้างความไม่เข้าใจให้กับพี่น้องในพื้นที่ต่างๆ เพราะว่าคนในยุคนี้สมัยนี้พอเห็นข่าวอะไรก็กดไลก์ กดแชร์ โดยไม่ได้สนใจข้อเท็จจริง
มีข้อมูลจากการสำรวจข่าวปลอมที่แพร่ระบาดในโลกสื่อสังคมออนไลน์พบว่า มีคนไทยร้อยละ 40 ที่เชื่อข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สัมพันธ์ของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดกับพฤติกรรมการสื่อสารของผู้ใช้เทคโนโลยีที่ขาดการกลั่นกรองเลือกรับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ขอเพียงเป็นข้อมูลที่ชอบ ข่าวที่ใช่ อ่านแล้วสะใจเพื่อยอดไลก์ยอดวิว ก็พร้อมที่จะแชร์และโพสต์โดยไม่ทันได้ฉุกคิดว่าข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมานั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นจริงหรือเป็นเท็จ ผู้ส่งมีวัตถุประสงค์ใด ส่งต่อแล้วมีผลกระทบอย่างไร
สิ่งที่น่าเศร้าคือมุสลิมจำนวนไม่น้อยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข่าวเท็จข่าวลวงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเจตนาและไม่ได้เจตนา ถือว่าสร้างความเสียหายถึงขึ้นเป็นภัยอันตรายต่อสังคม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่มุสลิมจะรู้เท่าทันฟิตนะฮ์ หรือความเสียหายทางโลกออนไลน์ โดยมีคำกล่าวของอัลลอฮ์ในอัลกุรอานว่า “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากคนชั่วนำข่าวใดๆ มาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด หาไม่แล้วเจ้าก็จะก่อกรรมแก่พวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว และจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำลงไป” จะเห็นว่าอัลลอฮ์วางกฎเกณฑ์ในเรื่องของการฟังข่าวใดๆ ค่อนข้างจะรัดกุม
@@ แนะสื่อสารความเข้าใจกับคนที่ไม่ใช่มุสลิม
อาจารย์ชาญชัย ศรีสมบัติ ผู้อำนวยการสถาบันเรียนอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเกลียดกลัวอิสลาม หรือ “อิสลามโมโฟเบีย” คือความรู้ความเข้าใจของความเชื่อที่มีความแตกต่าง ในขณะที่สังคมเรากำลังเรียกร้องไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม แต่ความเข้าใจของพวกเรานั้นกลับเข้าใจว่า การเป็นพหุนั้น คือการทำให้คนที่มีความแตกต่าง เปลี่ยนให้มาเหมือนกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด พหุวัฒนธรรมที่แท้จริงแล้วไม่ว่าคุณจะเป็นชาติพันธุ์ไหนหรือนับถือศาสนาใด คุณก็สามารถดำรงความเป็นตัวตนของคุณได้ และเราสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่าง
“การรับมือโรคเกลียดกลัวอิสลามที่เราจะทำได้ อย่างแรกคือการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในเรื่องของการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้เข้าได้รู้ถึงบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะเรื่องญิฮาดในอิสลาม ซึ่งในโลกตะวันตกในฝั่งอเมริกา ยุโรป พอได้ยินคำว่าญิฮาดก็หมายถึงการฆ่า แต่จริงๆ แล้วญิฮาดในศาสนาอิสลามไม่ได้หมายถึงการที่คุณจะต้องไปเข่นฆ่าใครแล้วจะได้ไปเข้าสรวงสวรรค์ ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจตรงนี้ โดยให้ความรู้อย่างถูกต้องกับคนที่ไม่ใช่มุสลิม”
