ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์ชายฝั่งปัตตานี ผุดไอเดียเพิ่มมูลค่า “ปลาบาซี” ปลาทะเลท้องถิ่นที่พบได้ในอ่าวปัตตานี แปรรูปเป็นอาหารญี่ปุ่น หลังพบเนื้อคล้าย “ปลาโคฮาดะ” ปลาราคาแพงวัตถุดิบในการทำซูชิ
นางลักขณา ละอองศิริวงค์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งปัตตานี พร้อมด้วย นายทศพล พลรัตน์ นักวิชาการประจำศูนย์วิจัยฯ ได้ร่วมกันแถลงผลการวิจัยแปรรูป “ปลาบาซี” เป็นส่วนประกอบในการทำเมนูอาหารญี่ปุ่น
“ปลาบาซี” เป็นชื่อเรียกของปลาท้องถิ่นชนิดหนึ่งในปัตตานี เป็นปลาน้ำเค็ม โดยชื่อที่คนทั่วไปรู้จักคือ “ปลาโคบ” หรือ “ปลามงโกย”
สาเหตุที่คิดนำ “ปลาบาซี” มาแปรรูป เนื่องจากพบว่าเนื้อปลาชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับ “ปลาโคฮาดะ” ของญี่ปุ่นที่มีมูลค่าแพงมาก และยังเป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่นในการนำมาทำซูชิ รับประทานคู่กับวาซาบิ และยังนำไปประกอบอาหารได้อีกหลากหลายเมนู
กระบวนการปรุงก่อนรับประทาน คือนำไปหมักกับมะนาว น้ำตาลทราย และโชยุ ไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง จากนั้นก็เสิร์ฟได้
สำหรับ “ปลาบาซี” หรือ “ปลาโคบ” เป็นปลาเล็ก ขนาดตัวละ 2-3 นิ้ว มักอยู่รวมกันเป็นฝูง เวลาจับได้ก็จะจับได้คราวละมากๆ และมีตลอดทั้งปีในอ่าวปัตตานี เป็นปลาที่มีเนื้อหวาน แต่มีก้างเยอะ ปกติคนในพื้นที่นิยมทอดกรอบเพื่อกินทั้งตัว และมีราคาถูกเพียงกิโลกรัมละ 7-10 บาท
ด้วยราคาที่ไม่สูง ทำให้เชฟอาหารญี่ปุ่นที่เคยไปทำงานในแดนซากุระ และปัจจุบันเป็นผู้จัดการร้านอาหารย่าน จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นเพื่อนกับนักวิชาการศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำชายฝั่งปัตตานี ได้พูดคุยหารือกันเพื่อนำเนื้อ “ปลาบาซี” มาเป็นวัตถุดิบในการทำเมนูอาหารญี่ปุ่นแทนปลาโคฮาดะ จึงเป็นที่มาของไอเดียเพิ่มมูลค่า “ปลาบาซี”
นายทศพล พลรัตน์ นักวิชาการของศูนย์วิจัยฯ พร้อมด้วย ร.อ.ธัญญะ ฉุยโรจน์ธรรม ประมงจังหวัดปัตตานี นายวรุต ชัยกิจ ผู้จัดการบริษัทประชารัฐปัตตานี และเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น “ซูชิคำโตโต” สาขาปัตตานี ที่ตั้งอยู่ริมถนนสายเจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ เมือง จ.ปัตตานี ได้หารือร่วมกัน เพื่อหาช่องทางสนับสนุนให้สามารถผลักดันเป็นอาชีพทางเลือกให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยหาตลาดเพื่อให้จับปลามาขาย และเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น
หลักการคือการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตปลาของชาวประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะการส่งเสริมทางการตลาดควบคู่กัน จะเป็นโอกาสยกระดับรายได้ชาวประมงพื้นบ้านที่สามารถขาย “ปลาบาซี” ในราคาที่สูงขึ้น สร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวประมงพื้นบ้านอย่างยั่นยืน
หลังจากหารือ ร้านอาหารญี่ปุ่น “ซูชิคำโตโต” ยังได้สาธิตเมนู “ปลาบาซี” ที่ผ่านการหมักมาแล้ว 2 ชั่วโมง ให้ได้ลองลิ้มรสชาติกันอย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อปลาเข้าปาก จะได้สัมผัสกับความนุ่มของเนื้อปลา ไม่รู้สึกว่ามีก้าง หรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ทำให้ทุกคนพากันยกมือการันตีถึงความอร่อย
“อร่อยมาก ถ้าส่งเสริมให้ดีๆ จะทำให้ชาวประมงเพิ่มมูลค่าปลาตัวนี้ เราจะมาทำตลาดขึ้นมา มันเป็นสินค้าเกษตรตัวหนึ่งที่เกิดบ้านเรา ต้องลอง อร่อยจริงๆ” นายวรุต กล่าว