สัปดาห์ที่ผ่านมา (4 ส.ค.) มีร่างกฎหมายที่ถูกตีตกในวาระแรก ซี่งเกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ “ร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ”
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอตั้งแต่เดือน ก.พ.65 เพื่อแก้ไขยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ที่ใช้ในการแก้ไขสถานการณ์ไฟใต้และการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่คณะรัฐมนตรีขอรับไปพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน จากนั้นจึงส่งกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติ
ปรากฏว่า ที่ประชุมสภามีมติ “ไม่รับหลักการ” ด้วยคะแนนเสียง 169 ต่อ 69 และงดออกเสียง 3 เสียง
ประเด็นที่ขอแก้หลักๆ ก็คือให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งประกาศโดยรัฐบาล หรือฝ่ายบริหาร ต้องถูกตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติ และผู้ได้รับผลกระทบหรือเสียหาย ต้องสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ โดยเว็บไซต์ไอลอว์ ได้ยกตัวอย่างประเด็นสำคัญๆ เอาไว้ เช่น
- การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำกัดไว้คราวละ 30 วัน และต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย (เดิมรัฐบาลหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว สามารถประกาศไปได้เลย ไม่ต้องขอความเห็นจากสภา)
- ตัดอำนาจคณะรัฐมนตรีในการตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- ตัดอำนาจนายกรัฐมนตรี กรณีที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้ว ไม่ให้มีอำนาจตรวจสอบจดหมาย สิ่งพิมพ์ โทรศัพท์ การสื่อสาร
- เลิกยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ และยกเลิกการตัดช่องทางไม่ให้ศาลปกครองสามารถตรวจสอบข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯได้
แต่ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ ครม.ไปสอบถามมา กลับมองเห็นความจำเป็นที่การใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ ต้องอยู่ที่ฝ่ายบริหาร เพราะมิฉะนั้นอาจมีปัญหา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว แต่สภาไม่อนุมัติ รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจเรื่องการตรวจสอบจดหมาย สิ่งพิมพ์ และการสื่อสารรูปแบบต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันมีการเผยแพร่ข่าวปลอม หรือ “เฟกนิวส์” จำนวนมาก
นี่คือมุมมองที่แตกต่างกัน ระหว่างคนเสนอแก้กฎหมาย กับฝ่ายราชการที่มีส่วนในการบังคับใช้กฎหมาย
เหตุผลที่แตกต่างสามารถนำมาต่อสู้หักล้างกันได้ แต่ทุกฝ่ายต้องยืนอยู่บนฐานข้อมูลเดียวกันก่อนว่า การใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการใช้อย่างจำกัด อย่างเคารพสิทธิและเสรีภาพตามสมควร หรือมุ่งละเมิดสิทธิ และมีความพยายามบิดเบือนการใช้กฎหมายกันแน่ แม้จะอ้างเรื่องความมั่นคงปลอดภัยก็ตาม
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายสนับสนุนการแก้ไข “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เอาไว้ ในฐานะที่เป็น ส.ส.ในพื้นที่ และพยายามสะท้อนปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย
“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้มา 17 ปี สภาไม่มีส่วนร่วมเลย ตัวแทนที่มาจากพี่น้องประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย เพราะเป็นพระราชกำหนด (ตราขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องผ่านสภา แม้จะต้องเสนอเข้าสภาในภายหลังก็ตาม) ในอดีตการบังคับใช้กฎหมายการปฏิบัติราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน สมัยจอมพล ป. ยังออกเป็นพระราชบัญญัติ เมื่อปี พ.ศ.2495”
“สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยิ่งบังคับใช้ ยิ่งเหมือนกับให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจ ช่วงหลังมีการปะทะปิดล้อม ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ไทยไม่มีวิธีการอื่นใดเลยที่จะแก้ปัญหา ปิดล้อมทุกครั้งวิสามัญฆาตกรรมทุกครั้ง ตั้งแต่ปี 63–65 เหตุการณ์เกิดขึ้น 55 ศพแล้ว ยังไม่เคยมีการดำเนินคดีใดๆ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ ยกเว้นการรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ทั้งไม่ต้องรับผิดทางปกครอง แม้แต่ปัจจุบันนี้ภาคประชาสังคมมาเคลื่อนไหวต้องการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีสิ่งแวดล้อม ก็ยังถูกคุกคามไม่ให้มีการเคลื่อนไหว โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”
“ผมเป็นห่วงว่า ถ้ารัฐบาลยังดื้อดึงที่จะไม่มีการทบทวน ยังไม่ยอมรับผิดกับบางเรื่อง บางนโยบาย โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนใต้ เกรงว่าจะเป็นการจุดไฟกองใหม่ให้เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เวลามีการวิสามัญฯ จะเกิดปรากฏการณ์ที่คนหนุ่มสาวออกมาแห่สรรเสริญต้อนรับศพคนที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม และมันกำลังขยายวงกว้างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันสะท้อนให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำลังเติมเชื้อไฟกองใหม่ ตราบใดที่ยังไม่มีการทบทวน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือให้สภามีส่วนร่วมเพื่อถ่วงดุลการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้”
เสียงจาก ส.ส.ในพื้นที่ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงที่เป็นข้อมูลสาธารณะ ก็จะพบว่ามีความสอดคล้องกันอยู่พอสมควร
การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศมาตั้งแต่เดือน ก.ค.ปี 47 แน่นอนว่าไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้ประกาศ แต่เมื่อมาถึงรัฐบาลชุดนี้ ก็ใช้มาถึง 17 ปีเต็มแล้ว ต่ออายุขยายเวลาทุกๆ 3 เดือนมาแล้ว 68 ครั้ง
คิดแบบบ้านๆ ไม่ต้องมีความรู้อะไรเลย คือคุณใช้กฎหมายฉุกเฉินมา 17 ปี มันแปลว่า “ฉุกเฉิน” ตรงไหน เพราะมันเข้าข่าย “ถาวร” มากกว่า
รัฐบาลอาจจะบอกได้ว่า พยายามยกเลิกการประกาศในบางอำเภอไปแล้ว ล่าสุดยกเลิกไป 9 อำเภอ จากทั้งหมด 33 อำเภอ แต่นั่นมันคือการ “เล่นกลทางกฎหมาย” เพราะท่านยังใช้กฎอัยการศึกได้อยู่ ก็ยังจับโดยไม่มีหมายจับ คุมตัวเข้าค่ายทหารโดยไม่ต้องมีหมายขังได้เหมือนเดิม
พอพ้นอำนาจควบคุมตัว 7 วันของกฎอัยการศึก ท่านก็มาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯต่อ โดยอำเภอที่ท่านมีศูนย์ควบคุมตัว หรือศูนย์ซักถาม ท่านก็ไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วอ้างเหตุใช้กฎหมายพิเศษได้ต่อไป
แบบนี้ไม่เรียกละเมิดสิทธิประชาชนโดยใช้กฎหมาย ทำร้ายประชาชนในนามของความถูกต้อง แล้วจะเรียกว่าอะไร?
อีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเกือบ 3 ปีในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ถามว่าวันนี้โควิดเลิกระบาดแล้วหรือยัง
มีข้อเสนอให้แก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพิ่มอำนาจคล้ายๆ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเข้าไป จะได้ไม่ต้องใช้กฎหมายฉุกเฉิน ส่งสัญญาณผิดไปทั่วโลก จนคนไม่มาเที่ยว ท่านก็ไม่ทำ เพราะตอนที่จะเสนอกฎหมาย เสียงในสภาท่านปริ่มน้ำ กลัวโดนคว่ำ ท่านรักตัวเองมากกว่าบ้านเมืองหรือเปล่า?
น่าแปลกที่ในยุคนี้ กฎหมายดีๆ ที่เปิดให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐถูกตีตกหมด ก่อนหน้านี้ ส.ส.พรรคประชาชาติ ก็เคยเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 หรือเกือบ 70 ปี แก้เพียงประเด็นเดียวคือ คดีที่ทหารกระทำผิดกับพลเรือน หรือประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือน ถามว่ามันไม่ดีตรงไหน แต่ท่านก็ตีตก
แล้วทหารทำผิดกับพลเรือน บางคดีก็เป็นคดีชู้สาว ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง แต่ต้องขึ้นศาลทหาร มันเป็นธรรมอย่างไรหรือ
คำถามนี้ไม่ต้องให้คนระดับผู้มีอำนาจมาตอบ เพราะประชาชนตาดำๆ ที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายทุกคนก็ตอบได้ว่ามันเป็นธรรมหรือเปล่า...