@@ ต้องอธิบายความต่างระหว่างอิสลาม กับผู้ก่อการร้ายที่นำศาสนาไปอ้าง
อาจารย์ชาญชัย กล่าวอีกว่า ในการแก้ไขตรงนี้มี 2 ส่วน คือทั้งภายในและภายนอก โดยภายในเองเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกลุ่มก่อการร้ายมากมายที่ใช้ชื่อคำว่า “มุสลิม” หรือก่อการร้ายโดยนำศาสนาอิสลามเข้าไปเกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันในความเชื่ออื่นในศาสนาอื่นก็มีกลุ่มก่อการร้าย แต่วันนี้เมื่อไปเสิร์ชในกูเกิล คำว่า “ผู้ก่อการร้าย” มันจะขึ้นมาแต่ ไอเอส อัลกออิดะฮ์ ตอลิบาน เราซึ่งเป็นมุสลิมเองทำอย่างไรที่จะให้คนของเราสามารถอธิบายได้
“ปัญหาอันหนึ่งที่เจอคือ คนมุสลิมไม่สามารถอธิบายความเป็นมุสลิมของตัวเองหรือศาสนาอิสลามที่ตัวเองนับถือให้คนอื่นเข้าใจอย่างแท้จริง มันเป็นเรื่องที่เราคงจะต้องสร้างวัคซีนต่างๆ ในเรื่องของการรับรู้หรือในเรื่องของการรับข้อมูลข่าวสาร ตรงนี้เราสามารถสู้และรับมือกับมันได้ในมิติภายในของเรา แต่ภายนอกก็ต้องพยายามกันต่อไปในเรื่องของการให้ความรู้ความเข้าใจกับสังคมได้มากขึ้น”
@@ หน่วยงานรัฐต้องช่วยแสดงบทบาท เป็นผู้นำการรณรงค์
อาจารย์วันอิดริส ปะดุกา นักวิชาการศาสนาอิสลาม กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดอิสลามโมโฟเบียมีทั้งภายในกับภายนอก ซึ่งภายในบางครั้งคนมุสลิมเองก็เป็นเหตุให้คนต่างศาสนิกเข้าใจอิสลามผิด ต้องเข้าใจก่อนว่า อิสลามไม่ใช่เป็นศาสนาของเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง มีทั้งมุสลิมเชื้อสายมลายู มุสลิมเชื้อสายจีน มุสลิมเชื้อสายไทย เมื่ออิสลามมีคนจากหลากหลายเชื้อชาติหลากหลายวัฒนธรรม ย่อมเป็นธรรมดาที่จะนำความเชื่อ แนวทางปฏิบัติ วิธีคิด Mindset ของตัวเองเข้ามาปะปนกับหลักการศาสนา อย่างมุสลิมที่มาจากเอเชียกลาง ก็จะมีแนวทางปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง มุสลิมอาหรับก็จะมองโลกอีกแบบหนึ่ง แต่พอคนต่างศาสนิกมอง โดยเฉพาะคนไทยเขาจะเหมารวมหมด
“เราต้องปรับความคิด หรือ Mindset มาตั้งแต่เด็กๆ ต้องอาศัยความร่วมมือตั้งแต่หน่วยงานของภาครัฐ ในเรื่องการสร้างความเข้าใจ ในเรื่องของหลักสูตรแบบเรียน การรณรงค์ต่างๆ ตรงนี้ถ้าภาครัฐมีความจริงใจจริงจังที่จะแก้ปัญหา เชื่อว่าทำได้ ยกตัวอย่างประเด็นเมื่อก่อนมันมีแคมเปญ ‘ตาวิเศษเห็นนะ’ ทำเป็นการ์ตูนขึ้นมาโฆษณาในทีวี คนในรุ่นนั้นจะไม่กล้าทิ้งขยะเพ่นพ่าน ถ้ารัฐบาลมีการรณรงค์การอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมเหมือนที่มาเลเซีย หรือสิงคโปร์เขาทำ ผมคิดว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคมรุ่นใหม่ให้ยอมรับความแตกต่าง ไม่ไห้เกลียดชังคนอื่นๆ”
@@ เริ่มต้นที่ตัวเรา แชร์ข่าวที่เป็นบวก
อาจารย์วันอิดริส ยังกล่าวถึงการแก้ไขข่าวลวงว่า มันสามารถเริ่มได้ที่ตัวเรา เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนคนอื่นได้ แต่เริ่มได้จากการที่เราแชร์สิ่งที่ดีๆ สิ่งที่เป็น positive ให้กับสังคม ไม่ใช่แชร์แต่การฆ่ากัน ทำร้ายกัน ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะทำ
