2 ตัวเต็งนายก อบต.อัยเยอร์เวง ลุยหาเสียงโค้งสุดท้าย ชูนโยบายดันท่องเที่ยวสร้างรายได้ ด้าน กกต.นราธิวาส เพิ่ม 250 หน่วยเลือกตั้ง ลดความแออัดผู้มาใช้สิทธิ์ ป้องกันแพร่ระบาดโควิด ส่วนยะลา – ปัตตานี พบผู้สมัครนายกและสมาชิกสภา อบต.ขาดคุณสมบัติรวม 14 ราย
โค้งสุดท้ายก่อนจะมีการหย่อนบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต. และนายก อบต.) ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.64 บรรยากาศการหาเสียงของบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงคึกคักอย่างยิ่ง
พื้นที่ไฮไลท์ ก็เช่น อบต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวอันสวยงามและโด่งดังอย่าง “สกายวอล์ค ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” มี 2 ตัวเต็งลงชิงชัยเก้าอี้นายก อบต. ได้แก่ หมายเลข 1 นายซอลาฮุดดีน ยาญ่า อดีต สมาชิกสภา อบจ.ยะลา (ส.อบจ.ยะลา) จากทีมเรารักษ์อัยเยอร์เวง และ หมายเลข 2 นายเจ๊ะเฮง มีนา อดีตข้าราชการครู จากทีมอัยเยอร์เวงก้าวหน้า
ในช่วงโค้งสุดท้าย ผู้สมัครทั้ง 2 คนได้นำผู้สนับสนุนขึ้นรถแห่ลุยหาเสียงตลอดทั้งวัน พร้อมเดินขอคะแนนจากชาวบ้าน รวมทั้งเก็บข้อมูลความต้องการของประชาชน เพื่อนำไปแก้ไขปัญหา หากได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปทำงาน
ทั้งสองทีมพร้อมกันใจชูนโยบายด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ต.อัยเยอร์เวง ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “อเมซอน แห่งอาเซียน”
นายอารี หนูชูสุข ปลัด อบต. ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำ อบต.อัยเยอร์เวง กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่มีสิทธิ์ออกเสียงให้ไปใช้สิทธิ์ของตนเองในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.โดยพร้อมเพรียงกัน สำหรับผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณ 21.00 น.
สำหรับ ต.อัยเยอร์เวง มี 11 หมู่บ้าน มี 15 หน่วยเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 8,026 คน มีผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งนายก อบต. 3 คน ได้แก่ หมายเลข 1 นายซอลาฮุดดีน ยาญ่า หมายเลข 2 นายเจ๊ะเฮง มีนา หมายเลข 3 นายอาดือนัน อาแด และมีผู้สมัครสมาชิกสภา อบต.อรก 27 คน
@@ อบต.ยะรม แจกจ่ายหีบเลือกตั้ง
ส่วนความพร้อมในการเลือกตั้ง อบต.ยะรม อ.เบตง ได้มีการแจกจ่ายหีบบัตรเลือกตั้ง คูหา และบัตรเลือกตั้ง ตลอดจนบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รวมทั้งวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ให้กับคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
สำหรับพื้นที่ อบต.ยะรม มี 12 หน่วยเลือกตั้ง เดิมแบ่งให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง มารับอุปกรณ์ในช่วงเช้า 6 หน่วย ช่วงบ่ายอีก 6 หน่วย เพื่อลดความแออัด แต่ก็ต้องยกเลิก เปลี่ยนให้มารับช่วงเช้าทั้ง 12 หน่วย เพราะเกรงว่าช่วงบ่ายในพื้นที่จะเกิดฝนตก ทำให้ไม่สะดวกกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจนับและเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ
ตลอดทั้งกระบวนการ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทั้งการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นายวิโรจน์ จงอุรุดี ปลัด อบต. ยะรม ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำ อบต.ยะรม กล่าวว่า พื้นที่รับผิดชอบของ อบต.มี 8 หมู่บ้าน มี 12 หน่วยเลือกตั้ง มีผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งนายก อบต. จำนวน 4 คน ผู้สมัครสมาชิก อบต.ยะรม จำนวน 26 คน การเตรียมความพร้อมเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขอเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิ์ที่อยู่ในเขต อบต.ยะรม มาใช้สิทธิ์ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. และอย่าลืมนำบัตรประชาชน หรือหลักฐานที่ทางราชการออกให้มาแสดง และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
