การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบเต็มคณะ ระหว่างคณะพูดคุยตัวแทนรัฐบาลไทย กับกลุ่มบีอาร์เอ็น กำลังวนมาอีกคำรบในวันที่ 1-2 ส.ค.65
ประเด็นสำคัญคือการทดสอบความเชื่อมั่นด้วยการร่วมมือกันลดเหตุรุนแรง ลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ปฏิบัติการทางทหาร
โดยต่อยอดจาก “รอมฎอนสันติ” ที่ประสบความสำเร็จด้วยดี มีแต่เสียงแซ่ซ้อง
แต่ความท้าทายมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่หลังเดือนรอมฎอน พุ่งสูงขึ้นมา มีเหตุแทรกซ้อนที่น่าเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการที่ไม่ใช่บีอาร์เอ็น ขณะที่ฝ่ายรัฐก็ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น หนำซ้ำยังวิสามัญฆาตกรรมถี่ยิบ
พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ อธิบายสถานการณ์ของกระบวนการสันติภาพ และโต๊ะพูดคุยสันติสุขฯรอบใหม่ รวมทั้งความท้าทายที่เกิดขึ้น
“รอมฎอนสันติ 3 เม.ย. ถึงวันที่ 14 พ.ค.65 แทบไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นมีความพยายามต่อเวลาถึงรายอฮัจย์ ก็มีเหตุการณ์เดียวคือวันที่ 25 พ.ค. ที่ตากใบ (โจมตีตำรวจน้ำตากใบ จ.นราธิวาส) ส่วนเหตุการณ์ที่สายบุรี (อ.สายบุรี จ.ปัตตานี วางระเบิด 3 ลูกดักสังหาร ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย อีโอดีบาดเจ็บหลายนาย) กลุ่มพูโล ของ นายกัสตูรี (นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานพูโล) แสดงความรับผิดชอบว่าเขาดำเนินการเอง ไม่เกี่ยวกับคนที่พูดคุยกับเรา”
“ฉะนั้นถือว่ารอมฎอนสันติได้ผล ต่อยอดถึงรายอฮัจย์ วันที่ 10 ก.ค.65 ช่วงรายอฮัจย์ มีการบังคับใช้กฎหมายและมีการก่อเหตุอยู่ต่อเนื่องจนถึงวันนี้”
พล.ท.ธิรา ลำดับเหตุการณ์ต่อว่า หลังพ้นช่วงรายอฮัจย์ ก็เป็นเรื่องของพี่น้องพุทธ ขอให้เกิด ‘เข้าพรรษาสันติ’ เป็นเวลา 3 เดือน จนถึง 10 ต.ค. ขอให้เป็นเรื่องไม่มีเหตุรุนแรง
“ข้อเสนอนี้อยู่ระหว่างปรึกษาหารือทางเทคนิค ซึ่งในช่วงเข้าพรรษาสันติที่เราจะเสนอบนโต๊ะพูดคุย ใครที่คุยกันได้ คุยรู้เรื่องก็คุยต่อ ใครที่ไม่คุยก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย”
“การพูดคุยระหว่างวันที่ 1-2 ส.ค.นี้ เรากำหนดหัวข้อกันไปแล้ว สรุปผล ประเมินผลรอมฎอนสันติด้วยกัน และต่อยอดรอมฎอนสันติอย่างไร จะต่อยอดเข้าพรรษาสันติอย่างไร ก็คือการต่อยอดของการลดหรือเลิกเหตุรุนแรง และการต่อยอดในสิ่งที่ เราพูดคุยไปแล้ว 3 สาระสำคัญ คือ กลไกของการปรึกษาหารือจะคืบหน้ากันไปอย่างไร, การไม่มีเหตุรุนแรงในพื้นที่เราจะไปอย่างไร และการมีส่วนร่วมทางการเมืองจะเดินหน้ากันไปอย่างไร แบบไหน หัวใจสำคัญที่เราจะนำเสนอ คือการเข้าพรรษาสันติ จะเสนอ 3 เดือน จะไม่ใช้ความรุนแรงจนถึง ต.ค.”
แต่เส้นทางของกระบวนการสันติภาพ และการพูดคุยที่มีกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นหลัก ทำให้เกิดสถานการณ์แทรกซ้อนจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะพูโล ซึ่งเปิดปฏิบัติการ ทิ้งใบปลิว และประกาศชัดเจนว่าเป็นฝีมือของตน พร้อมย้ำว่าพวกตนมีกองกำลังเช่นกัน สถานการณ์นี้กลายเป็นความท้าทายใหม่ของโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ
“เรื่องของพูโล ผมคิดว่ากองกำลังที่มีตัวตนจริงๆ ของพูโลในปัจจุบันไม่มี เป็นแค่กลุ่มคนหนึ่งที่เขารวมๆ กันขึ้นมา แล้วไปก่อเหตุร้ายเท่านั้นเอง ถ้าพูดภาษาแบบชัดเจนที่สุดคือ ‘มือปืนรับจ้าง’ เท่านั้น”
“การบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา เราควบคุมตัวได้ถึง 8 คน และอีก 2 คนที่สูญเสีย (เมื่อวันที่ 8 ก.ค.65) มันแทบหมด เราสอบถามข้อมูลจากเขา ที่บอกว่า ‘มือปืนรับจ้าง’ เขามีอะไรที่รวมกลุ่มกันได้แค่ตรงนั้น เมื่อเรามีข้อมูลตรงนี้แล้วไปควบคุม มันก็หมด ก็ชัดเจนว่ารับจ้าง มันก็จบตรง ‘มือปืนรับจ้าง’ เพื่อสร้างสถานการณ์ขึ้นมา และไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อสังคมเลย”
คำถามที่สังคมอยากฟังคำตอบ ก็คือจุดยืนของรัฐบาลไทยในการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ จะคุยทุกกลุ่ม หรือคุยกับบีอาร์เอ็นเท่านั้น เข้าใจว่าปัญหานี้ แม้แต่พูโลเองก็ถาม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือการพยายามโชว์ศักยภาพและการประกาศตัวตนว่าดินแดนแห่งนี้ก็มีพวกเขา ซึ่งไม่ใช่บีอาร์เอ็นอยู่ด้วยเหมือนกัน
ประเด็นนี้ พล.ท.ธิรา ตอบในแง่หลักการ
“นโยบายการพูดคุยฯ เราพูดคุยกันตามความสมัครใจของทุกฝ่าย หลักๆ เราจะพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ แต่สาระอยู่ที่เราคุยกันได้ทุกกลุ่ม คุยกันได้ทุกสถานที่ เราเห็นว่าตอนนี้ที่เราคุยอยู่มี 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่คุยอยู่นอกประเทศ ได้แก่ บีอาร์เอ็น กลุ่มสอง กลุ่มภายในประเทศ มีความต้องการ มีความเห็นต่างๆ มาคุยกับเรา กลุ่มสาม กลุ่มนักรบ หรือกลุ่มปฏิบัติการโดยตรง มีปัญหาอะไรก็มาคุยที่ศูนย์สานใจสู่สันติ เราคุยตลอดเวลา ส่วนกลุ่มอื่นนอกจากนี้ ถ้าเขาสมัครใจที่จะคุย ก็มาคุย จะรวมกลุ่มมาคุยกับบีอาร์เอ็นก็ได้ หรือจะแยกกลุ่มมาก็ได้ เราก็คุย”
เป็นการส่งสัญญาณล่าสุดจากตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทย ส่วนทิศทางของกระบวนการสันติภาพจะเป็นอย่างไร ยังต้องตามลุ้นกันต่อเนื่อง...เหมือนเคย!