“ข่าวลบในสิ่งที่เป็นอิสลามบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องไปตอบโต้ แต่เราแค่เสนอข่าวในสิ่งที่เป็นบวกเข้าไปได้ ผู้เสพข่าวเขาสามารถเปรียบเทียบได้เองว่า อันไหนมันน่าเชื่อถือกว่ากัน ดีกว่าที่เราจะต้องไปคอยตอบโต้ บางเรื่องไม่จำเป็นต้องชี้แจง เพียงแต่ว่าผู้เสพในฐานะปัจเจกเราสามารถเริ่มได้ด้วยการไม่ทำซ้ำ พยายามที่จะลดเลิกและทำซ้ำในการเผยแพร่สิ่งที่เป็น negative ออกไปในโซเชียลฯ เพราะมันไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว ถึงแม้คุณจะเป็นเจ้าของแอคเคาท์นั้นก็ตาม เพราะโลกเราอยู่กับสิ่งที่เป็นลบมากพอแล้ว”
@@ “พื้นที่วิชาการ - งานวิจัย” ช่วยเปิดมุมมอง
นายสุจินดา คำจร นักวิชาการศาสนาพุทธ ผู้ทำงานวิจัยเรื่องซะกาตกับชุมชนมุสลิม กล่าวว่า ในฐานะที่ไม่ใช่มุสลิม และได้ติดตามข่าวสาร ก็จะเห็นว่าสื่อพยายามประโคมให้เห็นในเรื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดอิสลามโมโฟเบีย เป็นการสร้างภาพเหมารวม ส่วนตัวเห็นว่าพื้นที่วิชาการเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการวิจัย ยอมรับเลยว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเองเข้าใจและเปิดรับข้อมูลมาจากการค้นคว้าศึกษา ถ้าเราเชื่อตามสื่อหรือรีบด่วนสรุปตัดสิน จะทำให้เห็นภาพแบบเหมารวมอย่างที่มันเกิดขึ้น
“เมื่อคนส่วนใหญ่เป็นคนพุทธ เราก็จะถือว่าคนที่ต่างจากเรา เช่น มุสลิม เป็นชนอีกกลุ่มหนึ่ง มีการเลือกปฏิบัติ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แล้วทำให้เราแย่ลงไป แต่สิ่งที่ควรทำเพื่อแก้ไข คือการพยายามทำความเข้าใจ เรียนรู้เรื่องหลักปฏิบัติในศาสนาเขาที่ต่างจากเรา เราต้องเข้าใจว่าทำไมเขาถึงต่าง ต้องพยายามเรียนรู้และพยายามเปิดรับตรงนั้น จะทำให้เราสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ มันอาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของสื่อ หรือแม้แต่ในเรื่องของการเปิดใจรับความแตกต่าง อันนี้ไม่ใช่แต่มุสลิม แต่หมายถึงศาสนาอื่นๆ ด้วย พูดง่ายๆ ก็คือใจเขาใจเรา ตรงนี้มันจะทำให้อยู่ร่วมกันได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม”
@@ องค์กรมุสลิมต้องปรับตัว ช่วยเหลือ-สื่อสารกับคนต่างศาสนิก
นางอันธิกา เสมสรร ประธานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงอิสลามโมโฟเบียที่เจอกับตัวเองว่า ในช่วงที่มีเหตุการณ์เผาโรงเรียนในภาคใต้ ตอนนั้นเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ยังมีคนจำนวนน้อยที่คลุมฮิญาบในมหาวิทยาลัย เราเป็นคนเดียวในคณะรัฐศาสตร์ สิ่งที่เจอคือ โดนดึงฮิญาบและชี้หน้าต่อว่าเป็นพวกมุสลิมเผาโรงเรียน ตอนนั้นยังเด็กและรู้สึกว่ามันรุนแรงขนาดนี้เลยหรือ ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ทั้งที่เราเป็นคนนครศรีธรรมราช ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“แต่เมื่อโตขึ้นจึงได้รู้ว่า จริงๆ แล้วความระแวงมันมีอยู่ ซึ่งเราไม่เคยระวังตัวกับการแสดงออกของเรา เหมือนกับผู้รู้ศาสนาที่เมื่อก่อนสอนกันอย่างเงียบๆ วันหนึ่งลุกขึ้นมาสอนออกสื่อ สอนทางจานดำ ใช้คำพูดที่ตรงกระแทกกระทั้น คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเกลียดกลัวอิสลามในประเทศไทย ก็คือการแสดงออกของเราเองที่ค่อนข้างที่จะเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แล้วพอมีเหตุการณ์ 911 เข้ามา มันเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้เราลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อแสดงศักยภาพและแสดงความเป็นตัวตนของเรามากขึ้น ซึ่งอันนี้มันก็ไปกระแทกความรู้สึกของคนที่เขากลัวอยู่แล้วลึกๆ ทำให้เกิดความกลัวแล้วมาตอบโต้กับเรา”
นางอันธิกา กล่าวอีกว่า การรับมือกับการแก้ปัญหาการเกลียดกลัวอิสลาม ส่วนประกอบที่สำคัญมากๆ คือ องค์กรมุสลิมต่างๆที่มีอยู่จะต้องเป็นตัวช่วยให้เราสามารถรับมือและเข้าถึงกลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิมมากขึ้น ต้องทำงานสองทางคือ ภายในองค์กรของเราเองก็ต้องทำความเข้าใจ ขัดเกลาพวกเรากันเองให้ทุกคนมีอิสลามอยู่ในตัวเราเอง ไม่ใช่เป็นอิสลามแค่ผ่านคำพูด แต่ผ่านการสื่อสารด้วยการกระทำ แล้วนำออกสู่ข้างนอก อย่างปัจจุบันเรามีองค์กรสาธารณะประโยชน์มากมายที่เป็นมุสลิม แต่ทำไมเวลาเราจะช่วยเหลือ เราเลือกช่วยเหลือแต่ที่เป็นชุมชนมุสลิม
ยกตัวอย่าง จ.นครศรีธรรมราช เกิดอุทกภัยไม่ใช่เฉพาะชุมชนมุสลิม แต่องค์กรมุสลิมทำไมถึงต้องเลือกช่วยเหลือแต่มุสลิม ทำไมเราถึงไม่ถามว่า มีพื้นที่ไหนที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือแล้วเข้าไปช่วยโดยที่ไม่ถามว่าเขาคือใคร มันทำให้คนภายนอกที่ไม่ใช่มุสลิมมองว่า มุสลิมช่วยแต่มุสลิม มันจะไปเพิ่มความไม่พอใจให้กับเขาเข้าไปอีก
“แต่ถ้าเราปรับตัวในการสื่อสาร องค์กรต่างๆ ก็ดี ควรเป็นตัวที่จะสื่อสารลดความเกลียดกลัวลงได้ แทนที่เราจะใช้การไปบอกว่า อิสลามเป็นแบบนี้อย่างนี้ ทำไมเราไม่ใช้การปฏิบัติที่ว่านี้คือการช่วยเหลือ อิสลามให้เราเป็นผู้ให้ อิสลามให้เราเป็นผู้บริจาค เราไม่ได้เลือกผู้รับบริจาค ยกเว้นการบริจาคที่มีการกำหนดอย่างซะกาต ซึ่งเชื่อว่าผู้รับเหล่านี้เขาจะเป็นคนที่จะช่วยสื่อสาร ไปแก้ข่าวที่มันผิดๆ ให้เราเอง”
@@ แก้ปัญหาเชิงกลยุทธ์...รู้ทันสถานการณ์ รู้เท่ากันข้อเท็จจริง
นายปวิณ แสงซอน สถาปนิกมุสลิมกับมุมการสัมผัสพี่น้องต่างศาสนา กล่าวว่า ในเรื่องการรับมือ เราต้องถามก่อนว่าเรากำลังรับมือกับอะไร อย่างอิสลามโมโฟเบีย ถ้าเราชัดเจนกับเรื่องนี้ ก็ต้องค้นหาว่า base หรือฐานของมันคืออะไร คือกลัวอิสลามจากการรู้จัก หรือกลัวอิสลามเพราะความรู้สึก ถ้าเรารับมือกับความรู้ ก็เอาข้อเท็จจริงไปให้เขา แล้วกลุ่มไหนที่เป็นความรู้สึก เป็นเรื่องชอบ ไม่ชอบ เราต้องโฟกัสไปที่ปัญหา รู้ว่าอะไรสมควรต้องทำ อะไรควรจะทำ แยกสิ่งที่จำเป็นต้องทำกับควรจะทำออกให้ชัดเจน อะไรต้องไม่ทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แยกให้ออก รู้เท่าทันข้อเท็จจริง รู้เท่าทันสถานการณ์ รู้เท่าทันกลุ่มเป้าหมาย มันก็จะเกิดกลยุทธ์ ซึ่งการแก้ข่าวลวง บางครั้งก็ตอบโต้เชิงความรู้ บางครั้งก็ตอบโต้เชิงความรู้สึก ในสิ่งนี้พวกเราอาจจะต้องปรับวิธีคิด