@@ กกต.นราธิวาส สั่งเพิ่ม 250 หน่วยเลือกตั้งลดแออัด
ส่วนการเตรียมการเลือกตั้ง ส.อบต. และนายก อบต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้มีการแจกจ่ายหีบบัตรเลือกตั้ง คูหา บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ตลอดจนวัสดุ อุปกรณ์ ให้กับคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.64 เช่นกัน
นายเสน่ห์ รักรงค์ ผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ภาพรวมจังหวัดนราธิวาส มี อบต. 72 แห่ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 422,812 คน สิ่งที่เน้นย้ำเป็นพิเศษคือการจัดหน่วยเลือกตั้งในสถานการณ์โควิด-19 ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค โดยเพิ่มจำนวนหน่วยเลือกตั้งอีก 250 หน่วย จากเดิม 610 หน่วย ผู้ใช้สิทธิ์ต่อหน่วย 800 -1,000 คน เพิ่มเป็น 860 หน่วย ผู้ใช้สิทธิ์ต่อหน่วยประมาณ 600 คน เพื่อลดความแออัด
ส่วนในวันเลือกตั้งจะมีเจ้าหน้าที่ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) มาตรวจคัดกรองโควิด ตรวจวัดอุณหภูมิ และเตรียมจุดบริการแอลกอฮอล์ที่บริเวณหน่วยเลือกตั้ง ที่สำคัญเมื่อมีผู้มาใช้สิทธิ์10-15 คน จะมีการทำความสะอาดคูหาลงคะแนน เพื่อสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงจากโรคระบาด
@@ มั่นใจชาวบ้านออกมาใช้สิทธิ์เกิน 80%
ผอ. กกต.นราธิวาส กล่าวอีกว่า เชื่อมั่นว่าประชาชนชาวนราธิวาสจะให้ความสำคัญออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการเลือกตั้ง อบต. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด อยู่ในระดับฐานราก ยึดโยงกับประชาชนโดยตรงทำให้มีความหวงแหนในสิทธิ์ที่จะเลือกตัวแทนของตนเองมาทำหน้าที่ในการบริการและพัฒนาท้องถิ่นต่อไป
@@ ยะลา – ปัตตานี ผู้สมัครขาดคุณสมบัติรวม 14 ราย
ภาพรวมการเลือกตั้งของ จ.ยะลา และปัตตานี มีผู้สมัคร ส.อบต. และ นายก อบต.ที่ขาดคุณสมบัติทั้งหมด 14 คน แยกเป็น จ.ยะลา มีผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติ จำนวน 6 คน เป็นผู้สมัครนายก อบต. 1 คน ผู้สมัครสมาชิกสภา อบต. 5 คน ส่วน จ.ปัตตานี มีผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติ จำนวน 8 คน เป็นผู้สมัคร นายก อบต. 1 คน ผู้สมัครสมาชิกสภา อบต. 7 คน
นอกจากนี้ จ.ปัตตานี มีผู้สมัครที่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 50 ถูกถอนชื่อออกจากบัญชีผู้สมัคร ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบล แต่ละแห่ง ได้ตรวจสอบสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต.และสมาชิก อบต. อีก 17 คนที่มีคุณสมบัติไม่ครบ จึงไม่มีชื่อประกาศในบัญชีรายชื่อผู้สมัครไปก่อนหน้านี้ด้วย
นายประเสริฐ ธรรมเพชร ผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ผู้ที่ถูกถอนชื่อ ส่วนใหญ่คุณลักษณะต้องห้าม คือ เคยต้องโทษยาเสพติด เคยกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน และเข้าข่ายคุณลักษณะต้องห้ามอื่นๆ จึงจำเป็นต้องถูกถอนชื่อออกไป
โดย จ.ปัตตานี ยังพบว่า ผู้สมัคร อบต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ ผู้สมัครนายก อบต. 2 คน ถูกถอดชื่อออกไป เพราะมีลักษณะต้องห้าม และ อบต.ประจัน อ.ยะรัง ที่มีผู้สมัครนายก อบต. 2 คน แต่ถูกถอนชื่อ 1 คน และเสียชีวิต 1 คน จึงต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมหลังการเลือกตั้งในวันที่ 28 พ.ย.นี้
ด้าน ร.ต.อ สมนึก กุลมณี ผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า มีหน่วยเลือกตั้งอบต.ทั้งหมด 47 แห่ง มี 14 แห่ง ที่มีผู้สมัครนายก อบต.เพียงคนเดียว ส่วนนี้ทำให้การแข่งขันไม่ค่อยดุเดือด คือแข่งกับเปอร์เซ็นต์ผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้เกิน 20%