คณะผู้จัดงานพาเหรดฉลองเทศกาลฮารีรายออิดิ้ลอัฎฮา ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ออกมาขอโทษ พร้อมยอมรับความผิดพลาดกรณีจัดแต่งกายคอสเพลย์คล้ายกลุ่มติดอาวุธ พร้อมขบวนแห่อาวุธสงครามประดิษฐ์ เข้าร่วมกิจกรรม อ้างมุ่งหวังเพียงสร้างความรื่นเริง ไม่ได้มีเจตนาให้เกิดภาพลักษณ์เชิงลบต่อพื้นที่
ความคืบหน้ากรณีชุมชนและเยาวชนในพื้นที่ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส สวมเครื่องแต่งกายคอสเพลย์คล้ายคลึงกับกลุ่มติดอาวุธ พร้อมนำสิ่งประดิษฐ์คล้ายอาวุธปืนสงคราม ทั้งเอ็ม 16 อาร์พีจี เข้าร่วมขบวนแห่ ช่วงเทศกาลฮารีรายออีดิ้ลอัฎฮา หรือการเฉลิมฉลองให้กับพี่น้องมุสลิมทั่วโลกที่ไปแสวงบุญประกอบพิธีฮัจย์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 12 ก.ค.65 ที่ผ่านมา จนเกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการตอกย้ำภาพความรุนแรง การทำให้มุสลิมถูกมองในแง่ลบ และเกิดภาวะทางสังคมที่หวาดกลัวมุสลิมนั้น
ล่าสุด นายซัมรี เจ๊ะแม โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดคอยรียะห์ บ้านสุแฆ หมู่ 3 ต.ดุซงญอ ออกมาชี้แจงว่า ในห้วงเทศกาลฮารีรายออิดิ้ลอัฎฮา ในพื้นที่หมู่ 3 บ้านดุซงญอ จะมีการทำกิจกรรมขบวนพาเหรดเพื่อสร้างความรื่นเริง เฉลิมฉลองในเทศกาล โดยปีนี้เป็นการจัดขึ้นครั้งที่ 15
สำหรับรูปแบบของกิจกรรมจะมีการจัดขบวนพาเหรด แบ่งทีมเป็น 3 สี คือ สีแดง สีฟ้า และสีม่วง ซึ่งแต่ละสีจะไปออกแบบและจัดหาอุปกรณ์การจัดขบวนพาเหรดเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับทีมของตนเอง เพื่อส่งเข้าประกวด ทั้งนี้ยอมรับว่าภาพของขบวนพาเหรดทีมสีแดงที่ปรากฎทางสื่อ เป็นภาพลักษณ์ที่ดูไม่เหมาะสม ทำให้บุคคลภายนอกมองไปในทางลบ ทั้งที่โต๊ะอิหม่ามในฐานะผู้จัดงาน และสมาชิกในหมู่บ้านทุกคนมีความมุ่งหวังที่จะจัดงานนี้ขึ้นเพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับคนในพื้นที่ โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดทัศนคติด้านลบแต่อย่างใด ดังนั้นทางคณะผู้จัดงานต้องขออภัยทุกท่านมา ณ โอกาสนี้
ด้าน นายมาหามะ เจ๊ะมะ ผู้ที่เป็นสมาชิกทีมสีแดง และเป็นผู้ประดิษฐ์อาวุธปืนมาใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการแต่งกาย กล่าวว่า เจตนาของตนคืออยากให้ชาวบ้านมีความสุขกับการรับชมขบวนพาเหรดของทีมสีแดง เพราะมองว่าการประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อร่วมกิจกรรมนี้ หากไม่มีความแตกต่างจากสีอื่นก็จะไม่ได้รับความสนใจจากชาวบ้าน จึงคิดประดิษฐ์ปืนเหล่านี้มาใช้ประกอบในขบวนพาเหรด โดยไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดีกับสังคม ส่วนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ขอยอมรับผิดและขออภัยต่อโต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการมัสยิด ชาวบ้าน และทุกๆ คน
@@ กระแสโซเชียลฯผวาพฤติกรรมเลียนแบบ
ขณะที่มุมมองอีกด้านในโซเซียลมีเดีย หลายคนเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงค่านิยมของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อกลุ่มขบวนการที่ใช้ความรุนแรง โดยมีลักษณะยกย่องเชิดชู ซึ่งเมื่อกิจกรรมนี้เผยแพร่ออกไป จะทําให้เกิดพฤติกรรมการเอาเยี่ยงอย่าง และกําหนดพฤติกรรมทางสังคมโดยรวมให้เอนเอียงไปในทางฝ่ายขบวนการมากขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานจากขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อัตลักษณ์มลายูที่เหมือนๆ กัน หากไม่มีการป้องปราม ชี้แจง หรือทําความเข้าใจ คาดว่าในห้วงต่อไปจะมีการจัดกิจกรรมที่คล้ายคลึงกันมากขึ้นต่อไป