เปิดปีเสือมาได้เดือนเศษ ฝ่ายความมั่นคงที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดูจะถูกตั้งคำถามค่อนข้างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ
เพราะเหตุการณ์ร้ายรูปแบบต่างๆ เกิดถี่ขึ้น ทั้งระเบิดคืนส่งท้ายปีเก่าหลายจุดในหลายอำเภอของ จ.ยะลา และระเบิดป่วนตัวเมืองยะลาเกือบ 20 จุดช่วงปลายเดือน ม.ค.
แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ก่อความสูญเสียในแง่ชีวิตและร่างกาย แต่ในแง่ของความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจ ต้องบอกว่าสะเทือนแรง
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเหตุการณ์ปิดล้อม ตรวจค้น และยิงปะทะกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัยที่จบลงด้วยการวิสามัญฆาตกรรมทุกกรณี ซึ่งแม้สุดท้ายผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่มีหมายจับ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์จากคนในพื้นที่และผู้นำศาสนา เพราะกังวลว่าจะเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ แม้ฝ่ายความมั่นคงจะยืนยันว่ามีการปฏิบัติตามขั้นตอน “เบาไปหนัก” และเจรจาเกลี้ยกล่อมก่อนทุกราย แต่ไม่มีใครยอมมอบตัวก็ตาม
ที่สำคัญปีนี้เป็นปีที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุข มีการเปิดโต๊ะพูดคุยอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่ต้นปีกับกลุ่มบีอาร์เอ็น หลังจากหยุดชะงักไปถึง 2 ปีเพราะสถานการณ์โควิด-19
หลายฝ่ายจึงกังวลว่าปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น วิสามัญฯ จะส่งผลฉุดรั้งกระบวนการสันติภาพให้เดินหน้าช้าลงหรือไม่
พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ ในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทีมข่าวอิศรา” ในประเด็นอ่อนไหวนี้
@@ ปิดล้อม วิสามัญฯบ่อยๆ ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ในพื้นที่ค่อนข้างแรง?
ก็แล้วแต่คนจะคิด มันอยู่ที่มุมมองของคน แต่หลักการของเราก็คือ ใครที่ทำผิดกฎหมาย เราต้องบังคับใช้กฎหมาย ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยการไม่กระทำผิดกฎหมาย ก็จะไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย แต่ถ้าใครกระทำผิดกฎหมาย ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ ถ้าจะง่ายมาก ก็เข้ากระบวนการมอบตัว
เราคุยแบบทางลับ จะมอบตัวเลยแล้วเราเอากฎหมายตั้งไว้ก่อนเพื่อหาทางออก...แบบนี้ก็ได้ ถ้าการกระทำผิดกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายความมั่นคง แต่ถ้ากฎหมายอาญา ตีเส้นไม่ได้เลย ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว
@@ กระทบกระบวนการพูดคุยสันติสุขหรือไม่?
เรื่องนี้ก็แล้วแต่มุมมองเช่นกัน ที่สำคัญที่สุดคือถ้ายังไม่มีการกระทำผิดกฎหมาย เราก็จะไม่ไปยุ่ง แต่ถ้าทำผิดกฎหมายเราต้องบังคับใช้กฎหมาย
กระบวนการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นอย่างที่เห็น คือใช้สันติวิธีก่อน ให้โอกาส มอบตัวนะ ให้คนไปคุย ส่วนใครจะไปโจมตีอย่างไร ก็เป็นเรื่องของประเด็นความเห็นต่าง ไม่ว่ากัน
@@ กระแสวิจารณ์ต่างๆ ที่ออกมา จะทำอย่างไร?
วันนี้เราต้องตั้งโต๊ะขึ้นมาเลย ถามภาคประชาสังคมไปเลยว่า กรณีแบบนี้ ที่เราต้องปฏิบัติ ต้องบังคับใช้กฎหมาย จะทำอย่างไร ให้มีทางออกที่ดีที่สุดที่ไม่ให้กระทบกับสังคม ไม่ให้กระทบกับความรู้สึก ตรงนี้เราคุยในวงพูดคุยกันแล้วว่าถ้าไม่กระทำผิดกฎหมาย เราก็ไม่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเขาก็ยอมรับ และคนที่กระทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว ก็ต้องมาพูดคุย
ตอนนี้ต่างฝ่ายก็ต่างปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง อย่างที่บอกว่าเราคุยในเรื่องของการลดเหตุรุนแรง แล้วก็มาตอบกันใน 2 เดือนว่าทำอะไรบ้างที่เป็นรูปประธรรมที่ได้ลดกันไป ถึงจะลดหรือไม่ลดก็แล้วแต่ในของแต่ละฝ่าย แต่ว่าข้อตกลงของการลดเหตุรุนแรง 2 เดือนผ่าน ก็มาบอกกันว่าเราทำอะไรกันบ้าง
ของเรา...เราประกาศแล้ว ลดยาม ด่าน ป้าย ลดกำลัง แล้วก็ปรับกำลังเข้าสู่ภาวะปกติ ตำรวจอยู่ในเมือง พลเรือนอยู่ในหมู่บ้าน ทหารอยู่ในป่า เรื่องนี้เราลดเลย ไม่ต้องให้เขาสั่ง ไม่ต้องให้เขาบอก เราทำของเรา คือจะก่อเหตุหรือไม่เกิดเหตุ เราก็ไม่ห้ามคุณ ถ้าคุณก่อเหตุเราก็จับ แต่ถ้าคุณไม่ก่อเหตุ...ก็สงบ