เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงข้าราชการระดับสูงของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. 2 คน โดย 1 ใน 2 คนนี้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน ศอ.บต. ส่วนอีกคนหนึ่งย้ายไปแล้ว และมีข่าวว่า ศอ.บต.ได้มีคำสั่งให้ออกจากราชการ
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบไปยังเจ้าหน้าที่ใน ศอ.บต. ทราบเพียงว่า มีข่าวมาจากทางส่วนกลางว่า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดข้าราชการระดับสูงใน ศอ.บต.จริง โดยมีข่าวตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ต.ค.64 แต่ไม่ทราบรายละเอียด และไม่ทราบความคืบหน้าว่าผู้บริหาร ศอ.บต.ดำเนินการอย่างไรไปแล้วหรือไม่
“ทีมข่าวอิศรา” จึงสอบถามไปยัง นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับการยืนยันว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ศอ.บต. ร่วมกันแสดงบัญชีเบิกค่าใช้จ่ายเงินเป็นเท็จ ในโครงการอบรมเรื่องการให้บริการปฏิบัติงานตรวจพิสูจน์และจัดเก็บข้อมูลแบบบูรณาการด้านนิติวิทยาศาสตร์
ผู้ถูกกล่าวหา คือ พ.ท.นพ.เอนก ยมจินดา อดีตผู้อำนวยการสำนักนิติวิทยาศาสตร์ ศอ.บต. และ น.ส.อุบล ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเยียวยา ศอ.บต. โดยทั้งคู่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเรื่องการให้บริการปฏิบัติงานตรวจพิสูจน์และจัดเก็บข้อมูลแบบบูรณาการด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่ออำนวยความสะดวกของกระทรวงยุติธรรม เป็นการจัดฝึกอบรมจำนวน 14 รุ่น รวมวงเงินกว่า 17 ล้านบาท
ปรากฏว่ามีการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้เข้าอบรมใน จ.สงขลา โดยมีการแสดงบัญชีเบิกจ่ายเงินด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ทั้งค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าเอกสารบรรยาย และค่าวิทยากร
“ที่มีข่าวว่า ศอ.บต.ประกาศลงโทษไล่ออกจากราชการทันที ทาง ป.ป.ช.ยังไม่ทราบ เพราะขณะนี้ยังไม่มีหนังสือจาก ศอ.บต. แจ้งมาทาง ป.ป.ช. จึงถือว่ายังไม่รับทราบใดๆ” เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบเพิ่มเติมไปยังผู้บริหาร ศอ.บต. ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นหลายปีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ พ.ท.นพ.เอนก ยังรับราชการอยู่ที่ ศอ.บต. ข้อกล่าวหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเบิกงบประมาณไปจัดการประชุม แต่ไม่มีการประชุมจริง โดยขณะนั้น น.ส.อุบล เป็นเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเศรษฐกิจ ศอ.บต. จึงมีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องเอกสาร เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อน น.ส.อุบล จะได้รับหน้าที่ ผอ.ศูนย์เยียวยา
เจ้าหน้าที่ใน ศอ.บต.เล่าให้ฟังว่า น.ส.อุบล ทราบมติ ป.ป.ช.แล้ว และเครียดมาก ทั้งยังรู้สึกอับอายกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเป็นคนยะลาด้วย ทำให้ยิ่งเครียด
“ทีมข่าวอิศรา” พยายามโทรศัพท์ติดต่อ น.ส.อุบล แต่เจ้าตัวไม่รับสาย
สำหรับ พ.ท.นพ.เอนก เคยรับราชการที่ ศอ.บต. ก่อนจะรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ต่อจาก พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ เมื่อปี 2556 เนื่องจากคณะรัฐมนตรีไม่ต่ออายุให้ พญ.คุณหญิง พรทิพย์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์อีก 1 ปี หลังจากต่ออายุมาแล้ว 1 ปี
โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นหน่วยงานที่มีปัญหาความขัดแย้งภายในมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง และผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมพยายามแก้ไขปัญหามาตลอด
ต่อมาในปี 2557 หลังการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้ไม่นาน ที่ประชุม คสช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2557 แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงกระทรวงยุติธรรม ให้มีการสับเปลี่ยนตำแหน่งของ พ.ท.นพ.เอนก ยมจินดา ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไปปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม และให้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ไปปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แทน โดยให้เหตุผลเกี่ยวับการพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ และแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง น.ส.อุบล และ พ.ท.นพ.เอนก นั้น น่าจะยังมีขั้นตอนให้อุทธรณ์ผ่านหน่วยงานต้นสังกัดขณะเกิดเรื่อง คือ ศอ.บต.ได้อีกขั้นตอนหนึ่ง หรือ ศอ.บต.อาจมีคำสั่งตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” จะตรวจสอบความคืบหน้ามารายงานให้ทราบต่อไป
อนึ่ง ข้าราชการหรืออดีตข้าราชการที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เป็นไปตามขั้นตอนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.เท่านั้น หากยังมีช่องทางอุทธรณ์ผ่านหน่วยงานต้นสังกัดได้ หรือความผิดมีโทษทางอาญาด้วย ก็ยังสามารถต่อสู้โต้แย้งข้อกล่าวหาได้ตามช่องทางที่กฎหมายกำหนด ยังไม่ถือว่ามีความผิดในขณะนี้